"ความทรงจำ" เครื่องมือคืนความยุติธรรมให้ประชาชน

"ความทรงจำ" เครื่องมือคืนความยุติธรรมให้ประชาชน

"ความทรงจำ" เครื่องมือคืนความยุติธรรมให้ประชาชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในระยะเวลาเพียง 50 ปี ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นกลับดูเหมือนจะถูกลบออกจากความทรงจำของคนทั่วไป จนแทบไม่เหลือร่องรอยให้เราได้เห็น ไม่เพียงแต่ผู้สูญเสียจะไม่ได้รับการเยียวยาหรือคืนความยุติธรรมให้เท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ในโอกาสที่เดือนตุลาคมปีนี้เป็นวาระครบรอบ 43 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และครบรอบ 46 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 Sanook จึงขอชวนคุณมา “เปิดแผล” เพื่อย้อนความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐและเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต

ถีบลงเขา เผาลงถังแดง 

นิทรรศการประจักษ์|พยาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562

ในงานเสวนา “วัตถุพยานกับความทรงจำและบาดแผล” วันที่ 5 ตุลาคม 2562 ได้เปิดตัว นิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน ซึ่งจัดแสดงสิ่งของที่หลงเหลือจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่นักศึกษาและประชาชนถูกกระทำความรุนแรงโดยรัฐ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตาย รวมทั้งยังมีการหยิบยกสถานการณ์ความรุนแรงแบบอื่นที่ประชาชนถูกรัฐกระทำมาให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง”

เหตุการณ์ที่เรียกกันทั่วไปว่า “เหตุการณ์ถังแดง” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2515 – 2518 เป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคสงครามเย็น ที่เป็นการต่อสู้ทางด้านความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ระหว่างแนวคิดแบบประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกและเกลียดชังต่ออุดมการณ์ขั้วตรงข้ามอย่างแพร่หลายทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ ประชาชนได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มากขึ้น เนื่องจากความยากลำบากในการใช้ชีวิต ความไม่พอใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีทั้งปัญหาการทุจริตและการกดขี่ข่มเหงประชาชน เมื่อ พคท. มีสมาชิกมากขึ้นและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้รัฐต้องคิดหาวิธีที่จะต่อต้านการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีการส่งทหารเข้าไปในพื้นที่ จับกุมชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย และด้วยความตั้งใจจะกำจัดคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก รัฐจึงนำวิธี “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” มาใช้ลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ และมีการบันทึกไว้ว่ามีชาวบ้านเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ถึง 3008 ราย ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงชาวบ้านที่เสียชีวิตจากการถูกยิงและอื่น ๆ

คุณจุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ถังแดง:การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย ได้เล่าถึงขั้นตอนวิธีการถังแดงว่า เมื่อชาวบ้านถูกจับเข้ามาอยู่ในค่ายทหาร จะมีการสอบสวนด้วยวิธีพิเศษ เช่น การตีให้สลบ และจับใส่ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร แล้วก็ราดน้ำมันลงไป

“ในระหว่างที่คนที่ถูกทำร้ายยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่ได้ถูกเผา บางคนก็ฟื้นขึ้นมาก่อน ในระหว่างที่ฟื้นขึ้นมา ก็จะมีเสียงกรีดร้องเนื่องจากโดนเผา ก็จะมีการสตาร์ทรถจีเอ็มซีเพื่อกลบเสียงร้องนั้น” คุณจุฬารัตน์กล่าว

ต่อมาในช่วงปี 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้และพบเจอปัญหาเรื่องถังแดง จึงตัดสินใจนำชาวบ้านในพื้นที่มายังกรุงเทพเพื่อเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้สาธารณชนได้รับฟัง โดยจัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2518 ณ ท้องสนามหลวง เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงจัดตั้งกรรมการสอบสวน โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในเวลานั้นกรรมการได้ออกมายอมรับว่ามีการเผาถังแดงจริง แต่รายงานของกรรมการการสอบสวนถังแดงกลับระบุว่าคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ถังแดงไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ และมีจำนวนเพียง 50-80 คนเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐไม่ควรจะเข้าไปช่วยเหลืออะไร เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์

แม้กรณีถังแดงจะล่วงเลยมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการจับตัวผู้กระทำความรุนแรงมาลงโทษหรือเอาผิดทางกฎหมาย และความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีแนวโน้มถูกทำให้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ไทยในที่สุด ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีทั้งกลุ่มที่พยายามใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ต้องการขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีต และกลุ่มที่พยายามเก็บความทรงจำในเหตุการณ์นี้เอาไว้ ซึ่งคุณจุฬารัตน์แสดงความคิดเห็นว่า ตราบใดที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ไม่มีสิ่งใดมาการันตีว่าหลังจากที่ออกมาพูดแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านไม่ขุดคุ้ยอดีตขึ้นมาพูดอีกครั้ง และพยายามใช้ชีวิตที่เหลือต่อไป แต่ไม่ว่าอย่างไร ความทรงจำของผู้ถูกกระทำและคนในพื้นที่ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ร่องรอยของถังแดงยังอยู่ นั่นทำให้คนอีกกลุ่มในพื้นที่ก็เก็บความทรงจำอย่างนี้เอาไว้ โดยทำออกมาในรูปของอนุสรณ์สถาน มีการจัดพิธีการ เดินขบวน รวมถึงการบอกเล่าประวัติศาสตร์เพื่อให้คนรุ่นหลังทราบผ่านงานโครงการต่าง ๆ

6 ตุลา ความทรงจำที่ลืมไม่ได้

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่หลายคนพยายามรื้อฟื้น คือ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เนื่องจากเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย ที่ฝ่ายรัฐทำร้ายนักศึกษาและประชาชน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์นี้จะได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก แต่ก็ไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิดที่ฆ่าและทำร้ายนักศึกษาประชาชนเลยจนกระทั่งทุกวันนี้ ในทางกลับกัน ฝ่ายนักศึกษากลับเป็นผู้ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แม้แต่รัฐไทยในปัจจุบันเองก็ไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น มีเพียงความทรงจำของผู้สูญเสียเท่านั้นที่คอยตอกย้ำให้คนในปัจจุบันเห็นความเลวร้ายที่รัฐได้กระทำกับประชาชนในประเทศของตัวเอง

นิทรรศการประจักษ์|พยาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562

คุณนัดดา เอี่ยมคง พี่สาวของคุณดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้แบ่งปันเรื่องราวความโหดร้ายและความทุกข์ของครอบครัวผู้สูญเสีย โดยบอกเล่าเรื่องราวของน้องชายในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และมีเรื่องราวของตัวเอง ไม่ใช่เพียงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง ถึงแม้คุณดนัยศักดิ์จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เรื่องราวของเขาก็ยังถูกเล่าขานและส่งต่อในครอบครัวให้ลูกหลานได้รับฟังและจดจำ

คุณนัดดาเล่าว่า เธอไม่เคยลืมเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเลย เธอยังจดจำวันที่เธอออกตามหาน้องชายหลังเกิดเหตุได้ เธอหวังว่าจะได้พบน้องชายที่บาดเจ็บอยู่โรงพยาบาล แต่กลับต้องมารับศพของน้องชายกลับบ้านแทน

“น้องชายเป็นผู้เสียสละตลอดเวลา ในรุ่นของเขา เขาก็จะดูแลเพื่อนฝูง ใจเขานักเลงสมเป็นคนใต้ หรือในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่จริงเขาหนีออกมาได้แล้ว แต่มีน้องผู้หญิงโดนยิง เขากลับเข้าไปช่วยก็เลยโดนยิงด้วย เสื้อยีนของเขาถึงได้คลุมอยู่บนร่างของผู้หญิงที่ป้าไปเจอที่โรงพยาบาลตำรวจ” คุณนัดดาเล่า

อย่างไรก็ดี แม้การจากไปของคุณดนัยศักดิ์จะสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับครอบครัว แต่คุณนัดดาก็ดีใจและภูมิใจที่ครอบครัวของเธอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวของสามัญชนในประวัติศาสตร์ไทยแม้จะเป็นฝั่งที่ถูกกระทำและเหลือไว้เพียงความทรงจำที่โหดร้ายก็ตาม

ไม่เคยลืม ไม่เคยลืมไปจากใจเลย แล้วลูกหลานคนอื่นก็ไม่เคยลืม 43 ปี มันฝังอยู่ในใจ แล้วก็ไม่มีอะไรจะลืมได้ กางเกงก็อยู่ในตู้อย่างนี้ตลอดในห้องนอนพ่อแม่ มันฝังอยู่ในใจป้า ไม่รู้ใครผิดใครถูก ใครเป็นคนกระทำ ใครเป็นคนทำน้องเรา เรายังไม่อยากรับรู้เลย ซึ่งเรารู้แต่เราไม่อยากรับรู้ เราไม่อยากพูด” คุณนัดดากล่าว

ปฏิบัติการคืนความทรงจำ

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐต่อประชาชนไทย ทำให้เกิดการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์เพื่อส่งต่อเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริง และเป็นบทเรียนให้กับคนในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการพยายามเรียกร้องให้คืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

สำหรับกรณีถังแดง ชาวบ้านในพื้นที่ยังพูดถึงและพยายามรื้อฟื้นเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ โดยการสร้างอนุสรณ์สถานถังแดงขึ้นในปี 2547 ณ สถานที่เกิดเหตุจริง ในตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เพื่อตอกย้ำว่านี่คือสิ่งที่รัฐกระทำกับชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ โดยบอกเล่าผ่านปากคำของคนในพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ รวมทั้งเอกสารของรัฐบาลที่ออกมายอมรับว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง และวัตถุพยานอื่น ๆ ที่ถูกทิ้งไว้ ซึ่งประจวบเหมาะกับในช่วงเวลานั้นมีการสร้างอนุสรณ์สถานทางการเมืองขึ้นอีกหลายพื้นที่ เช่น อนุสรณ์สถานสันติภาพภูพาน ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี 2537 อนุสรณ์สถานประชาชนอีสานใต้ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในปี 2542 อนุสรณ์สถานบ้านช่องช้าง ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2542 และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในปี 2545 เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ประชาชนผู้ไร้ทางสู้ ถูกกดขี่ข่มเหง จนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง

นิทรรศการประจักษ์|พยาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562

สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลา ก็มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นความทรงจำในอดีตที่แสนโหดร้ายและตอกย้ำความรุนแรงที่รัฐเคยกระทำต่อประชาชน โดยมีทั้งการจัดทำโครงการภาพถ่ายเกี่ยวกับ 6 ตุลา และโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาขึ้น

อาจารย์ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงโครงการปริซึมภาพถ่าย ความแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาภาพถ่ายในเหตุการณ์ที่นอกเหนือจากชุดภาพถ่าย 6 ตุลาที่คนทั่วไปคุ้นเคยกัน เช่น ชุดภาพแขวนคอ ชุดภาพนักศึกษาอยู่กลางสนามฟุตบอล เป็นต้น โดยอาจารย์ธนาวิมองว่า ภาพถ่ายจะช่วยเปิดมุมมองให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่เกิดเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาภาพถ่ายก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวัง เพราะข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายอาจมีความคลาดเคลื่อนและเกิดความเข้าใจผิดได้

“เราชอบคิดว่าภาพถ่ายคือ การบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา แต่จริง ๆ แล้ว บางครั้งภาพถ่ายก็อาจจะทำให้เราได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดก็ได้ นั่นคืออีกด้านหนึ่งของภาพถ่ายที่มักจะหลอกเราว่ามันเป็นสื่อที่ตรงไปตรงมา แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คงเป็นการเล่นละครที่ลานโพธิ์ ที่มีภาพหลักไปลงหน้าหนังสือพิมพ์แล้วถูกพาดหัวข่าวให้เข้าใจไปในทางหนึ่ง ซึ่งมันก็กลายเป็นชนวนที่สำคัญอันหนึ่งของเหตุการณ์ 6 ตุลาในตอนเช้าของวันต่อมา ” อาจารย์ธนาวิอธิบาย

โครงการศึกษาภาพถ่ายของอาจารย์ธนาวิ มุ่งศึกษาความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลา ซึ่งจะเป็นเรื่องของคนที่เกิดทัน ทั้งที่เข้ามามีส่วนร่วมและไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยได้จัดทำเป็นหนังสือภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจ ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ที่รับหนังสือภาพไปแล้ว ต้องส่งความคิดเห็นกลับคืนมา อาจารย์ธนาวิเล่าว่า มีบุคคลท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนที่เคยไปร่วมในงานชุมนุม แต่ไม่ได้ไปร่วมในวันที่ 6 ตุลา เมื่อรับหนังสือไปแล้ว เขาก็ส่งข้อความกลับมาสั้น ๆ ว่าความจริงแล้ว เขาไม่อยากได้และไม่อยากดูภาพในหนังสือเล่มนี้เลย ดังนั้นสำหรับคนที่ผ่านเหตุการณ์นี้มา ก็จะมีทั้งคนที่รู้สึกว่าเขาไม่อยากเห็น เพราะมันทำให้รู้สึกเจ็บปวดเสียใจ ไม่อยากเปิดดู และคนที่เห็นว่าควรจะเผยแพร่ภาพถ่ายเหล่านี้ให้คนเห็นเป็นวงกว้าง เพื่อแสดงให้เห็นความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ขณะเดียวกันก็ยังครอบคลุมประเด็นองค์ความรู้เรื่อง 6 ตุลา ซึ่งรวมเอาคนที่เกิดไม่ทันและไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เลย แต่อาศัยการเรียนรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ มาศึกษาด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่ได้จากการดูภาพ ก็จะเป็นเรื่องเล่าอีกแบบหนึ่ง และตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่เราพยายามจะทำความเข้าใจว่า เมื่อเรื่องนี้แตกออกไปสู่กลุ่มคนที่หลากหลายมากไปกว่าคนที่เคยสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาอยู่แล้ว มันจะพาไปทางไหนได้บ้าง ดังนั้น ในแง่หนึ่ง มันคือการกระจายเรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลา และงานนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ซึ่งข้อมูลที่เก็บมาได้ ก็จะถูกใช้ในการอธิบายต่อไป ว่าพลังของภาพพาเราไปในจุดไหนได้บ้าง คือเราเห็นความเป็นไปได้ของการใช้ภาพถ่ายในการศึกษาแง่มุมที่หลากหลาย” อาจารย์ธนาวิกล่าว

ทางด้านคุณธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ก็ได้เล่าถึงที่มาของโครงการ โดยเท้าความถึงเว็บไซต์โครงการบันทึก 6 ตุลา ซึ่งได้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยยกตัวอย่างกรณีประตูแดง หนึ่งในชนวนเหตุของเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเป็นสถานที่แขวนคอช่างไฟฟ้า 2 คน คือ คุณวิชัย เกษศรีพงศ์ษา และคุณชุมพร ทุมไมย ที่เดินติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร แต่กลับถูกฆาตกรรมและนำศพมาแขวนไว้ที่ประตูแห่งนี้ โดยโครงการได้ลงพื้นที่เพื่อค้นหาประตู และสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประตูแดงขึ้น อย่างไรก็ตาม ทีมงานก็เกิดคำถามว่าจะนำประตูแดงซึ่งเป็นวัตถุพยานชิ้นสำคัญขึ้นเว็บไซต์ได้อย่างไร เพราะหากไม่ทำอะไรกับประตูแดงเลย เมื่อที่ดินผืนนั้นถูกขายไป ประตูก็คงจะกลายเป็นเพียงเศษเหล็กที่ไม่มีคุณค่าและไม่มีใครเหลียวแล

นิทรรศการประจักษ์|พยาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562

คุณธนาพลเริ่มต้นโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาจากการตัดสินใจเก็บสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เอาไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น การเจรจาขอซื้อประตูเหล็กมาเก็บไว้ รวมทั้งเก็บลำโพงที่มีรอยกระสุนที่ถูกทิ้งเอาไว้ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 2537 – 2539 เพราะมองว่าประวัติศาสตร์ไม่รอเวลา ขณะเดียวกัน เมื่อคนทั่วไปรู้ว่ามีความพยายามจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ก็มีคนส่งของอื่น ๆ มาให้ เช่น แผ่นเสียงเพลงปลุกใจที่มอบให้กับตำรวจในขณะนั้น เป็นต้น

“สำหรับผม ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องอดีต เราเห็นกับตา ประวัติศาสตร์คือเรื่องปัจจุบัน ณ เวลานั้น เทคโนโลยี และบริบทมันอำนวยให้พูดแค่ไหน 6 ตุลาชัดเจน คือเกิดปี 2519 สันปันน้ำเป็นประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ก็คือปี 2539 ซึ่งครบรอบ 20 ปี เป็นตอนที่เขาจัดงานใหญ่ ๆ คนที่รอดตายจาก 6 ตุลามา ผมเข้าใจว่าหลายคนมีฐานะที่ดีขึ้น สามารถคิดอะไรใหญ่ ๆ ได้ สามารถรวบรวมอะไรแบบนี้ได้ บาดแผลที่เคยชอกช้ำอาจจะหายไปบ้าง และมาด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังนั้น การทำงานประวัติศาสตร์หรืองานความทรงจำไม่ใช่เรื่องของเวลา และประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องของอดีต แต่เป็นเรื่องของปัจจุบัน” คุณธนาพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณธนาพลก็มองว่าหากโครงการนี้ล้มเหลว อย่างน้อยเมื่อถึงตอนนั้น สิ่งของ ประจักษ์พยาน เรื่องเล่า และความทรงจำต่าง ๆ ของเหตุการณ์ 6 ตุลาก็คงจะถูกบันทึกและเป็นที่จดจำของคนทั่วไปในสังคมแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ด้วยแล้ว การผลิตซ้ำ หรือกลับไปดูก็เป็นไปได้ง่ายมากขึ้น

แม้จะมีความพยายามลบเรื่องราวความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนออกจากความทรงจำของคนทั่วไป แต่สำหรับผู้สูญเสียแล้ว ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็คงจะไม่มีวันลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้นกับพวกเขา ดังนั้นการเก็บรักษาความทรงจำของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความโหดร้ายที่คนไทยกระทำต่อกันเองโดยขาดไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์แล้ว ยังนำไปสู่การเรียนรู้จากบาดแผลในประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำรอยอดีตอีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook