พระเทพฯรับสั่งแก้ปัญหาน้ำใต้ดินสวนจิตรลดา-วังสระปทุมสูงขึ้น

พระเทพฯรับสั่งแก้ปัญหาน้ำใต้ดินสวนจิตรลดา-วังสระปทุมสูงขึ้น

พระเทพฯรับสั่งแก้ปัญหาน้ำใต้ดินสวนจิตรลดา-วังสระปทุมสูงขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระเทพฯทรงรับสั่งให้คณะวนศาสตร์ ศึกษาการแก้ปัญหาน้ำใต้ดินสวนจิตรลดา วังสระปทุมเพิ่มสูงขึ้น เหตุพื้นที่รอบนอกถมดินสูง ปลูกสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ส่งผลสวนจิตรลดาเป็นพื้นที่ลุ่ม ส่งผลให้ต้นไม้เติบโตช้า โค่นล้มบ่อย ทรงแนะนำให้ใช้ไส้เดือนช่วยพรวนดิน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังบริเวณสนามฟุตบอล โรงเรียนจิตรลดา สวนจิตรลดา เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคม ทรงปลูกต้นไม้ร่วมกับนิสิตคณะวนศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม คณบดีคณะวนศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะวนศาสตร์ จำนวน 300 คน เฝ้าฯรับเสด็จ

เมื่อเสด็จถึงบริเวณสนามฟุตบอล โรงเรียนจิตรลดา รศ.วุฒิชัย กราบบังคมทูลเชิญทรงปลูกต้นไม้ 3 ต้น ได้แก่ต้นราชพฤกษ์ ต้นนนทรีและต้นอินทนิล จากนั้น ดร.ดำรงค์ ถวายรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยที่สนองแนวพระราชปรารภในเรื่องการถวายรายงานเกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ในวังสระปทุม และทูลเกล้าฯถวายหนังสือสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติในวังสระปทุม รวมทั้งความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์วิจัยไม้เมืองหนาวที่มหาวิทยาลัยจำปาสัก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โอกาสนี้ภาควิชาเกษตรกลวิธาน ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องสีข้าวขนาดเล็กจำนวน 2 เครื่อง เพื่อใช้ตามพระราชประสงค์ต่อไป ทั้งนี้เครื่องสีข้าวขนาดเล็กแบบเคลื่อนที่ได้ เป็นเครื่องสีข้าวที่ออกแบบใช้ได้ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ลักษณะเด่นของเครื่องสีข้าวนี้ สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นการลดภาระการขนส่งย้ายข้าวเปลือกไปยังโรงสี มีระบบลมดูดเพื่อการป้อนข้าวเปลือกสู่ชุดกะเทาะแกลบ สามารถแยกการผลิตได้ทั้งข้าวกล้องและข้าวสาร มีกรวยแยกรำและแกลบโดยอิสระทำให้สามารถควบคุมมิให้ฝุ่นรำและแกลบปนเปื้อนในอากาสช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนและใช้วัสดุในประเทศประมาณ 90 % เครื่องนี้สามารถทำงานได้ประมาณ 150 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อชั่วโมง โดยได้ข้าวสารประมาณ 65-70 %

จากนั้นเสด็จฯทอดพระเนตรนิทรรศการ เสร็จแล้วทรงฉายพระรูปร่วมกับคณาจารย์และนิสิต ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาปลูกต้นไม้ในสวนจิตรลดา ครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม พุทธศักราช 2504 เนื่องจากทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างป่ายางสาธิตในสวนจิตรลดา ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของไม้ยางที่ถูกตัดมาใช้สอยมากขึ้นทุกปี โดยเริ่มปลูกไม้ยางนาในเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน จำนวน 1,096 ต้น และมีพระบรมราชานุญาตให้อาจารย์และนิสิตคณะวนศาสตร์ เข้ามาวิจัยการเจริญเติบโตของไม้ยางนาได้ตลอดเวลา และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงปลูกต้นไม้ร่วมกับนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประจำทุกปี

คณบดีคณะวนศาสตร์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งถึงการปลูกไม้ยางนา รวมทั้งต้นไม้ใหญ่ในสวนจิตรลดา มีปัญหาเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร บางต้นก็ล้มง่าย เพราะน้ำใต้ดินมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ทำให้รากของต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถหยั่งลงลึกลงไปในดินได้ เนื่องจากพื้นที่รอบๆสวนจิตรลดามีการปลูกสิ่งก่อสร้าง ถมดินสูงขึ้น ทำให้พื้นที่ของสวนจิตรลดากลายเป็นพื้นที่ลุ่มส่งผลให้น้ำใต้ดินมีปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากทรงรับสั่งด้วยว่าที่วังสระปทุมปัจุบันมีต้นไม้ 2,256 ต้น จำนวน 208 ชนิด ก็มีปัญหาต้นไม้โค่นล้มเหมือนกัน เนื่องจากน้ำใต้ดินมีมากขึ้น ดินแน่น อากาศในดินมีน้อยทำให้รากต้นไม้ฝังลงลึกไม่ได้ ซึ่งพระองค์ทรงรับสั่งให้คณะวนศาสตร์ลองไปศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้พระองค์ทรงแนะนำวิธีการแก้ปัญหาดินแน่นด้วยว่า น่าจะลองใช้ไส้เดือนลงไปช่วยพรวนดิน เพราะในวังสระปทุมมีไส้เดือนจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในวังสระปทุมนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณาจารย์จากคณะวนศาสตร์ได้เข้าศึกษา สำรวจ ถ่ายภาพสัตว์ที่พบ ระหว่างเดือนมีนาคม 2551 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีสัตว์กว่า 76 ชนิด จัดทำเป็นหนังสือเพื่อให้ทราบถึงความสมบูรณ์ งดงามธรรมชาติที่ยังคงรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ในเขตกรุงเทพมหานคร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook