แนะอาชีวะเผชิญหน้าทดสอบ

แนะอาชีวะเผชิญหน้าทดสอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รู้สภาพจริงเพื่อพัฒนาตนเอง

รศ.ดร.กอบชัย เดชหาญ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะจัดทดสอบนักเรียนอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยเบื้องต้นอาจจะเรียกว่าVocational National Educational Test หรือ V-NET และจะเริ่มในปี 2553 ว่า เป็นเรื่องดีเพราะจะทำให้สถาบันอาชีวะมีการตื่นตัวพัฒนาคุณภาพมากขึ้น และควรที่จะวัดความรู้ทั้งวิชาชีพและวิชาการ เพราะเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานจะต้องมีความรู้ทั้ง 2 ด้าน แต่หากมีงบฯจัดสอบไม่เพียงพอช่วงแรกอาจจะวัดความรู้วิชาการก่อนและนำผลมาวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพนักเรียนอาชีวะต่อไป

รศ.ดร.กอบชัย กล่าวต่อไปว่า หากไม่มีการสอบวัดมาตรฐาน ตนคิดว่าในอนาคตนักเรียนอาชีวะคงไม่แตกต่างกับแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้สิ่งที่เรียนมาไร้ความหมาย ขณะที่ผลการสำรวจผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 90 ต้องการคนที่มีคุณภาพทางด้านวิชาการพื้นฐาน สามารถคิดวิเคราะห์ รู้จักประยุกต์ความรู้ที่ มีอยู่มาสร้างสรรค์ฝีมือ และสามารถพัฒนาฝีมือแรงงานตลอดเวลาด้วย ดังนั้นอาชีวะต้องยอมรับความจริง และร่วมกันพัฒนาคุณภาพ ไม่ใช่ทำเพียงฝึกอาชีพอย่างเดียว

ด้าน รศ.วินิจ โชติสว่าง อธิการบดี ม.เทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน กล่าวว่า ทุกสถาบันต่างรู้ดีว่าคุณภาพทางด้านวิชาการของเด็กอาชีวะอ่อนกว่านักเรียนทุกกลุ่ม เนื่องจากสถาบันอาชีวะจะเน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของอาชีวะ แต่ถึงตอนนี้ถ้าจะมีความรู้ในการปฏิบัติเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องแน่นทางด้านทฤษฎีด้วย ไม่เช่นนั้น ช่างฝีมือของไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ดังนั้นหากสทศ.วัดความรู้ทางด้านทฤษฎีแล้วสถาบันอาชีวศึกษาและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องนำผลที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ไม่ใช่สอบวัดไปแล้วก็ไม่ได้นำไปทำอะไร เพราะหากไม่มีการตื่นตัวในการพัฒนาเด็กอาชีวะ อนาคตประเทศไทยจะขาดช่างฝีมือที่มีคุณภาพ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook