พุทธปรัชญาสมานรอยร้าวสังคม

พุทธปรัชญาสมานรอยร้าวสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ข้อเสนอของพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวย การสถาบันวิมุตตยาลัย ที่มีต่อสื่อสารมวลชน เมื่อครั้งรับนิมนต์ไปปาฐกถาธรรมเรื่อง บทบาทสื่อกับความแตกแยกทางความคิดในสังคม เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ร่วมรับฟังจะมีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน ว่า เป็นปาฐกถาธรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง เราจึงขออนุญาตสรุปเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อให้บังเกิดผลทางปฏิบัติในโอกาสต่อไป

โดย พระมหาวุฒิชัย เห็นว่า สื่อต้องก้าวออกจาก ความเชื่อมาอยู่กับความจริง มีวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือเรียนรู้ที่จะมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง สิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เป็นผู้ยึดโยงอยู่กับอุดมคติอันดีงาม เชื่อมั่นศรัทธาในฐานข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ขายตัว ไม่ขายศักดิ์ศรี เป็นวิญญูชน รักษาจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ยึดหลัก ต่อบุคคลด้วยเมตตา ต่อปัญหาด้วยปัญญา มีเครือข่ายกัลยาณมิตรสามารถตรวจสอบ ท้วงติงวิพากษ์วิจารณ์ตนเองได้อย่างบริสุทธิ์ใจ และต้องเจริญสติเสมอ ไม่อหังการ ทะนงตนเป็นฐานันดรที่สี่ ที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น เนื่องเพราะสื่อคือ ผู้เฝ้าคอยสดับเสียงแห่งความทุกข์ยาก เสียงแห่งความอยุติธรรมของประชาชน เสียงแห่งความฉ้อฉลในยศ ทรัพย์ อำนาจของผู้นำรัฐแล้วนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาสังคมที่อุดมสันติสุขร่วมกัน

ขณะเดียวกัน สื่อ ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องจะไม่ พลัดหลงอยู่ในความคิดแบบสุดโต่งได้ด้วยการยึดหลักกาลามสูตร คือ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตาม ๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าปลงใจเชื่อ เพราะสอดคล้องกับทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเห็นรูปการณ์ว่าน่าจะเป็นไปได้ และอย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์นักวิชาการใหญ่

อีกทั้งควรละทิ้งอคติ 4 (ฉันทาคติ โทสาคติ โมหา คติ และภยาคติ) ตระหนี่ 5 (ใจแคบเพราะหวงแผ่นดินถิ่นที่ ใจแคบเพราะหวงตระกูลวงศ์พงศ์เผ่า ใจแคบเพราะหวงผลประโยชน์ ใจแคบเพราะหวงชนชั้นวรรณะ/สีผิว ใจแคบเพราะหวงภูมิปัญญา วิทยาการ) ยึดมั่นในธรรมาธิปไตย กล่าวคือ ถือความจริง ความถูกต้องเป็นสำคัญ เหล่านี้ คือ พุทธปรัชญาที่พวกเราทุกคนควรถือมั่น เป็นแนวทางดำเนินชีวิตและปฏิบัติงานวิชาชีพตนเอง ไม่เฉพาะสื่อสารมวลชนยังรวมถึงนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน องค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป เพื่อคืนความสุข สงบ สันติ ให้สังคมไทยได้หลุดพ้นบ่วงความคิดแบบสุดโต่ง แยกขั้ว เลือกข้าง ตัดตอน เฉกเช่นวันนี้.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook