ทุ่มงบแสนล้าน''ดับไฟใต้''คุ้มค่าไหม

ทุ่มงบแสนล้าน''ดับไฟใต้''คุ้มค่าไหม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ถึงเวลาทบทวนใหม่?

ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปมเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มต้นที่หมู่บ้าน นั่นคือการ ดับไฟในหมู่บ้าน ที่มีปัญหา ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ต่างมีความเข้าใจตรงกันว่า เหตุเกิดที่หมู่บ้าน จึงมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้าน เพื่อหวังที่จะ ดับไฟ ที่เกิดขึ้น

เพียงแต่ วิธีการดับไฟของเกือบทุกหน่วยงาน ยังเป็นไปโดยไร้ เอกภาพ ต่างคนต่างเห็นไฟที่ลุกโชนคนละมุมคนละด้าน และต่างคนต่างใช้น้ำที่มีอยู่ (งบประมาณ) โถมเข้าไปดับไฟ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำไม่พอ และ ไฟไม่ดับ

จนมีข้อสรุปถึงการดับไฟใต้ว่า ณ วันนี้เกิดโรคร้ายชนิดใหม่ขึ้นมา 2 โรค คือ 1. โรคสำลักงบประมาณ 2. โรคสำลักกำลังพล

โรคสำลักงบประมาณนั้น ลุกลามจาก กอ.รมน. ที่พยายามใช้เงินเป็น ใบเบิกทาง เพื่อ ซื้อ ปัญหา ตั้งแต่การ ซื้อโจร (ฝ่ายตรงข้าม) ซื้อคนในพื้นที่ ตั้งแต่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำมวลชน ในรูปแบบลูกจ้าง 4,500 บาท ให้มาเป็นพวก โดยหวังว่า วิธีการใช้เงินซื้อ จะเป็นการลด เงื่อนไข ที่เกิดขึ้น

ในขณะที่หน่วยงานด้านพลเรือน ก็เอาแบบอย่างในการใช้เงิน (งบประมาณ) เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเอาคำว่ามวลชน และคำว่าพัฒนามาใช้เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งวิธีการใช้เงินซื้อ ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะได้ผลในระยะสั้น ๆ และใช้ได้กับปัญหาพื้นฐาน คือเรื่องของ ความยากไร้ทางวัตถุ และใช้ไม่ได้กับปัญหาบางเรื่องเช่น ความคับแค้นทางจิตใจ ซึ่งต้องเยียวยาทางจิตใจ โดยใช้หลัก นิติรัฐ และหลัก นิติธรรม เท่านั้น

ยกตัวอย่าง กรณีการฆ่าหมู่ใน มัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่หลังเกิดเหตุ ฝ่ายการเมือง และการปกครอง แก้ปัญหาความคับแค้น และคับข้องใจ ของผู้คนในพื้นที่ด้วยการเสนอเงิน ให้กับญาติของผู้เสียชีวิต ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย 1 คนต่อหนึ่งครอบครัว ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จะให้เงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท จนกว่าจะประกอบอาชีพได้ หรือการทำโครงการสร้างงานในพื้นที่ เพื่อให้คนในหมู่บ้านไอปาแยได้ทำ เพื่อสร้างรายได้ เป็นการตอบแทนการฆ่าหมู่ ล้วนเป็นสิ่งที่ ฝ่าย การเมือง และข้าราชการประจำ คิดแทนประชาชนทั้งสิ้น

ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของประชารเมือง คิดนั้นนอกจากเหมือนกับเป็นการ ตบหน้า แล้วลูบหลัง แล้วยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า รัฐบาล มุ่งแต่จะใช้เงินในการแก้ปัญหา ทั้งที่เป็น สิ่งที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเงินที่รัฐบาลให้นั้น ทุกคน รับ แต่ไฟแค้นในใจไม่ได้ มอดดับ ไปกับเงินที่ได้รับ เช่นเดียวกับเงินที่ฝ่าย การเมือง เสนอให้กับคณะกรรมการมัสยิด อัลฟุรกอน เพื่อใช้ซ่อมแซมความเสียหายจากกระสุนปืนที่ถูกปฏิเสธ โดยมติของชาว บ้านคือ เก็บร่องรอยจากกระสุนปืนเอาไว้ เป็น หลักฐาน เพื่อ ประจาน ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการได้จากรัฐบาลในขณะนี้มี 2 เรื่องด่วน 1. คือความกระจ่างว่าใครเป็นฆาตกรสังหารคนในมัสยิดอัลฟุรกอน พร้อมนำตัวฆาตกรมาลงโทษ 2. ให้ความเป็นธรรมในกรณีการตายหมู่ 78 ศพ ที่หน้า สภ. ตากใบโดยหาคนผิดมาลงโทษ ไม่ใช่การระบุเพียงสาเหตุการตายว่าเกิดจากการขาดอากาศหายใจ ถ้า 2 เรื่องนี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล อย่าหวังได้เห็นความสงบจะเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ทั้ง 2 กรณี องค์กรมุสลิมโลก หรือ โอไอซี ได้บรรจุเป็นวาระการประชุม ในการประชุมใหญ่ประจำปีของโอไอซี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไรที่จะไม่ให้กรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นปัญหาสู่ เวทีโลกซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลหวั่นเกรงเป็นอย่างยิ่ง

และสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเกาะติดสถาน การณ์ให้ดีคือการเปลี่ยนแปลงในขบวนการพูโล ที่มีการเลือกตั้งประธานคนใหม่ และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยได้ นายกาแม ยูโซ๊ะ หรือ อาแบกาแม เป็นประธานคนใหม่ มี นาย รุสลัน ยามูแรแน เป็น ผบ.กองกำลัง เพราะ จากข่าวความเคลื่อนไหวที่เชื่อถือได้พบว่า ขณะนี้ ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ได้แตะมือกับขบวนการพูโล และขบวนการบีอาร์เอ็นคองเกรส อีกครั้งเพื่อเป็นการ ต่อยอด เพิ่มช่องทางในการก่อการร้ายให้ดุเดือด และรุนแรงยิ่งขึ้น

และอีกหนึ่งปัญหาที่ จ่อ คอหอยของรัฐบาลอยู่ในขณะนี้คือ การเลือกตั้งองค์ การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต. ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 100 กว่า อบต. โดยเฉพาะใน จ.นราธิวาสกว่า 40 อบต.

ทำไมการเลือก อบต.จึงเป็นปัญหา ที่ต้องติดตามเหตุผลเพราะ บีอาร์เอ็น มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการ ยึดหมู่บ้าน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการไปสู่ชัยชนะและ หาก กอ.รมน.ไม่ ่กล้า รับความจริง ต้องยอมรับว่า ขณะนี้มี อบต. จำนวนไม่น้อย ที่ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพล ของ บีอาร์เอ็น ซึ่งในการเลือกตั้ง อบต. ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้ บีอาร์เอ็น มีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการส่งผู้สมัครที่เป็น คนของ บีอาร์เอ็น เข้าไปแย่งชิงหมู่บ้าน เป้าหมาย ให้เป็น ที่มั่น ของ บีอาร์เอ็น ให้มากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นงานหนักทั้งของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และของฝ่ายปกครองที่จะต้อง เตะสกัด การรุกเข้ายึด หมู่บ้านให้ได้

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คือในขณะที่ หน่วยเหนือ อยู่ในอาการ สำลักงบประมาณ นั้นปรากฏว่าหน่วยปฏิบัติในหมู่บ้านบางแห่ง ซึ่งเป็นชุดทำงาน แย่งชิงมวลชน ต่างอยู่ในอาการ ง่อยเปลี้ย บาง หน่วยทนไม่ไหวร้องมายัง สื่อ ถึงเรื่องงบประมาณหรือ งบพัฒนาหน่วย ที่ใช้ในการสร้างมวลชนในหมู่บ้านจำนวน 30,000 บาท/ เดือนกลายเป็นงบที่ได้รับกะปริดกะปรอย ได้บ้างไม่ได้บ้างอย่างปี 2551 งบประมาณจ่ายเพียง 6 เดือน อีก 6 เดือน หายไปอย่างไร้ร่องรอย ส่วนในปี 52 บางเดือนได้บางเดือนไม่ได้ เมื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ แย่งชิง มวลชนต้องหลบอยู่แต่ในฐาน แล้วการได้ชัย ในหมู่บ้าน จะเกิดขึ้นได้อย่างไรและคำถามหนึ่งของทหารชั้นผู้น้อยคืองบประมาณที่มีข่าวว่ามีเป็นแสนล้านอยู่ที่ใครทำไมคน ที่ต้อง ตายแทน ประเทศชาติอยู่อย่าง ยากแค้น แบบนี้

วันนี้ การที่ทุกหน่วยสรุปว่าเหตุเกิดในหมู่บ้าน และต้องแก้ที่หมู่บ้านนั้นเป็นสิ่งที่เป็นจริง และเดินมาถูกทางแล้วจึงเหลือแต่ว่าจะสร้าง เอกภาพ ในการแก้ปัญหา ให้ตรงใจประชาชนอย่างไร แต่ถ้าคิดได้เพียงสูตร ซื้อน้ำเพื่อดับไฟ เหมือนกับ หมอ เลี้ยงไข้ โอกาสที่จะชนะ บีอาร์เอ็น ยึดครองพื้นที่ยังต้องใช้เวลาอีกยาวไกล.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook