เป็นอัมพาตทั้งประเทศ! ชาวฝรั่งเศสนับแสนลุกฮือ หวังล้มแผนปฏิรูปบำนาญ

เป็นอัมพาตทั้งประเทศ! ชาวฝรั่งเศสนับแสนลุกฮือ หวังล้มแผนปฏิรูปบำนาญ

เป็นอัมพาตทั้งประเทศ! ชาวฝรั่งเศสนับแสนลุกฮือ หวังล้มแผนปฏิรูปบำนาญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปารีส, 5 ธ.ค. (ซินหัว) — สถานีรถไฟและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินตามเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศสต่างร้างผู้คน โรงเรียนปิดการเรียนการสอน อีกทั้งอากาศยานก็หยุดให้บริการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (5 ธ.ค.) หลังจากสหภาพแรงงานฝรั่งเศสจัดกลุ่มประท้วงถึง 245 กลุ่ม ลุกฮือกดดันให้เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยกเลิกการปฏิรูปเงินบำนาญด้วยการผนวกระบบบำนาญ 42 ระบบไว้ภายใต้ระบบเดียว

ในวันดังกล่าว มีผู้ประท้วงบนท้องถนนจำนวนมาก อาทิ กรุงปารีสมีผู้ประท้วงรวมตัวราว 250,000 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปราว 80 คน ขณะที่เมืองลียง (Lyon) มีผู้ประท้วงราว 35,000 คน ทั้งยังมีการประท้วงกระจัดกระจายตามเมืองต่างๆ อาทิ เมืองนองต์ (Nantes) เมืองแรนส์ (Rennes) ทางตะวันตก และแคว้นบอร์โด (Bordeaux) ทางตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังเกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรงระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วงตามเมืองต่างๆ ทั่วฝรั่งเศส โดยปรากฏเทปบันทึกภาพเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วง ขณะที่ผู้ประท้วงก็ขว้างปาก้อนหิน ทุบทำลายป้ายรถประจำทาง และจุดไฟเผารถบรรทุก

เครือข่ายคมนาคมของฝรั่งเศสถูกขัดขวางอย่างหนักด้วยปฏิกิริยาทางสังคมที่ดูจะไม่มีที่สิ้นสุด อันมีแนวโน้มส่งผลให้ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกในเทศกาลคริสต์มาส ต้องกลายเป็นอัมพาต ทั้งยังส่งผลให้คนทำงานหลายล้านคนต้องหันไปใช้รถจักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้า ใช้บริการแชร์รถยนต์ร่วมกัน หรือบางคนก็เลือกทำงานอยู่ที่บ้าน

สำหรับบริการรถไฟ ระบบรถไฟความเร็วสูงได้ลดการให้บริการจาก 10 ขบวนเหลือเพียง 1 ขบวน ขณะที่รถไฟสายภูมิภาคยังคงดำเนินการเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนรถไฟยูโรสตาร์ (Eurostar) ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมืองสำคัญในยุโรปตะวันตก ได้ลดเที่ยวเดินทางลงราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่รถไฟตาลิส (Thalys) ที่เชื่อมกรุงปารีสและกรุงบรัสเซลส์ ให้บริการเพียงขบวนเดียวจากทั้งหมด 3 ขบวน

เครือข่ายรถไฟใต้ดินปารีสส่วนใหญ่ถูกปิดให้บริการ ส่วนเที่ยวบินต่างๆ ก็ถูกยกเลิกไปร้อยละ 20

“วันนี้เครือข่ายคมนาคมจะถูกขัดขวางอย่างหนัก รวมถึงวันพรุ่งนี้ (6 ธ.ค.) และอาจลากยาวถึงสุดสัปดาห์” ฌอง-บัปติสต์ ดเชบบารี (Jean-Baptiste Djebbari) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กล่าวกับสถานีวิทยุแอร์เตแอล (RTL) พร้อมเสริมว่า “เราคิดว่าเหตุการณ์ประท้วงจะยังดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายวัน”

เหตุประท้วงดังกล่าวมีกลุ่มผู้เข้าร่วมมากมาย ทั้งคนขับรถบรรทุก ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ครู และเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉิน นับเป็นการทดสอบชั้นเชิงทางการเมืองของประธานาธิบดีหนุ่มในการผลักดันการปฏิรูปภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก

รายงานจากศูนย์สำรวจความคิดเห็นแห่งหนึ่ง (Ebale Opinion) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 ธ.ค.) ชี้ว่าประชาชนราวร้อยละ 58 เห็นด้วยกับการประท้วงต่อต้านการปฏิรูป ซึ่งเพิ่มขึ้น 5 จุด จากการสำรวจเมื่อวันที่ 27 พ.ย.

“ประชาชนตระหนักได้ว่ากำลังซื้อของพวกเขาจะลดต่ำลง เพราะทุกคนจะสูญเสีย พวกเขาจึงลุกฮือ การปกครองของมาครงได้เลือกหนทางอันนำไปสู่การเผชิญหน้าเช่นนี้เอง” ฌอง-ลุก เมลองชง (Jean-Luc Mélenchon) ผู้นำพรรค “ฟรานซ์ อันบาวด์” (France Unbowed) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายกล่าว

การปฏิรูประบบบำนาญเป็นหนึ่งในข้อสัญญาใหญ่ๆ ที่มาครงให้ไว้ในการหาเสียง โดยจะควบรวมกิจการบำนาญที่มีอยู่อย่างหลากหลายถึง 42 หน่วยงานซึ่งมีไว้สำหรับแต่ละอาชีพ ให้เข้ามาอยู่ในระบบเดียว

ระบบเดียวที่คิดขึ้นใหม่จะใช้การนับแต้ม เพื่อให้เงินทุกยูโรที่จ่ายให้เป็นผลประโยชน์บำนาญที่เท่ากันไม่ว่าผู้รับบำนาญจะทำงานให้กับภาคส่วนใด

ด้านรัฐบาลโต้ว่าการปฏิรูปนี้มีความจำเป็นต้องสร้างสมดุลให้แก่ระบบบำนาญซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนบรรดานักวิจารณ์เสนอว่าระบบนี้จะส่งผลให้ประชาชนต้องทำงานนานขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานในภาครัฐที่เดิมได้รับอนุญาตให้เกษียณอายุก่อนกำหนดบ่อยครั้ง สืบเนื่องจากสภาพการทำงานที่ค่อนข้างลำบาก

ส่วนประธานาธิบดียังคง “แน่วแน่” กับการตัดสินใจ โดยยืนยันต่อสหภาพต่างๆ ว่ารัฐบาลจะรับฟังและพร้อมเจรจา พร้อมย้ำว่า “การปฏิรูปเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการรับฟังและปรึกษาหารือกัน” ทำเนียบกล่าวกับช่องโทรทัศน์เบแอมเตเว (BMTV)

อนึ่ง ประเด็นการยกเครื่องระบบบำนาญนั้นทราบกันทั่วไปว่าเป็นเรื่องต้องห้าม อันจะเห็นได้จากความล้มเหลวในการปฏิรูปของรัฐบาลที่แล้ว

ทั้งนี้ เมื่อปี 1995 สหภาพของการรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) เคยออกมาประท้วงนาน 3 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลให้ฝรั่งเศสเป็นอัมพาต และกดดันให้อาแล็ง ฌูเป้ (Alain Juppé) นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ยอมทิ้งแผนปฏิรูประบบบำนาญและโครงการลดสวัสดิการ พร้อมลงจากตำแหน่ง

เหตุการณ์เมื่อปี 1995 เป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสนับตั้งแต่ปี 1968 เป็นการบีบให้ฌักส์ ชีรัก (Jacques Chirac) พับแผนปฏิรูปและยุบสภาในที่สุด

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ เป็นอัมพาตทั้งประเทศ! ชาวฝรั่งเศสนับแสนลุกฮือ หวังล้มแผนปฏิรูปบำนาญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook