โตโยต้าสบช่องใช้ IPR ยึดตลาด ไฮบริดลุยจดสิทธิบัตรพรีอุส 2 พันรายการ

โตโยต้าสบช่องใช้ IPR ยึดตลาด ไฮบริดลุยจดสิทธิบัตรพรีอุส 2 พันรายการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นโยบายรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารประเทศโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการพึ่งพาน้ำมันนำเข้า โดยมีเป้าหมายให้ภายในปี 2559 ชาวอเมริกันจะใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน เป็นเครื่องยนต์ใช้น้ำมันไม่เกิน 35.5 ไมล์ต่อแกลลอน หรือเท่ากับ 15 กิโลเมตรต่อลิตร กำลังสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายเดินเกียร์เร่งเครื่องผลิตเทคโนโลยียานยนต์สำหรับอนาคต โดยเฉพาะในรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ใช้ไฟฟ้า

รายงานข่าวจากเดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ในฐานะหัวแถวผู้พัฒนารถยนต์ลูกผสมใช้น้ำมันและไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เป็นค่ายแรกที่แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะยึดหัวหาดตลาดรถยนต์ไฮบริดให้ได้ หลังจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐถูกนำมาปฏิบัติใช้

นอกจากการเป็นผู้มาก่อนในเรื่องเทคโนโลยีแล้ว โตโยต้ายังพยายามจะเป็นผู้เหนือกว่าในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย

โดยสิ่งที่โตโยต้ากำลังทำในเวลานี้ นอกจากใช้กฎใหม่ขยายตลาดรถยนต์ไฮบริดแล้ว บริษัทยังมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากสิทธิในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ด้วยการขายใบอนุญาต (ไลเซนส์) ใช้เทคโนโลยีระบบไฮบริดกับผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่นๆ ในส่วนที่โตโยต้าได้จดสิทธิบัตรไว้แล้ว

รอยเตอร์ระบุว่า นับตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อโตโยต้าเริ่มจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีระบบไฮบริดและส่วนประกอบต่างๆ จากจุดเริ่มต้นบริษัทจดสิทธิบัตร 300 รายการในรถยนต์โตโยต้า พรีอุส รุ่นแรก เพิ่มเป็น 370 รายการในพรีอุสรุ่นที่ 2 กระทั่งล่าสุดในโตโยต้า พรีอุสรุ่นที่ 3 บริษัทได้จดสิทธิบัตรระบบและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 2,000 รายการ

ขณะที่บ็อบ คาร์เตอร์ รองประธานบริษัทโตโยต้าในอเมริกาเหนือ กล่าวกับสื่อมวลชนในระหว่างการแถลงข่าวในงานดีทรอยต์ ออโต้โชว์ เมื่อเดือนมกราคมว่า คู่แข่งของบริษัทไม่ว่าจะเป็น ฟอร์ด ฮอนด้า และจีเอ็มต่างคิดว่าพวกเขาจะแก้ทางโตโยต้าด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฮบริดของตนเองขึ้นมา แต่ผมว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นและดูจะไม่ฉลาดนักด้วยซ้ำ

จัสติน โบล์ว นักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจากกริฟฟิธ แฮคก์ พาเทนต์ แอนด์ เทรด มาร์ค แอทโทนีย์ ในออสเตรเลีย ให้ข้อมูลด้วยว่า โตโยต้าจดสิทธิบัตรในรถยนต์ไฮบริด 2,100 รายการ ซึ่งเกือบจะเป็น 2 เท่าของรายการสิทธิบัตรที่ฮอนด้า บริษัทคู่แข่งทำไว้

อย่างไรก็ตาม แม้โตโยต้าจะไม่ใช่บริษัทที่จะมีเรื่องฟ้องร้องหรือดำเนินคดีมากนัก แต่บริษัทก็ปฏิเสธจะระบุว่า ได้ว่าจ้างทนายความสำหรับดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรและฟ้องร้องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไว้จำนวนเท่าไร อีกทั้งโตโยต้ายังหลีกเลี่ยงที่จะเปิดเผยว่า ในแต่ละปีบริษัทได้รับรายได้จากการขายไลเซนส์สิทธิบัตรเป็นเงินเท่าไร ซึ่งทำให้มีข้อสังเกตว่า การขายไลเซนส์หรือการอนุญาตให้บริษัทใช้เทคโนโลยีร่วมกันได้นั้น อาจไม่ได้แลกเปลี่ยนกันเป็นรูปของเงินสดด้วยซ้ำ

ในเรื่องนี้ เดอะ วอลล์สตรีตฯ ตั้งข้อสังเกตว่า โตโยต้ามียุทธศาสตร์สร้างรายได้จากเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้น แต่การทำงานผลิตระบบไฮบริดในช่วงเริ่มต้นนั้นอาจไม่ได้มีเป้าหมายสร้างรายได้มากเท่ากับเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตรถยนต์ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องหลักในเวลานั้นมากกว่า

ทั้งนี้ โกลบอล อินไซต์ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2558 ความต้องการรถยนต์ไฮบริดในสหรัฐอเมริกาน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5-11% เพิ่มขึ้นจากระดับที่ทำไว้เมื่อปี 2550 ซึ่งมีสัดส่วนในตลาดรถยนต์ 2%

ตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงดึงดูดให้ผู้ผลิตต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์และรถยนต์จากค่ายตนดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ปัจจุบันการแข่งขันนำเสนอรถยนต์ไฮบริดออกสู่ตลาดทั่วโลกเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องนี้โฆษกบริษัทฮอนด้าระบุว่า แม้การผลิตรถยนต์ไฮบริดของฮอนด้าจะมีเหตุสร้างคดีความกับเทคโนโลยีไฮบริดของโตโยต้า แต่บริษัทจะให้ความใส่ใจในประเด็นนี้ ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้สามารถใช้ระบบไฮบริดในรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้

ทั้งนี้ ข้อมูลตากสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมระบุว่า การใช้พลังงานของเครื่องยนต์โตโยต้า พรีอุส รุ่นใหม่ล่าสุดอยู่ที่ 51 ไมล์ต่อแกลลอนในการใช้งานในเมือง และ 48 ไมล์ต่อแกลลอนบนถนนไฮเวย์ ขณะที่รถยนต์ไฮบริด อินไซต์ จากฮอนด้าใช้น้ำมันในการวิ่งในเมือง 40 ไมล์ต่อแกลลอน และวิ่งบนไฮเวย์ 43 ไมล์ต่อแกลลอน

ส่วนค่ายรถอื่นๆ ได้เร่งพัฒนารถยนต์แห่งอนาคตซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสามารถผลิตในระดับแมสได้มากขึ้น เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นและมีความผันผวนมากขึ้น

นิสสันเลือกทุ่มเงินไปกับการพัฒนาและผลิตรถยนต์ใช้ไฟฟ้าเพื่อตลาดแมส ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในตลาดภายในปีหน้า ส่วนฟอร์ดแม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีไฮบริดของตนเอง แต่บริษัทก็ยอมรับจ่ายเงินเพื่อใช้เทคโนโลยีไฮบริดร่วมกับโตโยต้า ซึ่งฟอร์ดให้เหตุผลว่า เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายต่างๆ

ความตื่นตัวของผู้ผลิตรถยนต์ในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีร่วมกันสำหรับพัฒนารถยนต์ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกำลังเป็นกระแสที่มาแรง และนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ยังระบุด้วยว่า การพัฒนาด้านนี้น่าจะบรรลุผลก่อนที่เส้นตายของฝ่ายรัฐจะมีผลเสียด้วยซ้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook