นาซ่าเผยโฉม “ชุดอวกาศรุ่นใหม่” พร้อมพามนุษย์ทะยานสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง

นาซ่าเผยโฉม “ชุดอวกาศรุ่นใหม่” พร้อมพามนุษย์ทะยานสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง

นาซ่าเผยโฉม “ชุดอวกาศรุ่นใหม่” พร้อมพามนุษย์ทะยานสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วอชิงตัน, 15 ต.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.) องค์การนาซ่า (NASA) ของสหรัฐฯ เปิดตัว “ชุดอวกาศรุ่นใหม่” ที่จะนำไปใช้ในโครงการอาร์ทิมีส (Artemis) ซึ่งจะส่งผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนต่อไปขึ้นไปยังขั้วใต้ของดวงจันทร์ (Lunar South Pole) ภายในปี 2024

จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้บริหารของนาซ่า จัดแสดงชุดอวกาศต้นแบบจำนวน 2 ชุด ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ โดยชุดแรกมีชื่อว่า “หน่วยเคลื่อนที่เพื่อการสำรวจนอกยาน” (Exploration Extravehicular Mobility Unit) หรือชุด “xEMU” ซึ่งใช้สำหรับสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์

ส่วนอีกชุดหนึ่งมีชื่อว่า “ระบบพิทักษ์ชีพลูกเรือโอไรออน” (Orion Crew Survival System) ซึ่งใช้สวมใส่ขณะที่มีการปล่อยยานอวกาศลำใหม่ของนาซ่าที่ชื่อว่า “โอไรออน” (Orion) รวมถึงช่วงที่ยานกลับสู่พื้นผิวโลก

นาซ่า ระบุว่า ชุด xEMU เป็นชุดที่มีแถบสีแดง ขาว และน้ำเงิน ประกอบด้วยเสื้อผ้าที่ตัดเย็บพิเศษเป็นแบบสวม (pressure garment) และเป้ชูชีพ สามารถปกป้องนักบินอวกาศจากรังสี อุณหภูมิที่มีความแตกต่าง และอนุภาคของสะเก็ดดาว (Microasteroid) ได้

เมื่อเทียบกับชุดรุ่นที่แล้ว ข้อดีประการหนึ่งของชุดนี้อยู่ที่ความสามารถในการเคลื่อนไหวของนักบินอวกาศที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยในพิธีเปิดตัวชุดเมื่อวันอังคาร วิศวกรหญิงจากนาซ่าได้สาธิตการสวมชุดดังกล่าว และสามารถทำท่าดีปสควอต (Deep Squad) รวมถึงหมุนแขนได้โดยรอบ และเคลื่อนไหวนิ้วได้อย่างง่ายดาย

ชุดอวกาศรุ่นใหม่ที่เอื้อให้ผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนไหวได้มากกว่าเดิม ช่วยให้นักบินอวกาศทำภารกิจที่ซับซ้อนบนดวงจันทร์ได้มากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ชุดนี้ใช้ “ข้อรับน้ำหนัก” (Joint Bearing) ในการเชื่อมต่อบริเวณลำตัวส่วนบนและส่วนล่าง แทนการใช้ซิป

นาซ่า เปิดเผยว่า ข้อรับน้ำหนักเหล่านี้เอื้อให้ผู้สวมใส่สามารถหมุนแขน ตั้งแต่ไหล่จนถึงข้อมือ ก้มโค้ง และหมุนสะโพกได้ รวมถึงเพิ่มระดับการงอเข่า และมีรองเท้าแบบเดินเขาซึ่งมีพื้นรองที่ทำให้เดินได้อย่างยืดหยุ่น

นอกจากนี้ ชุด xEMU ยังมีประตูสำหรับเปิดจากด้านหลัง เป็นช่องที่นักบินอวกาศสามารถมุดตัวเข้าไปในชุดได้ ซึ่งจะช่วยให้ชุดส่วนที่เป็นไหล่และท่อนลำตัวส่วนบนอยู่ชิดกันมากขึ้นกว่าชุดที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้ นักบินอวกาศจะสวมชุดได้พอดีตัวกว่าเดิม ทั้งยังลดความเสี่ยงอาการบาดเจ็บบริเวณไหล่ได้

นอกจากนี้ ชุดอวกาศรุ่นใหม่ยังเป็นชุดที่แยกส่วนได้ โดยที่หมวกของชุดจะมีกระบังใสป้องกันซึ่งทำหน้าที่ปกป้องอากาศควบคุมแรงดันรอบใบหน้าของผู้สวมใส่จากการสึกกร่อน การฉีกขาด รอยบุบ หรือรอยขีดข่วนที่เกิดจากฝุ่นละอองจากผิวดาว หากเกิดปัญหาขึ้น นักบินอวกาศสามารถเปลี่ยนแค่ตัวกระบังใสดังกล่าวได้ ตอนก่อนหรือหลังเดินสำรวจบนพื้นผิว โดยไม่ต้องส่งหมวกทั้งใบลงมาซ่อมยังพื้นโลก

ก่อนการลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์เมื่อปี 1969 บรรดาวิศวกรต่างกังวลว่าดินบนดวงจันทร์จะไม่สามารถรับน้ำหนักของชุดอวกาศและตัวนักบินอวกาศได้ แต่ขณะนี้มีการค้นพบว่าสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่า คือดินของดวงจันทร์ ประกอบด้วยเศษคล้ายกระจกขนาดเล็กที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชุดได้

นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) จะทำการทดสอบชุดอวกาศรุ่นใหม่ในปีถัดๆ ไป และจะถูกนำไปใช้ในสถานีอวกาศขนาดเล็กบนวงโคจรของดวงจันทร์และบนดาวอังคาร

นอกจากนี้ ไบรเดนสไตน์ ยังอธิบายถึงชุด Orion Crew Survival System ภายในงานด้วย โดยชุดสีส้มนี้จะใช้ในยานอวกาศลำใหม่ของนาซ่าในช่วงปล่อยยานขึ้นและช่วงกลับสู่ผิวโลก ซึ่งชุดนี้จะช่วยกันความร้อนให้กับนักบินอวกาศ หากมีอุบัติเหตุที่ทำให้ยานอวกาศสูญเสียแรงดัน

ทั้งนี้ นาซ่ากำลังเตรียมการเพื่อส่งผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนถัดไป ขึ้นสู่ดวงจันทร์ภายในปี 2024 และส่งขึ้นไปยังดาวอังคารภายในช่วงทศวรรษ 2030

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ นาซ่าเผยโฉม “ชุดอวกาศรุ่นใหม่” พร้อมพามนุษย์ทะยานสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook