เวิลด์แบงก์แนะจ่ายตรงเกษตรกร-กันเงินหาย เบรกรัฐบาลประกันราคาสินค้าเวอร์

เวิลด์แบงก์แนะจ่ายตรงเกษตรกร-กันเงินหาย เบรกรัฐบาลประกันราคาสินค้าเวอร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายลักษณ์ วจนานวัช รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับธนาคารโลก หรือ

เวิลด์แบงก์ ที่จ.ภูเก็ต ถึงแนวทางการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรและการประกันราคาสินค้าเกษตรกรแบบใหม่ที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินโครงการนำร่องในส่วนของการประกันราคาสินค้าข้าวเปลือกหอมมะลิใน 8 จังหวัดภาคอีสานจำนวน 2 แสนตันที่จะเริ่มดำนินการในเดือนก.ค.นี้ว่า ธนาคารโลกมองว่าการประกันราคาสินค้าเกษตร หากรัฐบาลยังประกันราคาสูงกว่าราคาตลาดก็ยังคงเป็นปัญหาในการบิดเบือนกลไกราคาตลาดและนำไปสู่ปัญหาเหมือนที่ผ่านมา

ดังนั้นธนาคารโลกจึงแนะนำให้รัฐบาลใช้วิธีจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ยากจนหรือมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดโดยตรง เหมือนกับที่หลายประเทศดำเนินการ จะทำให้ผลประโยชน์ตกกับเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากที่ผ่านมาการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะมาตรการรับจำนำเงินอาจถึงมือเกษตรกรจริงเพียง 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่สามารถระบุว่าตกหล่นหายไปไหน อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ค่อนข้างเห็นด้วย แต่ติดที่การดำเนินการต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนว่าเกษตรกรกลุ่มใดเข้าข่ายต้องได้รับความช่วยเหลือ ทางธนาคารโลกจึงเสนอตัวเข้ามาช่วยศึกษาและสร้างระบบฐานข้อมูลของเกษตรกร ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ระหว่างนี้ก็เดินหน้าระบบประกันราคาที่กำลังจะดำเนินการไปก่อน โดยเร็วๆ นี้น่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)พิจารณาตัดสินราคาขั้นต่ำในการรับประกันต่อไป และเบื้องต้นคงต้องมีราคาสูงกว่าราคาตลาดและราคารับจำนำเพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

ในอนาคตหากมีระบบประกันราคามาแทนการรับจำนำสินค้าเกษตรกร จะทำให้การรับจำนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานปกติของธ.ก.ส.โดยจะกำหนดราคารับจำนำเพียง 80% ของราคาตลาดเท่านั้น เพื่อให้มีส่วนต่างอีก 20% ครอบคลุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธ.ก.ส.กรณีเกษตรกรไม่มาไถ่ถอน ส่วนการจ่ายเงินอุดหนุนให้เกษตรกรยากจนนั้น ธ.ก.ส.เห็นด้วย แต่ต้องแบ่งกลุ่มให้ชัดเจน โดยมองว่าแม้จะมีกลุ่มเกษตรกรเข้าข่ายจำนวนมากจากลูกค้าของธนาคารเองที่มีประมาณ 6 ล้านคน รัฐบาลก็จะใช้เงินอุดหนุนต่อปีน้อยกว่าเงินที่เสียไปจากการรับจำสินค้าเกษตรกรเหมือนช่วงที่ผ่านมา นายลักษณ์ กล่าว

ส่วนการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่ธ.ก.ส.ดำเนินการมากว่า 3 ปี ในส่วนของข้าวโพดและเพิ่งเริ่มในส่วนของข้าวนั้น ธนาคารโลกมองว่ายังมีจำนวนเกษตรกรเข้าโครงการน้อยประมาณ 750 ราย ทำให้เบี้ยประกันหรือค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับสูง ขณะที่เงินที่จ่ายชดเชยอยู่ในระดับต่ำ เช่นที่ผ่านมามีการจ่ายเงินชดเชยเพียงไร่ละ 800 บาท แต่เกษตรกรมีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 1-2.5 พันบาท วิธีการแก้ไขต่อไปจึงอาจกำหนดให้เกษตรกรที่กู้เงินจากธ.ก.ส.ต้องเข้าสู่ระบบประกันภัยด้วย เพื่อให้เบี้ยประกันถูกลงและจ่ายเงินชดเชยได้สูงขึ้นในอนาคต หรือจะเสนอให้ดึงเงินที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จ่ายชดเชยให้เกษตรกรกว่า 7 แสนราย ปีละ 4 พันล้านบาทมาเข้าโครงการประกันภัยพืชผล เพื่อในอนาคตจะขยายไปสู่การประกันภัยอ้อย มันสำปะหลัง และขยายไปสู่ภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมนอกเหนือจากภัยแล้งด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook