เลิกเหล้าเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ

เลิกเหล้าเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สุขภาพดี ครอบครัวเป็ยสุข ลดปัญหาสังคม

อันสุราแปลว่า เหล้า กินแล้วต้องเมาหัวราน้ำ ใครกินเหล้าแล้วไม่เมาก็เสียชาติเกิด นี่เป็นคำพูดที่หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินได้ฟังจนชินหูจากเพื่อนพ้องและคนคุ้นเคย เรียกง่าย ๆ ว่าจากปากพวกขี้เมาหรือคอทองแดงทั้งหลายนั่นแหละ

ไม่ว่าได้ยินได้ฟังกันอย่างไร ? หลาย ๆ คนคงไม่อยากสนใจเท่าใดนัก เพราะคำขวัญหรือสุภาษิตในวงเหล้าข้างต้นนั้น มีพูดกันเฉพาะกลุ่มขี้เมา ไม่เห็นเกี่ยวข้องอะไรด้วย ก็ขอสะกิดให้คิดกันรอบคอบสักหน่อยว่า สุรา หรือ เหล้า นี่แหละเป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแตกแยก อุบัติเหตุตาย-เจ็บ และคดีอาชญากรรม การทะเลาะวิวาทล้วนเป็นผลจาก สุรา หรือ เหล้า เกือบทั้งสิ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย พบว่า ในปี 2550 คนไทยประมาณ 10.3 ล้านคน นิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และมีปริมาณถึง 3.3 ล้านคน ที่ดื่มทุกวันหรือเกือบทุกวัน เฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนมีอัตราการดื่มเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2539 ถึงจำนวน 70% แสดงให้เห็นว่าหากรัฐบาลหรือภาครัฐไม่สนใจกวดขันจริงจัง ในอนาคตจะมีคนรุ่นใหม่กลายเป็น นักดื่ม หรือขี้เมา หน้าใหม่ทวีจำนวนมากขึ้น

ผลของการดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคชนิด ต่าง ๆ มากกว่า 60 ชนิด โดยในปี 2549 พบผู้ป่วยจากการดื่มแอลกอฮอล์ถึง 3 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นผู้ชายประมาณ 2.6 ล้านคน

ที่น่าเป็นห่วงคือการดื่มแอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำจังหวัด 297 แห่ง ในปี 2550 พบว่ามีเด็ก สตรี และคนชรา ที่ถูกกระทำทารุณเข้ารับบริการจำนวน 19,068 ราย

สถิติคดีอาญาของกองวิจัยและวางแผน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างปี 2547-2551 มีหญิงสาวแจ้งความดำเนินคดีทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนหญิงระบุว่าร้อยละ 70-80 ของผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์ มักใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กด้วยการทุบตี ทำร้ายร่างกายและด่าว่าทำร้ายจิตใจ

เนื่องในโอกาส วันเข้าพรรษา ประจำปี 2552 ซึ่งตรงกับวันที่ 8 ก.ค. 2552 รัฐบาลและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของการ ลด-ละ-เลิกดื่มสุรา จึงร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ งดเหล้าเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ โดยมอบหมายให้ นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน และรัฐบาลยังมอบคำขวัญงดเหล้าเข้าพรรษาประจำปีนี้ว่า เลิกเหล้าเข้าพรรษา พาครอบครัวเป็นสุข

นายมานิต กล่าวว่า เพื่อเป็นการปลูกฝังค่านิยมการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กและเยาว ชน พร้อมรณรงค์ให้เยาวชนเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองเลิกเหล้าช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการลดปริมาณการดื่มให้น้อยลง จะเป็นการลดความรุนแรง ลดการทะเลาะวิวาทในครอบครัว ในปีนี้ประชาคมงดเหล้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะรณรงค์เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ เพื่อสร้างความสุขให้เพิ่มขึ้นในครอบครัว

ด้าน นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การรณรงค์ในช่วงเทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการในระดับที่น่าพอใจ โดยการเก็บข้อมูลจากการสำรวจของศูนย์วิจัยเอแบคโพล ตั้งแต่ปี 2547-2551 พบว่า มีผู้ร่วมโครงการร้อยละ 56 โดยมีผู้ของดเหล้าตลอด 3 เดือนร้อยละ 32 ซึ่งสูงกว่าก่อนการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และจากผลสำรวจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2544 พบว่าผู้สนใจร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเพียงร้อยละ 11.8 เท่านั้น

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การงดเหล้าดีขึ้นคือ คนในครอบครัว ทั้งลูก ภรรยา และพ่อแม่ มีส่วนสำคัญในการชักจูงให้คนหันมาเลิกเหล้าได้ถึง 38% ด้วยเหตุนี้ในการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จึงเน้นไปที่ครอบครัวเป็นสำคัญ โดยการให้ลูกชวนพ่อแม่ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น นพ.อุดมศิลป์ กล่าว

นอกจากนีครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมกันทำโครงการนำร่อง ในโรงเรียนทั้งหมด 3,100 แห่ง แนะนำให้เด็กนักเรียนเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง และญาติพี่น้องเลิกเหล้า ตลอดจนสนับสนุนชุมชนเพื่อร่วมกับนักเรียนรณรงค์เลิกเหล้าจำนวน 50 โครงการ และมีการจัดค่าย ครอบครัวเลิกเหล้า จำนวน 80 ครอบครัวจาก 4 ภาคทั่วประเทศ และยังส่งเสริมให้วัดเป็นศูนย์กลางการเลิกเหล้า 171 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องการเลิกเหล้ารวมทั้งตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเลิกเหล้าที่หมายเลข 0-2379-1020 สามารถพูดคุยได้ทุกวันระหว่างเวลา 08.00-16.00 น.

ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ปรึกษาปัญหาเลิกเหล้า มีผู้โทรศัพท์มาขอคำแนะนำทั้งสิ้น 7,034 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบร้อยละ 53 กลุ่มผู้ดื่มร้อยละ 32 กลุ่มผู้ที่ต้องการบำบัดร้อยละ 12 และกลุ่มผู้ต้องการเป็นอาสาสมัครทำงานรณรงค์ร้อยละ 3

ในจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราของบุคคลอื่น สามารถจำแนกได้เป็นกลุ่มดังต่อไปนี้ ภรรยาร้อยละ 49 ญาติ/พี่น้องร้อยละ 12 บุตรร้อยละ 16 เพื่อน/คนรู้จักร้อยละ 6 และอื่น ๆ (สามี, แม่, นายจ้าง) ร้อยละ 5 โดยในกลุ่มบุตรอยู่ในอันดับที่ 3 ของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งจากการติดตามประเมินผลผู้ที่โทรศัพท์มาปรึกษาพบว่าร้อยละ 80 ที่พ่อดื่มเหล้า ร้อยละ 15 แม่ดื่มเหล้า และร้อยละ 5 ที่พ่อและแม่ดื่มเหล้า เป็นสาเหตุสำคัญให้ลูก ๆ โทรฯมาขอคำแนะนำ โดยร้อยละ 70 เป็นห่วงสุขภาพ กลัวพ่อแม่มีอายุสั้น ร้อยละ 20 รู้สึกเครียดที่พ่อแม่ดื่มเหล้าแล้วทะเลาะวิวาท ทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 10 รู้สึกเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมของพ่อแม่ที่ยังดื่มเหล้าอยู่ ทั้งที่เคยสัญญาจะเลิกดื่มแล้วแต่ทำไม่ได้ เป็นต้น

ในส่วนการดำเนินการของโครงการ ก่อนหน้านี้ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ เข้าพรรษา...วันงดดื่มสุราแห่งชาติปี 2552 ภายใต้แนวคิด พรรษานี้...ลูกชวนพ่อแม่เลิกเหล้า ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยมีตัวแทนเยาวชนจากโครงการเยาวชนคนพอเพียงรู้เท่าทันน้ำเมา และตัวแทนศิลปินจากค่ายเพลงดัง ตลอดจนดารานักแสดง พิธีกรรายการโทรทัศน์ เข้าขอบคุณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนเลิกเหล้าเข้าพรรษา พร้อมเชิญชวนให้คณะรัฐมนตรีนำร่องงดดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน

เครือข่ายเยาวชนฯ แสดงความจำนงขอให้คณะรัฐมนตรีทุกคนเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชน เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติหรือตลอดเข้าพรรษา 3 เดือน พร้อมเรียนเชิญ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำหน้าที่พรีเซ็นเตอร์ร่วมรณรงค์โครงการนี้อย่างคึกคักด้วย

ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ กล่าวว่า การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ คือจุดเริ่มต้นในการสร้างนิมิตหมายที่ดีกับสังคมและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน เด็ก หลายรัฐบาลมาแล้วเราร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์ องค์กรงดเหล้า พยายามผลักดันมายาวนาน แต่เพิ่งมาสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ ต้องขอขอบพระคุณมาก ๆ

พวกเราดีใจอย่างที่สุด ผู้ใหญ่สร้างกติกาที่ถูกต้องและดีงามให้สังคมและหวังว่าในอนาคตนายกรัฐมนตรีจะมีนโยบายที่ดี ๆ ออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง โดยเด็ก ๆ และเยาวชนจะขอเป็นฝ่ายสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ตลอดไป ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมปัญหาการเปิดร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา การขายเหล้าในหอพัก และร้านเหล้าปั่นที่ดัดแปลงขายให้เด็ก เยาวชน นักเรียนและนักศึกษา ซึ่งมีสีสันสวยงาม ดื่มแล้วเมาไม่รู้ตัว

โดยแนะนำมาตรการดังนี้

1. ควบคุมร้านเหล้าปั่นและการขายเหล้าปั่น โดยเฉพาะร้านใกล้สถานศึกษาและหอพัก สมควรประกาศเกฎกระทรวง

2. คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเป็นเจ้าภาพในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีการหารือและร่วมกำหนดกรอบการปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อย่ามัวปัดความรับผิดชอบให้กันและกัน

3. เครือข่ายเยาวชนฯ ยินดีให้ข้อมูลและพร้อมนำผู้แทน คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงตรวจสอบในพื้นที่ ทุกเวลา

ด้านตัวแทนเยาวชนคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า หนูเป็นคนหนึ่งที่ขอให้พ่อแม่เลิกดื่มเหล้าได้สำเร็จ เพราะเหล้า เบียร์ บุหรี่ มีแต่ทำลายสุขภาพ หนูอยากให้ครอบครัวอบอุ่น อยากให้พ่อแม่อยู่ด้วยกันนาน ๆ ทุกวันนี้หนูมีความสุขมาก จึงขอเชิญชวนนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และทุกคนช่วยกันรณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติปี 2552 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในครอบครัวและส่งผลให้สังคมมีความสุขมากขึ้น

หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเชื่อว่า งดเหล้าเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติฯ จะเดินหน้าไปด้วยดี สามารถลดปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้มากยิ่งขึ้นแน่นอน.

''หมู่บ้านปลอดภัยเหล้า'' ชาวพุทธร่วมใจ

ภายหลังรัฐบาลมีโครง การณรงค์เลิกเหล้าเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติประจำปี 2552 ทางจังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ตาม โครงการ อุบลสร้างสุขพ้นทุกข์จากเหล้า โดยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ประชาชนลด ละ เลิกดื่มเหล้า อย่างถาวร

หมู่บ้านโนนมะเขือ เป็นหมู่บ้านนำร่องแห่งหนึ่งในจังหวัด ได้รับความร่วมมือจาก พระครูสุภกิจมงคล เจ้าอาวาสวัดโนนมะเขือ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ มีการรณรงค์ให้เห็นโทษและพิษร้ายของสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง จนเป็นผลให้ชาวบ้านเลิกดื่มเหล้าได้ในที่สุด ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านปลอดเหล้า 100%

อาตมาเริ่มต้นจากขอบิณฑบาตญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดโนนมะเขือ ให้พื้นที่ของวัดเป็นเขตปลอดเหล้า ใช้วิธีการพูดเชิญชวนและแสดงเหตุผล ขอความร่วมมือทุกเทศกาลงานบุญไม่ว่าจะเป็นงานทอดผ้าป้า ทอดกฐิน งานบวช งานศพ การแต่งงาน อาศัยแนวร่วมทั้งผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ คอยให้การสนับสนุน หลายครอบครัวเคยมีปัญหา หลังเลิกดื่มเหล้าแล้วปัญหาลดน้อยลง มีสุขภาพดี ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามลำดับ ที่สำคัญรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินเหลือเก็บมากกว่าเดิม พระครูสุภกิจมงคลกล่าว

อย่างไรก็ตามจากข้อมูล สสส. พบว่ามี 120 หมู่บ้านทั่วประเทศที่สามารถงดเหล้าได้สำเร็จ และมี 6 หมู่บ้าน ปลอดเหล้าอย่างถาวร ไม่มีการซื้อ-ขาย หรือดื่มกิน ประกอบด้วย 1. บ้านถ้ำไทรทอง ต.นาตาล อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ 2. บ้านโนนมะเขือ ต.กาบิน อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี 3. หมู่บ้านโนนดอกแก้ว หมู่ 8 ต.กาบิน อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี 4. หมู่บ้านแก่งเหนือ หมู่ 1 ต.แก่งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี 5. หมู่บ้านแก่งเหนือ หมู่ 2 ต.แก่งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี และ 6. หมู่บ้านคำม่วง หมู่ 3 ต.แก่งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี.

ทีมข่าวเฉพาะกิจ : รายงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook