อาลัยประเสริฐ นาสกุล ย้อนดูคำวินิฉัยคดีประวัติศาสตร์ซุกหุ้น

อาลัยประเสริฐ นาสกุล ย้อนดูคำวินิฉัยคดีประวัติศาสตร์ซุกหุ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ย้อนดู คำวินิจฉัยของ นายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เสียงส่วนน้อยในคดีซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สุดยอดตุลาการที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ความเห็นแก่ตัว ของอดีตผู้นำ อย่างตรงไปตรงมา แฉตัวตน ทักษิณก็เหมือนนักธุรกิจทั่วๆ ไปในระบอบทุนนิยม ไม่ได้คิดใหม่ ทำใหม่ แต่อย่างใด ตีแสกหน้า การแก้ปัญหาบ้านเมือง ใช้เงินทองอย่างเดียวไม่ได้ เผย ตอนหนึ่งของคำพิพากษา อ้างข่าว ประชาชาติธุรกิจ กรณีการใช้ข้อมูลภายในหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจ

ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2552ว่า นายประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถึงแก่อนิจกรรม ภายหลังเข้ารับการผ่าตัดโรคหัวใจและติดเชื้อ ด้วยวัย 78 ปี โดยจะมีพิธีรดน้ำศพ ในเวลา 17.00 น. ณ ศาลา 12 วัดธาตุทอง วันเดียวกันนี้ และสวดพระอภิธรรมศพ เป็นเวลา 5 วัน

นาย ประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2474 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนที่ 2 ของประเทศไทย โดยบทบาทสำคัญของนายประเสริฐ คือเป็นผู้ที่วินิจฉัยความผิดในคดีซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น 1 ในจาก 7 เสียงส่วนน้อย ที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.มีความผิดในคดีซุกหุ้น 1 เมื่อ พ.ศ.2544

คำวินิจฉัยของนายประเสริฐ ได้รับการยอมรับจากวงการนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ว่า เป็นคำวินิจฉัยที่ดีที่สุดของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนอกจากจะวางหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว ยังสอดแทรกแนวคิดในเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และที่สำคัญที่สุดคือ จริยธรรมและคุณธรรมของผู้นำ

กล่าวกันว่า ในคดีซุกหุ้นเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหากคดีนี้ คะแนนไม่ออกมา 8 ต่อ 7 บ้านเมืองอาจเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน อาจไม่มี 8 ปีของระบอบทักษิณ และอาจไม่มีความขัดแย้งในสังคม หากเสียงตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่พลิกในชั่วข้ามคืน

แหล่งข่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า หากเสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้หนึ่ง ไม่พลิกในชั่วข้ามคืน ผลของคดีอาจออกมาแตกต่าง หลังจากผ่านไป 8 ปี ยังไม่มีใครกล้าเปิดเผยชื่อ ตุลาการผู้เปลี่ยนธงคำวินิจฉัยอย่างมีปริศนา แต่ตุลาการชุดดังกล่าวต่างรู้ดีว่า ใครเปลี่ยนใจกระทันหัน

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า หลังคดีซุกหุ้น นายประเสริฐ ไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อใดๆ อีกเลย และเก็บตัวเงียบ ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ ประกอบกับมีปัญหาด้าสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ในคำวินิจฉัยส่วนตัวของนายประเสริฐ ตอนหนึ่งได้มีการอ้างอิงข่าวจากประชาชาติธุรกิจ ว่า การเอาประโยชน์โดยใช้ ผู้ใกล้ชิดให้มีจำนวนเพียงพอที่จะก่อตั้งบริษัท แล้วโอนลอยหุ้น การใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน การปล่อยเงินกู้เฉพาะแก่คนรู้จัก การโอนถ่ายกำไรระหว่างบริษัท การใช้ข้อมูลภายในของบริษัท และกลุ่มบริษัทเพื่อ ขยายกิจการ และการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม (มีการบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ การปล่อยข่าวลือ การอำพราง การใช้ข้อมูลภายใน - ดูรายละเอียดผู้ถูกคณะกรรมการ ก.ล.ต. ปรับ และจำนวนเงินค่าปรับ กรณีการใช้ข้อมูลภายในได้จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจประจำวันจันทร์ที่ ๒๙ - วันพุธที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔)

ประชาชาติธุรกิจขอนำบางตอนของคำวินิจฉัยของนายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๒๐/๒๕๔๔ วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ ลงมานำเสนอท่านผู้อ่าน ดังนี้

... การพัฒนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยลอกเลียนความรู้จากกฎหมายของต่างประเทศในระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ใช้สติและปัญญานำเอาวิธีปฏิบัติที่ดี และเหมาะสม ตลอดจนวิธีการป้องกันการเอาเปรียบ การเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ มาใช้ด้วย ประกอบกับการเอาความสะดวกสบายโดยไม่รู้จักคิด ปล่อย หรือยอมให้ผู้อื่นคิดแทน โดยไม่มีการพิจารณาว่า ระบบดังกล่าวสอดคล้องกับศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยหรือไม่

เพราะผู้นำเข้ามุ่งแต่การมีระเบียบแบบแผน กฎหมาย และหวังในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขาดประสบการณ์ ไม่ทราบ หรือคาดคิดมาก่อนว่า ความรู้ที่นำมานั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเตรียมการป้องกันไว้ด้วย เช่น การประกอบธุรกิจแบบครอบครัวได้พัฒนาเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทเอกชน บริษัทมหาชน และกลุ่มบริษัท โดยมีตลาดหลักทรัพย์ ฯ เป็นแหล่งระดมเงินทุน และต่อไปจะมีตลาดกลางสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่มีผู้คิดหาช่องทางต่าง ๆ ของกฎหมาย เช่น การค้าเสรีเปิดโอกาสให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอา โดยใช้ความได้เปรียบในฐานะทางเศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่ และการศึกษา การเอาประโยชน์โดยใช้ ผู้ใกล้ชิดให้มีจำนวนเพียงพอที่จะก่อตั้งบริษัท แล้วโอนลอยหุ้น การใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน การปล่อยเงินกู้เฉพาะแก่คนรู้จัก การโอนถ่ายกำไรระหว่างบริษัท การใช้ข้อมูลภายในของบริษัท และกลุ่มบริษัทเพื่อ ขยายกิจการ และการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม (มีการบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ การปล่อยข่าวลือ การอำพราง การใช้ข้อมูลภายใน - ดูรายละเอียดผู้ถูกคณะกรรมการ ก.ล.ต. ปรับ และจำนวนเงินค่าปรับ กรณีการใช้ข้อมูลภายในได้จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจประจำวันจันทร์ที่ ๒๙ - วันพุธที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔)

ผู้ถูกร้องจะทราบความจริงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจ และชัดถ้อย ชัดคำว่า การที่ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ จนมีบริษัทในเครือและทรัพย์สินมากมาย โอนลอยหุ้น และใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน นั้น เป็นการประกอบธุรกิจตามปกติธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทำกันอย่างนั้น

ทั้ง ๆ ที่การทำธุรกิจในระบบนายทุนของต่างประเทศเป็นการกระทำมุ่งแสวงหากำไร เป็นความโลภ และความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องอ้างว่า เลิกกระทำธุรกิจหันมาทำงานการเมืองแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ และมอบการบริหารธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้แก่คู่สมรส (ในกรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๐ (๒)) บุตร และเครือญาติ ดำเนินการต่อไป (แทนที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๐๙ โอนหุ้นให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การให้ทรัสต์จัดการทรัพย์สิน ในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา - ซึ่งเป็นความคิดก้าวหน้าสำหรับประเทศไทย) และ

ผู้ถูกร้องเข้าใจผิดว่า จำนวนประชาชนที่ออกเสียงเลือกผู้ถูกร้องในการเลือกตั้งทั่วไป เพราะผู้ถูกร้องเสนอ โครงการต่าง ๆ เป็นที่ถูกใจได้นั้น มากมายมหาศาล แต่จำนวนประชาชนดังกล่าวมิได้มากกว่าจำนวนคนที่ทราบว่า ผู้ถูกร้องและคู่สมรสมีทรัพย์สินและหนี้สินจริงในวันยื่นบัญชี ฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ วรรคสอง เพราะประชาชนสิบเอ็ดล้านกว่าคนนั้นไม่ทราบจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินจริงของผู้ถูกร้อง และคู่สมรสดีไปกว่าเลขานุการส่วนตัวเพียงสองคนของผู้ถูกร้องและคู่สมรส เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผล ของอดีต ยังคงคิดและทำเหมือนเดิม เหมือนนักธุรกิจคนอื่น ๆ ในระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่ยังคง เข้าใจผิดคิดว่า แนวความคิดที่จะบริหารประเทศของผู้ถูกร้องเป็นการคิดใหม่และทำใหม่ ไม่เข้าใจสาเหตุ ที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ ซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วย เงิน อย่างเดียว ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่า ผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินทองมากมาย ไม่ทุจริต ผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมือง โดยโอนการจัดการธุรกิจ ให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้องรู้ปัญหาของบ้านเมืองดี จึงอาสาเข้ามาแก้ไข แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้อง ภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น กระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการคิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข ด้วยการลด ละ และเลิก ความเห็นแก่ตัว เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มากและรวดเร็วเท่าใด จะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติสู่ความเป็นปกติรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่า หมดหวัง เพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีข่าว ที่ค่อย ๆ เบี่ยงเบนประเด็นที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาทีละน้อย ๆ และเป็นระยะ ๆ ว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจจนร่ำรวยด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่มีการทุจริต ผิดกฎหมาย ผู้ถูกร้องเป็นคนแรกที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ถูกร้องสมัครใจยื่นรายการทรัพย์สินและ หนี้สินเพิ่มเติมเอง หากศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องกระทำผิด ก็เป็นการทำผิดโดยสุจริต ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ ชลอการตัดสินคดี หรือยกโทษให้ผู้ถูกร้อง ไม่ควรลงโทษผู้ถูกร้องซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน สิบกว่าล้านคน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีใครดีกว่าผู้ถูกร้อง ประเทศไทยขาดผู้ถูกร้องไม่ได้ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ศาลกระทำได้ และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจน จะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลือง งบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมิใช่ เป็นการแสดง ความเห็นแก่ตัว ของคน

ดังนั้น จึงเห็นว่า เมื่อผู้ถูกร้องยอมรับว่า ผู้ถูกร้องมีทรัพย์สิน แต่ไม่ยื่นบัญชี ฯ เพราะใช้ชื่อบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์แทน และประกาศให้ประชาชนทราบว่า ผู้ถูกร้องได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริต และโอนทรัพย์สินนั้นให้เป็นของคู่สมรสผู้ถูกร้อง และคู่สมรสผู้ถูกร้องจะโอนให้ใครก็ได้ ตนไม่ทราบ เมื่อตรวจดูพยานหลักฐานต่าง ๆ จึงพบความจริงว่า ผู้ที่รับโอนหรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น แท้จริงเป็น เจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวแต่ในนาม และโอนคืนทรัพย์สินนั้นให้คู่สมรสผู้ถูกร้องในเวลาเดียวกันกับที่โอน และบุคคลเหล่านั้น คือ คนใกล้ชิดที่ผู้ถูกร้องและหรือคู่สมรสเคยใช้ชื่อถือทรัพย์สินมาก่อนที่ผู้ถูกร้องอาสาเข้ามาทำงานการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ นั่นเอง ถือว่า ผู้ถูกร้อง และ/หรือคู่สมรสรู้ว่า มีทรัพย์สินในชื่อบุคคลอื่น หรือใช้ชื่อบุคคลอื่นถือแทน โดยมีเหตุผลและข้อเท็จจริงดังที่ผู้ถูกร้องกล่าวชี้แจงโดยละเอียดในหนังสือทั้งสามฉบับข้างต้น แต่จงใจยื่นบัญชี ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้ง ให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕

ส่วนการห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองห้าปีควรเริ่มต้นนับแต่วันใดนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ บัญญัติว่า ... ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นตามมาตรา ๒๙๒ คือ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ (กรณีเข้ารับตำแหน่ง) วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ (กรณีพ้นจากตำแหน่ง) และวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ (กรณีที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี) หรือ นับแต่วันที่ตรวจพบว่า มีการกระทำดังกล่าว คือ เมื่อผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๓ ว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชี ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และศาล รัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ นั้น เห็นว่า กรณีนี้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๑๕ (๑) เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จึงต้องถือเอาวันนี้ เพราะการถือเอาวันอื่น เช่น วันที่ผู้ร้องตรวจพบว่า มีการกระทำดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๓ หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ จะไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ เพราะมากกว่าห้าปี และไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกร้อง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๖ วรรคสอง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๗ มาใช้บังคับ เมื่อผู้ถูกร้องได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ (ยังอยู่ภายในระยะเวลาต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เป็นเวลาห้าปี) ดังนั้น การออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ผู้ถูกร้องได้กระทำไปในหน้าที่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่ง หรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนออกจากตำแหน่งด้วย คือ ตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ จนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนี้

ด้วยเหตุและผลดังกล่าวมา จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีต รองนายกรัฐมนตรี จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เป็นเวลาห้าปี นับแต่วันที่ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไป.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook