ทุบทิ้ง-สร้างใหม่ตึกศาลฎีกา บดบังทัศนียภาพ สนามหลวง / รับเหมาวิ่งฝุ่นตลบ ชิงเค้ก 3,000 ล้าน

ทุบทิ้ง-สร้างใหม่ตึกศาลฎีกา บดบังทัศนียภาพ สนามหลวง / รับเหมาวิ่งฝุ่นตลบ ชิงเค้ก 3,000 ล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ได้ฤกษ์ทุบอาคารศาลฎีกา สนามหลวง ค่า 3,000 ล้าน เหตุ เก่าทรุดโทรม คับแคบ ชูสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ไทย สูงเท่าเดิมดีเดย์เปิดซองประมูล 6 สิงหาคมนี้ ยักษ์รับเหมา อาทิ ช.การช่าง -อิตาเลียนไทย ฯลฯ วิ่งฝุ่นตลบ

แหล่งข่าวจาก สำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ สำนักฯมีแผนก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ มูลค่า กว่า 3,000 ล้านบาท บนที่ดินเดิม เนื้อที่ประมาณ กว่า 5 ไร่ บริเวณ ถนนราชดำเนิน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องก่อสร้างใหม่เนื่องจากสภาพโครงสร้างอาคารทรุดโทรม มีอายุการใช้งานมานานหลายสิบปี และ อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงแข็งแรง อีกทั้ง สถานที่ใช้งานคับแคบเป็นอาคารสูงเพียง 2 ชั้นขณะที่ ปริมาณพนักงาน และผู้ที่ติดต่องานกับศาลฎีกา แต่ละวันมีจำนวนมาก

ดังนั้นจึงวางแผนก่อสร้างอาคารหลังใหม่มีความสูงเท่ากับอาคารเดิม โดยออกแบบให้มีชั้นใต้ดิน 1 ชั้นครึ่ง และ มีดาดฟ้า ซึ่งยืนยันว่าไม่บดบังทัศนียภาพ โดยเน้นสถาปัตยกรรมให้มีความเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ ผสมผสานกับความร่วมสมัย อย่างไรก็ดี ได้มีผู้รับเหมาสนใจซื้อแบบก่อสร้างอาคารจำนวน 6 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ๆ อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) ฯลฯ โดยกำหนดให้ผู้รับเหมาชี้แจงแบบวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 ยื่นซองประกวดราคา วันที่ 3 สิงหาคม 2552 และ เปิดซองวันที่ 6 สิงหาคม 2552

ด้านแหล่งข่าวในวงการก่อสร้างเปิดเผยว่า การสร้างอาคารแห่งนี้ถือว่ายากลำบากมากเพราะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้าง เพราะอยู่ใกล้สถานที่สำคัญ ไม่ว่าพระบรมมหาราชวัง

วัดพระแก้ว ศาลหลักเมือง โบราณสถาน และสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง อาจได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังต้องเจาะฐานรากลงใต้ดิน ซึ่งบริษัทรับเหมาที่จะมารับงานนี้ต้องเป็นบริษัทที่มีความชำนาญและประสบการณ์สูง บริษัทเล็ก ๆ คงทำงานลำบาก

อย่างไรก็ดีการสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่นั้นเคยมีแนวคิดที่จะดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 ด้วยงบประมาณ 1,700 ล้านบาท ในขณะนั้น หลังจากได้มอบหมาย คณะสถาปัตยกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังเป็นหัวหน้าทีมในการออกแบบ แต่ติดปัญหาบางประการทำให้โครงการต้องชะงัก และที่ผ่านมาใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท ในการซ่อมแซมโดยตลอด แต่ก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม

โดยเฉพาะสาธารณูปโภคในอาคาร ระบบประปา ไฟฟ้ามีปัญหาในการใช้งานมาก ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อีกต่อไป อีกทั้งอาคารแห่งนี้ยังไม่มีเสาเข็ม แต่ใช้ท่อนซุงแทน อาคารอาจยุบลงมาเมื่อไรก็ได้ เพราะเป็นอาคารเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2503 รวมอายุร่วม 50 ปี และขณะนี้ได้เริ่มทยอยให้พนักงานบางส่วน จากจำนวน 500 คนออกไปยังศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะบ้างแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook