3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายหวั่นน้ำตาลในประเทศล้น

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายหวั่นน้ำตาลในประเทศล้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายมั่นใจ น้ำตาลในประเทศ 19 ล้านกระสอบ เพียงพอบริโภคในประเทศโดยไม่จำเป็นต้องสำรองเพิ่ม หวั่นปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย แจงสถิติชี้ชัด ปีนี้ขายน้ำตาลได้น้อยที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย 47 รายทั่วประเทศครั้งล่าสุด ได้หยิบยกประเด็นที่มีผู้เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทรายว่า ควรมีการสำรองน้ำตาลทรายโควตา ก. (สำหรับบริโภคในประเทศ) ไว้อีก 2 งวด (720,000 กระสอบ) จากมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 ที่กำหนดปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. ไว้ที่ 19 ล้านกระสอบ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อป้องกันน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศขาดแคลนในช่วงปลายปี ซึ่งในกลุ่มของผู้ประกอบการเห็นว่า เป็นข้อเสนอที่สวนทางกับข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงให้ทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการน้ำตาลทราย เพื่อยืนยันว่า ปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. จำนวน 19 ล้านกระสอบ จะเพียงพอใช้บริโภคในประเทศอย่างแ่นอน

สำหรับเหตุผลที่สามารถยืนยันได้เช่นนั้นก็เนื่องจาก เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ภายในประเทศตั้งแต่ปี 2548 - 2552 ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า ปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค. - พ.ค. 52) มีจำนวน 7.89 ล้านกระสอบ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 กว่า 4.5 แสนกระสอบ และถือเป็นปริมาณการขายที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และจากปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดาน ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2552 จำนวน 1,135,967 กระสอบ เทียบเท่าการสำรองเกิน 3 งวด (งวดละ 360,000 กระสอบ) หากกำหนดให้สำรองเพิ่มขึ้น ก็อาจก่อให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย และมีผลกดดันต่อราคาขาย อันเป็นการทำลายอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโดยใช่เหตุ

"เราไม่คิดว่าน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศจะขาดแคลน และในความเป็นจริงมีโอกาสจะล้นไปด้วยซ้ำ เพราะถ้าดูจากสถิติของ สอน. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นชัดว่า การบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศปีนี้ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี แทนที่จะให้สำรองไว้ในประเทศมากๆ เรากลับเห็นว่า หกน้ำตาลทรายค้างกระดานมีมากเกินไป ก็ควรปรับลดปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. ลง และไปเพิ่มให้กับโควตา ค. (ส่งออก) แทน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอีกด้วย นายประกิต กล่าว

สำหรับในส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ถึงแม้จะให้สำรองปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. มากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ชาวไร่จะมีรายได้มากขึ้น เพราะส่วนแบ่งรายได้ที่ชาวไร่จะได้รับนั้น มาจากปริมาณการจำหน่ายจริง หากสำรองเพิ่มแต่ขายไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับแน่ๆ ก็คือ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่สูงขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยคาดว่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2551/2552 น่าจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 900 บาทต่อตันอ้อย จากราคาขั้นต้นที่ 830 บาทต่อตันอ้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook