ผลสำรวจเอสเอ็มอีไทยชี้รัฐไม่ช่วยมองโลกแง่ดีรับวิกฤติ-กังวลต้นทุนพุ่ง-ขาดแหล่งเงินทุน

ผลสำรวจเอสเอ็มอีไทยชี้รัฐไม่ช่วยมองโลกแง่ดีรับวิกฤติ-กังวลต้นทุนพุ่ง-ขาดแหล่งเงินทุน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ยูพีเอส เอบีเอ็มสำรวจเอสเอ็มอีไทยยังกำลังใจดี มองข้ามช็อตประคองตัวสู้วิกฤติพร้อมเตรียมกลยุทธ์รอเศรษฐกิจฟื้นตัว กังวลต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขาดแหล่งเงินทุน ระบุรัฐบาลไม่ช่วยเหลืออย่างจริงจังทำให้เป็นอุปสรรคในการเพิ่มขีดแข่งขัน นายเกรกอรี่ คาร์สเตนส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูพีเอส ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจยูพีเอส เอบีเอ็ม ประจำปี 2552 พบว่าแม้จะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย และเกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการไทยยังมีกำลังใจที่ดีในการประกอบธุรกิจ สะท้อนจากแบบสำรวจที่ตอบว่า เอสเอ็มอี ไทยจำนวนไม่น้อยยังคาดหวังว่าธุรกิจของตนสามารถเติบโตขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าส่วนใหญ่จะเห็นว่าธุรกิจของตนจะไม่เติบโตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม เอสเอ็มอี ไทยมีมุมมองเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในเชิงลบกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนในเรื่องจ้างงานนั้น ผู้ประกอบการไทยมีเพียง 11% ที่วางแผนจะลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจ ยกเว้นจีนและเกาหลี ขณะที่มีถึง 9% ที่มีแผนจะเพิ่มจำนวนพนักงานในปีนี้ ขณะที่การรับมือกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เอสเอ็มอี ไทย 79% จำเป็นต้องบริหารกระแสเงินสดอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยต้องเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการให้สินเชื่อและการเก็บเงิน ขณะที่ 58% จะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ผลการสำรวจยังเปิดเผยว่า เอสเอ็มอี ในไทยและเอเชียไม่เพียงมองหาหนทางเพื่อความอยู่รอดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ยังมองไกลไปกว่านั้นคือ วางแผนกลยุทธ์เตรียมไว้รอรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สิ่งที่ เอสเอ็มอี มีความกังวลมากที่สุดในการดำเนินธุรกิจในปีนี้คือ การรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย การรับมือกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น และการบริหารกระแสเงินสดและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น โดยต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือในช่วงเวลาวิกฤติ และส่งเสริมให้ เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ เอสเอ็มอี ไทย 81% ยังให้ความเห็นว่าการขาดความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นหลักสามประการที่ เอสเอ็มอี ไทยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคือ ด้านการวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงระบบและกฎระเบียบทางราชการที่ล่าช้า และการช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเงินกู้ จากการสำรวจในปีนี้ เห็นได้ว่าเอสเอ็มไทยรับรู้และเล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการบริหารซัพพลายเชนในการสนับสนุนธุรกิจกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น แม้ว่า เอสเอ็มอี ไทยยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักปฏิบัติด้านซัพพลายเชนมากนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและแข่งขันได้ เราจึงเชื่อมั่นว่า เอสเอ็มอี ไทยจะหันมาใช้ระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพกันมากขึ้น นายคาร์สเตนส์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ตั้งทีมแก้ปัญหาสภาพคล่องเอสเอ็มอีส.อ.ท.-บสย.คาดเซ็นเอ็มโอยูก.ค.นี้ อภิปรายพรก.กู้เงิน(6)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook