ทรู-จัสมิน-ซีเอสล๊อกฯ ชูจุดขาย ''ไฮ สปีดเน็ต'' ''ตะลุมบอน''สงครามบรอดแบนด์

ทรู-จัสมิน-ซีเอสล๊อกฯ ชูจุดขาย ''ไฮ สปีดเน็ต'' ''ตะลุมบอน''สงครามบรอดแบนด์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แม้บรรยากาศทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยช่วงนี้ จะยังค่อนข้างซบเซา แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมค่อนข้างได้รับผลกระทบน้อยกว่าเซ็กเตอร์อื่น เนื่องจากการติดต่อสื่อสารเป็นปัจจัยพื้นฐานของคนในสังคม ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีจะเลวอย่างไรคนก็ยังต้องมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันเสมอ

เช่นเดียวกับธุรกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ( บรอดแบนด์) ที่ยังเป็นตลาดที่มีการเติบโตในระดับสูง นอกจากนี้ปัจจัยแวดล้อมของธุรกิจยังเอื้อต่อการให้บริการกว่าเมื่อ2-3 ปีก่อน เช่น มีผู้ให้บริการรายใหม่จำนวนมาก ธุรกิจต้นทางอย่างอินเตอร์เน็ตเกตเวย์เริ่มเปิดเสรี ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) มีทางเลือกในการเชื่อมต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคใช้เวลาบนโลกอินเตอร์เน็ตนานขึ้น

ด้วยเหตุนี้ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจึงเป็นเค้กก้อนสำคัญที่ผู้ให้บริการรายใหญ่พยายามแย่งส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด มองเห็นการแข่งขันกันอย่างหนัก เนื่องจากต้องการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวด้านการพัฒนา และการใช้คอนเทนต์ แอพพลิเคชันต่างๆ

++ทริปเปิลทีเกทับทรูออนไลน์

ในบรรดาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต้องบอกว่า บริษัท ทริปเปิลที อินเตอร์เน็ต จำกัด เป็นบริษัทลำดับต้นๆที่เปิดตลาดให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยความเร็ว 2 เมกะบิตและเพิ่มเป็น 3 เมกะบิตภายใต้ชื่อ Maxnet ถัดจากนั้นกลุ่มทรู ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เปิดตัวใหม่ด้วยความเร็ว 8 เมกะบิต ซึ่งล่าสุด ทริปเปิลที ก็เปิดตัวอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยความเร็วสูง 10 เมกะบิต

เหตุผลที่ ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำเป็นต้องฉีกคู่แข่งออกไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นเพราะ ทริปเปิลที ต้องการเป็นเจ้าตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างที่พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ลั่นวาจาไว้ จะเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดภายในปี 2553 ด้วยจำนวนลูกค้า 1 ล้านพอร์ต

**เปิดตัว 3 BB จับกลุ่มลูกค้าระดับบน

จากคำให้สัมภาษณ์ของ พิชญ์ ที่บอกว่า ทริปเปิลที อินเตอร์เน็ต อยู่ในอันดับ 3 ของตลาด โดยเบอร์หนึ่งและเบอร์สองคือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่เท่าๆ กันที่ประมาณ 40% ในขณะที่ ทริปเปิลที มีประมาณ 20%

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดทำให้ ทริปเปิลที อินเตอร์เน็ต เปิดเกมรุกอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง

พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้เปิดตัวอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสุดด้วยความเร็ว 10 เมกะบิต ภายใต้ชื่อ 3 BB หรือ ทรี บรอดแบนด์ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับบน สามารถอัพโหลด-ดาวน์โหลด ความบันเทิงแบบไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการ Streaming ดูการถ่ายทอดสดรายการต่างๆ หรือเล่นเกมออนไลน์ยอดฮิต โดยคิดค่าบริการ 1,490 บาทต่อเดือน

การรุกตลาดครั้งนี้ดูเหมือนว่า พิชญ์ มั่นใจเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้เกิน 30% ของตลาดรวมทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ส่วนกลยุทธ์การตลาดจะเน้นที่คุณภาพการให้บริการ โดยจะพยายามรักษามาตรฐานของความเร็วที่ลูกค้ายอมรับได้ ด้านบริการเสริมอื่นๆจะเป็นลักษณะการ Add On มากกว่าการขายรวม (Bundle) เพื่อลดความสับสนและความยุ่งยากของผู้ใช้บริการ

ส่วนแผนการตลาดใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทจัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ล่าสุด ชื่อชุด รัก 3 เชือก ความยาว 60 วินาที ส่วนอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงความเร็ว 3 เมกะบิต บริษัทยังให้บริการเช่นเดิมโดยคิดอัตราค่าบริการ 590 บาทต่อเดือน และจากการการให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดลูกค้าเพิ่มเป็นมากกว่า 470,000 รายและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

++ซีเอสฯชู PLAY ME

ขณะที่บริษัท ซีเอส ล็อกซ์อินโฟ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มชินคอร์ปไม่ได้อยู่นิ่งได้จัดรายการส่งเสริมการขายภายใต้ชื่อ PLAY ME Hi-Speed จาก CSLOXINFO ด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 5 เมกะบิ คิดอัตราค่าบริการ 590 บาทต่อเดือน

ซึ่ง PLAY ME Hi-Speed ที่ ซีเอส ล็อกซ์ ออกแคมเปญส่งเสริมการขายในครั้งนี้สามารถโหลดหนัง ฟังเพลง เล่นเกม Chat อี-เมล์ รับส่งข้อมูล หรือจองตั๋วหนัง

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ของ ซีเอส ล็อกซ์ เจาะกลุ่มภาคธุรกิจเป็นหลัก และเน้นการบริหารและควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้มีประสิทธิภาพ และเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายตลาดเฉพาะส่วนที่บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันสูงเท่านั้น

++ทรู ปักหลัก 8 เมกะบิต

แม้ทริปเปิลที อินเตอร์เน็ต ส่งบริการอินเตอร์เน็ตด้วยความเร็วสูง 10 เมกะบิต หากแต่บริษัท ทรูออนไลน์ จำกัด ในฐานะเบอร์สองในธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงยังไม่มีการปรับตัวในเรื่องนี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้วางกลยุทธ์ทางการตลาดในเรื่องของคอนเวอร์เจนซ์ (เป็นการผสมผสานผลิตภัณฑ์ บริการ และ โครงข่าย) ที่บริษัทได้วางไว้เป็นวิชันหลักสามารถบริหารจัดการได้เป็นระยะเวลา 10-20 ปี ด้วยคอนเซ็ปต์ 4C คือ Content (เนื้อหา),Communication (การสื่อสาร),Commerce (ธุรกรรมต่างผ่านอินเตอร์เน็ต) และ Community ก็คือ ชุมชน ไม่จำกัดการให้บริการสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้โดยไม่มีขีดจำกัด

ทั้งนี้ ศุภชัย เชื่อว่าบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสามารถทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ได้อย่างรวดเร็วแต่ที่สำคัญในขณะนี้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมีจำนวน 1 ล้านครัวเรือนจากทั้งหมด 19 ล้านครัวเรือนในขณะที่ประเทศเกาหลีครอบคลุมถึง 10-15 ล้านครัวเรือน ซึ่งปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดูแลอนาคตรวมไปถึงเนื้อหาบริการต่างๆ

เชื่อว่าสงครามบรอดแบนด์ หรือ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้อย่างแน่นอน และยิ่งทำให้เชื่อไปอีกว่าสงครามราคาจะไม่แตกต่างไปจากการแข่งขันของโทรศัพท์มือถือ !!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook