สิงคโปร์ห้าม 10 สถาบันการเงินขายหุ้นกู้อนุพันธ์

สิงคโปร์ห้าม 10 สถาบันการเงินขายหุ้นกู้อนุพันธ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ธนาคารกลางสิงคโปร์ห้ามสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่จำนวนหนึ่งของประเทศขายหุ้นกู้อนุพันธ์ (structured notes) หลังขายหุ้นกู้ที่เกี่ยวโยงกับเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์มูลค่า 367 ล้านดอลลาร์อย่างไม่เหมาะสม

แถลงการณ์ของธนาคารกลางระบุว่า ธนาคารและโบรกเกอร์ 10 แห่งจะไม่สามารถขายหุ้นกู้อนุพันธ์ได้ โดยมีกำหนดตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี ซึ่งสถาบันที่อยู่ในข่ายนี้รวมถึงดีบีเอส กรุ๊ป ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ บริษัทหลักทรัพย์ของโอซีบีซี ตลอดจนบริษัทโบรกเกอร์ เช่น ซีไอเอ็มบี และกิมเอ็ง

ธนาคารกลางสิงคโปร์ ชี้ว่า สถาบันการเงินบางแห่งกำหนดเรตติ้งความเสี่ยงที่ไม่สอดคล้องกับคำเตือนที่ระบุในหนังสือชี้ชวนซื้อหุ้นกู้ ขณะที่พนักงานขายได้รับการฝึกอบรมไม่ดีพอ

การล่มสลายของเลห์แมนฯ เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา นำไปสู่การผิดนัดชำระเงินปันผลของหุ้นกู้บางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 5-7 ปี พร้อมผลตอบแทนราว 5% ทั้งนี้มีนักลงทุนราว 10,000 รายซื้อหุ้นกู้มูลค่ารวม 520 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 367 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสถาบันการเงินมอบเงินชดเชยให้แก่นักลงทุนราว 4,000 รายไปแล้ว นอกจากในสิงคโปร์แล้ว ยังมีการขายหุ้นกู้อนุพันธ์คล้ายคลึงกันในฮ่องกง ไต้หวัน และอินโดนีเซียด้วย

สำหรับสถาบันการเงิน 10 แห่งที่ถูกสั่งห้ามไม่ได้ขายหุ้นกู้อนุพันธ์ ได้แก่ ดีบีเอส กรุ๊ป ยูโอบี เคย์เฮียน โอซีบีซี เซคเคียวริตี้ เอบีเอ็น แอมโร สาขาสิงคโปร์ เมย์แบงก์ สิงคโปร์ ซีไอเอ็มบี-จีเค เซคเคียวริตี้ ฮ่องเหลียง ไฟแนนซ์ ดีเอ็มจี แอนด์ พาร์ทเนอร์ส ฟิลิปป์ เซคเคียวริตี้ และกิมเอ็ง เซคเคียวริตี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook