มธ.ชี้รบ.กู้เงินเดิมพันสูง บางโครงการไม่คุ้ม ธ.โลกแนะรื้ออี-ออคชั่น จ่ายเงินช่วยเกษตรกรโดยตรง

มธ.ชี้รบ.กู้เงินเดิมพันสูง บางโครงการไม่คุ้ม ธ.โลกแนะรื้ออี-ออคชั่น จ่ายเงินช่วยเกษตรกรโดยตรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มธ.คาดปี 2560 หนี้ต่อหัวพุ่ง 1.12 แสนต่อคน ชี้รบ.กู้เงินลงทุนเดิมพันสูง บางโครงการตามแผนไทยเข้มแข็งไม่คุ้มค่า ธ.โลกแนะรื้ออี-ออคชั่น เสนอจ่ายเงินช่วยเกษตรกรยากจนโดยตรง ชี้ประกัน-รับจำนำเงินไม่ถึงเกษตรกร มธ.คาดปีฒ60 หนี้ต่อหัวพุ่ง1.1แสน

นายสกนธ์ วรัญญวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวของกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล (policy watch) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ในหัวข้อ หนี้สาธารณะกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า ความเหมาะสมของขนาดงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจควรพิจารณาจากหนี้สาธารณะ แม้ว่าขณะนี้หนี้สาธารณะยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 50% แต่คาดว่าจะสูงเกิน 60% ภายในปี 2555 และจะเพิ่มสูงสุดในปี 2556 และจะเริ่มลดลงหลังจากนั้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศต้องไม่ต่ำกว่า 4% รวมทั้งเศรษฐกิจโลกต้องฟื้นด้วย เพราะเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออก โดยการส่งออกต้องขยายตัวมากกว่า 10-20% จึงจะสามารถลดหนี้สาธารณะให้กลับมาต่ำกว่า 50% ได้

ทั้งนี้ แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเริ่มลดลง แต่สัดส่วนของหนี้ต่อหัวจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าภายในปี 2560 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.12 แสนบาทต่อคน จากที่ปีนี้หนี้ต่อหัวของประชาชนอยู่ที่ 5.6 หมื่นบาทต่อคน สิ่งที่ต้องจับตาในการกู้ยืมเงินของรัฐบาลครั้งนี้ คือต้องดูความสามารถในการบริหารหนี้สาธารณะว่าจะเป็นอย่างไร ปริมาณหนี้ที่สูงขึ้นสร้างแรงกดดันการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ต้องใช้ในการบริหารหนี้คงค้าง รัฐบาลต้องรัดกุมในการใช้จ่ายในอนาคต นายสกนธ์ กล่าว

ชี้รัฐบาลกู้เงินลงทุนเดิมพันสูง

นายสกนธ์ กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล ถือว่ามีผลที่ดีต่อทางเศรษฐกิจ แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีการจัดระดับความสำคัญของโครงการที่ชัดเจนพอ บางโครงการยังไม่มีความคุ้มค่าที่จะทำ ไม่สามารถมองเห็นประโยชน์ที่จะได้เพียงพอ รวมทั้งบางโครงการยังไม่สามารถเข้าถึงท้องถิ่นได้ หากสามารถดึงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมจะดำเนินนโยบายได้มีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานท้องถิ่นจะเข้าถึงพื้นที่ได้มากกว่ารัฐบาล

การลงทุนของรัฐบาลครั้งนี้ถือว่าเป็นการเดิมพันค่อนข้างสูง เพราะว่ารัฐบาลยอมขาดวินัยทางการเงินการคลังในการเพิ่มหนี้สาธารณะ แต่จะได้ผลที่น่าพอใจหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกว่าจะฟื้นตัวได้เพียงใด เพราะเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก รวมทั้งการลงทุนของรัฐบาลต่างๆ ที่พยายามผลักดันออกมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชนให้ลงทุนตามก็ต้องดูว่าเอกชนจะลงทุนตามหรือไม่ นายสกนธ์กล่าว

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้เงินของรัฐบาลอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองให้เกิดเสถียรภาพมากที่สุด เพราะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของเอกชน หากภาคเอกชนยังไม่เชื่อมั่นทางการเมืองจะลังเลและชะลอการลงทุน ควรตั้งคณะกรรมการมาเปิดเผยข้อมูลและสร้างความชัดเจนให้แก่ประชาชนถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลด้วย

ธ.โลกแนะไทยเลิกวิธีอี-ออคชั่น

วันเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลประชุมระหว่งประเทศไทยกับธนาคารโลกภายใต้หัวข้อ แผนไทยเข้มแข็ง ว่า ที่ประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้มาตรการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งธนาคารโลกให้คำแนะนำภาครัฐว่า ควรเร่งรัดให้มีระเบียบแนวทางที่ลดข้อจำกัดของเอกชนที่จะเข้าร่วมงาน และให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลและขับเคลื่อนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ซึ่งธนาคารโลกจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานดังกล่าว รวมทั้งศึกษาและกำหนดเครื่องมือทางการเงิน การบริหารความเสี่ยงและภาระผูกพันโครงการนำร่องให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการพีพีพีต่อไป

ธนาคารโลกชี้ว่า เราต้องทบทวนวิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอี-ออคชั่น เพราะอี-ออคชั่นของไทยต่างจากทุกประเทศในโลกมาก เราใช้ระบบอี-ออคชั่นจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทุกประเภท ขณะที่ประเทศอื่นใช้เฉพาะจัดซื้อครุภัณฑ์ ทำให้มีอุปสรรคล่าช้า งานกองกันเป็นคอขวด อีกทั้งไม่ได้ลดการรั่วไหลของเม็ดเงินและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ แม้จะใช้ระบบอินเตอร์ทเน็ตเมื่อถึงเวลาประมูลก็ยังมีช่องทางให้เกิดการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล จึงแนะนำให้ใช้วิธีอื่น ซึ่งกรมบัญชีกลางก็อยู่ระหว่างแก้ไข คาดปลายเดือนกรกฎาคม จะเสนอวิธีแก้ไขได้ทั้งหมด นายกรณ์ กล่าว

เร่งตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากประสบการณ์การเบิกจ่ายงบฯทุกปีพบว่า เงื่อนไข ขั้นตอนการเบิกจ่ายมีข้อบกพร่อง เห็นได้ชัดกรณีการเบิกจ่ายงบฯลงทุนในปีนี้ที่จนถึงขณะนี้ยังเบิกจ่ายล่าช้า ไม่สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบตลาดโดยเร็ว

นายกรณ์ กล่าวว่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาว ธนาคารโลกเสนอจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีสะอาด โดยจะให้เงินกู้ผ่อนปรนกับโครงการที่ลงทุนเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการลงทุนต่อไป ส่วนแนวคิดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ การจัดตั้งกองทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งธนาคารโลกและหน่วยงานการเงินระหว่างประเทศจะนำความรู้ และประสบการณ์มาช่วยเหลือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อออกแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนระหว่างไทยกับจีน เพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากจีนผ่านไทยไปมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศลงทุนร่วมกัน

นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการอี-ออคชั่นไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับโครงการที่สลับซับซ้อนเช่น โครงการที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐาน ธนาคารโลกจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยไทยปรับปรุงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย เพื่อให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก

เวิลด์แบงก์แนะจ่ายเกษตรกรโดยตรง

นายลักษณ์ วจนานวัช รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับธนาคารโลกถึงแนวทางการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร และการประกันราคาสินค้าเกษตรกรแบบใหม่ที่รัฐบาลจะเริ่มนำร่องประกันราคาสินค้าข้าวเปลือกหอมมะิ 8 จังหวัดภาคอีสาน จำนวน 2 แสนตันในเดือนกรกฎาคมนี้ว่า ธนาคารโลกมองว่า หากรัฐบาลยังประกันราคาสูงกว่าราคาตลาดก็ยังคงเป็นปัญหาบิดเบือนกลไกลตลาดและนำไปสู่ปัญหาเหมือนที่ผ่านมา

ดังนั้น ธนาคารโลกจึงแนะนำให้รัฐบาลใช้วิธีจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ยากจนหรือมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานโดยตรง ทำให้ผลประโยชน์ตกกับเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากที่ผ่านมา การรับจำนำนั้นเงินถึงมือเกษตรกรเพียง 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่สามารถระบุได้ว่าหล่นหายไปไหน นายลักษณ์ กล่าวและว่า นายกรณ์ค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ติดที่การดำเนินการต้องมีฐานข้อมูลชัดเจนว่าเกษตรกรกลุ่มใดเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ ธนาคารโลกจึงเสนอจะเข้ามาช่วยศึกษาและสร้างระบบฐานข้อมูลของเกษตรกร จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ระหว่างนี้ก็เดินหน้าระบบประกันราคาไปก่อน โดยเร็วๆ นี้จะเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาราคาขั้นต่ำในการรับประกันข้าวหอมมะลิโครงการนำร่อง เบื้องต้นคงต้องมีราคาสูงกว่าราคาตลาดเพื่อจูงใจให้เกษตรกรร่วมโครงการ

ธ.ก.ส.เล็งบังคับลูกค้าทำประกันภัยพืช

ในอนาคตหากมีระบบประกันมาแทนการจำนำ ก็จะให้การจำนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งในงานปกติของ ธ.ก.ส.โดยจะกำหนดราคารับจำนำเพียง 80% ของราคาตลาดเท่านั้น มีส่วนต่าง 20% เพื่อครอบคลุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส.กรณีเกษตรกรไม่มาไถ่ถอน ส่วนการจ่ายเงินอุดหนุนให้เกษตรกรยากจนนั้น ธ.ก.ส.เห็นด้วย แต่ต้องแบ่งกลุ่มให้ชัดเจน แม้จะมีกลุ่มเกษตรกรเข้าข่ายจำนวนมาก จากลูกค้าของธนาคารเองที่มีประมาณ 6 ล้านคน รัฐบาลก็จะใช้เงินอุดหนุนต่อปีน้อยกว่าเงินที่เสียไปจากการรับจำนำสินค้าเกษตรกรเหมือนที่ผ่านมา นายลักษณ์กล่าว

นายลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนการประกันภัยพืชผลที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการมากว่า 3 ปี ในส่วนของข้าวโพดและเพิ่งเริ่มเรื่องข้าวนั้น ธนาคารโลกมองว่ายังมีเกษตรกรเข้าโครงการน้อย ประมาณ 750 ราย ทำให้เบี้ยประกันหรือค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับสูง ขณะที่เงินที่จ่ายชดเชยอยู่ระดับต่ำ เช่นที่ผ่านมา มีการจ่ายเงินชดเชยเพียงไร่ละ 800 บาท แต่เกษตรกรมีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 1,000-2,500 บาท ต่อไปอาจกำหนดให้เกษตรกรที่กู้เงินจาก ธ.ก.ส.ต้องเข้าสู่ระบบประกันภัยด้วย เพื่อให้เบี้ยประกันถูกลง และจ่ายเงินชดเชยได้สูงขึ้นหรือจะเสนอให้ดึงเงินที่กระทรวงเกษตรจ่ายชดเชยให้เกษตรกรกว่า 7 แสนรายปีละ 4 พันล้านบาท มาเข้าโครงการประกันภัยพืชผล เพื่อในอนาคตจะขยายไปสู่การประกันภัยอ้อย มันสำปะหลัง และขยายไปสู่ภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมด้วย นอกเหนือจากภัยแล้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook