ลองเปลี่ยนทัศนคติ

ลองเปลี่ยนทัศนคติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ อินไซด์ต่างประเทศ

วิจักขณ์ ชิตรัตน์

ความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านประเทศหนึ่งดูจะไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่สหรัฐและรัสเซียเผชิญหน้ากันอยู่ในช่วงนี้ คือเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องกล้ำกลืน ฝืนทน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เพราะความสัมพันธ์ที่ดีนั้นย่อมดีแก่ทั้งสองฝ่ายในทุกๆ ด้าน

จงอย่าได้เอาปัญหาใดปัญหาหนึ่งขึ้นมาบดบังทุกเรื่องที่ดีๆ กันอยู่

หากคิดกันอย่างดั้งเดิม (conventional wisdom) แล้ว รัสเซียจะมองว่าคู่แข่งบารมีของตนในโลกคือสหรัฐและจีนเท่านั้น

หลังจากล่มสลายลงไปชั่วคราว ฐานะของรัสเซียในวันนี้ผงาดขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อปัญหาพลังงานโลกรุนแรงขึ้น เพราะทั้งแหล่งพลังงาน และเส้นทางการขนส่งอยู่ในกำมือ

นายปูตินนั้นเมื่อหมดวาระของการเป็นประธานาธิบดีลงก็ลดระดับลงมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับเป็นนายกฯ ที่มีอำนาจมากกว่านายกฯ สมัยใดๆ ทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้ว่าในการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในไม่กี่วันนี้นี้ นายโอบามาต้องพบทั้งประธานาธิบดีรัสเซีย และนายปูตินที่เป็นนายกฯ

ความสัมพันธ์สหรัฐ-รัสเซียนั้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ 1) ระดับที่ง่ายแก่การปฏิบัติ เช่น เรื่องที่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน 2) เรื่องที่อ่อนไหวต่อความสัมพันธ์ และยังหาทางตกลงกันไม่ได้ เช่น กรณีของการบุกจอร์เจียโดยฝ่ายรัสเซีย ฯลฯ และ 3) ความคิดของรัสเซียที่เริ่มเห็นชัดว่าตนเองสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทรกอยู่ระหว่างยุโรปและสหรัฐได้อีกครั้งหนึ่ง

ระดับที่หนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่จัดการได้ง่ายสุด ส่วนระดับที่สองนั้นยุ่งยากหน่อยกับสหรัฐ เพราะในอดีตเมื่อไม่นานมานี้ อดีตประธานาธิบดีบุชได้ไปลงนามกับยูเครนและจอร์เจียยืนยันว่าสหรัฐเป็น หุ้นส่วน กับทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดไปยังรัสเซีย เพราะนายปูตินนิยมการรวมกลุ่ม และความแข็งแกร่งของรัสเซียเช่นในอดีตมากกว่า

ส่วนระดับที่สามนั้นจัดเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยุ่งยากที่สุดเพราะมีตัวแปรเยอะมาก

ในวันนี้การรวมกลุ่มระดับภูมิภาคมีมากมาย และดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อนก็หันเข้าไปซบกับกลุ่มภูมิภาคที่แข็งแกร่งเช่นสหภาพยุโรป ดังนั้น สิ่งที่นายปูตินต้องการก็คือการกลับมารวมกลุ่มกันใหม่เพื่อให้ตนเป็นมหาอำนาจที่เด่นชัดเช่นในอดีต ไม่ใช่ต้องการเป็น soft power เช่นยุโรป ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่านายปูตินที่แค้นเคืองที่อดีตสหภาพโซเวียตล่มสลาย ดังนั้น การปฏิบัติทางทหารต่อจอร์เจีย ฯลฯ จึงเป็นเรื่องปกติในสายตาของนายปูติน

ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุย ก็เพียงเพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับสิ่งที่ใกล้ตัวเราว่า การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐนั้นมีอยู่หลายมิติ และหลายระดับ การดำเนินการใดๆ ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ สุขุม และไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง รวมทั้งต้องไม่มีการ ส่งสัญญาณผิด ไปยังอีกฝ่ายด้วย เพราะมีแต่จะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น

คีย์เวิร์ดในวันนี้คือ conventional wisdom แปลว่า หากเปลี่ยนทัศนคติเสียบ้าง เราอาจจะแก้ปัญหายากๆ ได้ง่ายขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook