แย้มต่อมาตรการอีก5เดือน-กลางก.ค.นี้รู้ผล กรณ์จ่อทุ่ม1.2หมื่นล้านอุ้มชาวบ้าน

แย้มต่อมาตรการอีก5เดือน-กลางก.ค.นี้รู้ผล กรณ์จ่อทุ่ม1.2หมื่นล้านอุ้มชาวบ้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีข้อเสียของ 5 มาตรการ 6 เดือนช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะครบกำหนดในสิ้นเดือนก.ค. ว่าสมควรที่จะขยายเวลาต่อไปหรือไม่ มีเงื่อนไขว่าจะขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือนถึงสิ้นปีงบประมาณ 52 หรือขยายเวลาออกไปอีก 5 เดือนเพื่อให้ถึงสิ้นปี52 โดยจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการลดภาระให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องดูผลกระทบต่องบประมาณด้วย คาดว่าภายในกลางเดือนนี้จะมีข้อสรุป

ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบต่างๆ ว่า หากยกเลิกทั้งหมด ผลกระทบกับประชาชนจะเป็นอย่างไร หรือขยายเวลาต่อไปทั้งหมด ผลจะเป็นอย่างไร หรือยกเลิกบางมาตรการ อะไรที่ควรจะอยู่ต่อหรือจะยกเลิกไป และหากจะขยายออกไปควรจะเป็น 2 เดือน เพื่อให้อยู่ในงบประมาณ 52 หรือหากจะขยายไปถึงสิ้นปี ก็ต้องดูว่าภาระงบประมาณส่วนนี้จะมาจากไหน เพราะไม่ได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ในงบ 53 นายกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ ภาระของรัฐบาลหากขยายเวลามาตรการช่วยค่าครองชีพออกไปจนถึงสิ้นปีจะเป็นภาระต่องบประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีจะเริ่มดีทำให้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต่อปากท้องของประชาชนน่าจะลดลง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สคร. อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน หากจะขยายเวลา 5 มาตรการออกไปอีกกี่เดือนขึ้นกับงบประมาณกลางปีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาว่า ที่เหลือจากการจัดสรรให้แต่ละหน่วยงานแล้วเหลืองบกลางปีจำนวนเท่าใด และสามารถรองรับการขยายเวลามาตรการออกไปได้กี่เดือน ซึ่งต้องรอการจัดสรรงบกลางปีให้เสร็จก่อน

สำหรับ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่ผ่านมาประกอบด้วย 1.มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน ช่วยสำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยและผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำระหว่าง 0-30 ลูกบาศก์เมตร/เดือน ซึ่งเป็นปริมาณการใช้ที่ตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของกลุ่มประชาชนผู้ใช้น้ำที่รับบริการจากการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน ช่วยครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/ เดือน 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถประจำทางของ ขสมก. ประเภทรถโดยสารธรรมดาที่ให้บริการในเขตกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล จำนวน 800 คันใน 73 เส้นทาง 4.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวน และรถไฟชั้น 3 เชิงพาณิชย์ จำนวน 8 ขบวน และ 5.ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook