จีนยอมให้จัดพิธีฝังศพ "อดีตผู้ค้านสังหารหมู่เทียนอันเหมิน" หลังเสียชีวิตมา 14 ปี

จีนยอมให้จัดพิธีฝังศพ "อดีตผู้ค้านสังหารหมู่เทียนอันเหมิน" หลังเสียชีวิตมา 14 ปี

จีนยอมให้จัดพิธีฝังศพ "อดีตผู้ค้านสังหารหมู่เทียนอันเหมิน" หลังเสียชีวิตมา 14 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้คัดค้านเหตุการณ์สังหารหมู่เทียนอันเหมิน ได้รับอนุญาตให้มีหลุมศพของตัวเองแล้ว หลังเสียชีวิตไปเมื่อ 14 ปีก่อนหน้านี้

อัฐิของ "จ้าวจื่อหยาง" อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้รับการฝังเคียงคู่กับเหลียงปั๋วฉี ภรรยาของเขา ณ ชานเมืองปักกิ่งแล้ว โดยเป็นวาระหนึ่งวันหลังจากวันครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของเขา ซึ่งไม่มีพิธีรำลึกอย่างเป็นทางการ

จ้าวจื่อหยาง คือผู้คัดค้านการสังหารหมู่เทียนอันเหมินในปี 1989 เข้าไปเจรจากับกลุ่มนักศึกษา หลังจากที่หยางซั่งคุน และหลี่เผิง ซึ่งเป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงการณ์จะใช้กำลังทหารเข้าล้อมปราบนักศึกษา เหตุการณ์นี้ทำให้จ้าวจื่อหยางถูกกักบริเวณและถอดออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด

จ้าวเอ่อจวิน หนึ่งในลูกชายของจ้าวเผยว่าพิธีศพเรียบง่ายของเขาเกิดขึ้นหลังการเจรจากันอย่างยาวนานระหว่างครอบครัวของจ้าวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ทั้งนี้ ทางครอบครัวได้ยื่นขอสร้างหลุมฝังศพให้จ้าวจื่อหยางและเหลียงปั๋วฉี ภรรยาของเขา หลังเหลียงปั๋วฉีเสียชีวิตในปี 2013

หวังเยี่ยนหนาน ลูกสาวของจ้าว กล่าวว่ารู้สึกโล่งใจที่พ่อแม่ได้หลับอย่างสงบ แต่ก็เสียใจที่ใช้เวลานานขนาดนี้ในการเจรจากลับไปมา ทั้งยังรู้สึกเหลือเชื่อที่วันนี้มาถึงในที่สุด

"เรารู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถบอกใครล่วงหน้าได้ว่าจะมีพิธีฝังในวันนี้ โปรดเข้าใจด้วยว่าเรามีทางเลือกไม่มากนัก" เธอกล่าว

ในพิธีมีสมาชิกครอบครัวสิบกว่าคนเข้าร่วม และมีมิตรอีกสิบกว่าคนมาเยี่ยมราวหนึ่งชั่วโมงหลังเผยป้ายหลุมศพ

จ้าว เป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นกำลังสำคัญในการวางแผนปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ทว่าชื่อของเขามีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 1989 การเอ่ยชื่อของเขาหรือบุคคลอื่นๆ ที่สนับสนุนการประท้วงยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามในที่สาธารณะจนถึงปัจจุบัน

เขาปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 19 พฤษภาคม 1989 ซึ่งเขาได้เข้าเจรจากับกลุ่มนักศึกษาที่อดอาหารประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง

หลังจากการล้อมปราบในวันที่ 4 มิถุนายน จ้าวถูกขับไล่โดยเติ้งเสี่ยงผิง ผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโทษฐานแบ่งแยกพรรค และเข้าข้างกลุ่มนักศึกษาผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตย เขาถูกกักบริเวณให้อยู่ในบ้านพักที่กรุงปักกิ่งกระทั่งเสียชีวิตในปี 2005 ด้วยอายุ 85 ปี

อู๋เหว่ย อดีตเจ้าหน้าที่ภายใต้คณะทำงานของจ้าว กล่าวว่าแม้ทางพรรคจะยินยอมให้มีการจัดพิธีฝังขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคอนุญาตให้มีการพูดถึงจ้าวจื่อหยางได้แล้ว โดยมองว่านั่นจะเป็นการเปลี่ยนคำตัดสินของพรรคต่อโศกนาฎกรรมในปี 1989

"พวกเขาคงคิดว่ามันคงไม่เหมาะสมที่จะปฏิเสธไม่ให้จัดพิธีฝังทั้งที่ผ่านวันครบรอบร้อยปีที่เขาเกิดมาแล้ว ยิ่งเขาเป็นอดีตผู้นำพรรคและประเทศจีนด้วยแล้ว" อู๋เหว่ยแสดงความเห็นต่อคำถามว่าทำไมทางพรรคถึงให้มีพิธีฝังจ้าวจื่อหยางได้ในที่สุด

ป้ายหลุมศพของจ้าวจื่อหยางแผ่นหินจารึกเรียบๆ สลักด้วยอักษรสีดำ แทนที่จะเป็นสีแดงและทองซึ่งใช้กับป้ายหลุมศพของเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ และแผ่นหินนั้นมีเพียงชื่อและปีที่เกิด ไม่ปรากฏตำแหน่งในอดีต หรือสิ่งที่จ้าวได้ทำถูกจารึกไว้แต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook