"พิชัย" ซัด รบ.ล้มเหลว ตอนหาเสียงบอกค่าแรง 400-420 บาท สุดท้ายขึ้นแค่ 5-6 บาท

"พิชัย" ซัด รบ.ล้มเหลว ตอนหาเสียงบอกค่าแรง 400-420 บาท สุดท้ายขึ้นแค่ 5-6 บาท

"พิชัย" ซัด รบ.ล้มเหลว ตอนหาเสียงบอกค่าแรง 400-420 บาท สุดท้ายขึ้นแค่ 5-6 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาททั่วประเทศ แสดงถึงความล้มเหลวของการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลตลอด 5 ปี เพราะการขึ้นค่าแรงดังกล่าวไม่ได้ทำให้ทั้งผู้ใช้แรงงานและทั้งนายจ้างพอใจเลย โดยผู้ใช้แรงงานคาดหวังว่ารัฐบาลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-420 บาท ตามที่ พรรคพลังประชารัฐ ได้หาเสียงไว้ ในขณะที่นายจ้างที่เป็นเจ้าของกิจการต้องรับภาระค่าแรงที่สูงขึ้น ทั้งๆ ที่บริษัทกำลังย่ำแย่ การค้าขายฝืดเคือง ธุรกิจทำท่าจะไปไม่รอด ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจได้ดี เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพทุกปี และรัฐบาลทยอยขึ้นค่าแรงในระดับที่เหมาะสมทุกปีตลอด 5 ปีผ่านมา ผู้ใช้แรงงานก็น่าจะมีรายได้ขั้นต่ำถึง 400 บาทแล้ว

ในขณะที่หน่วยธุรกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี ค้าขายคล่องมีกำไร การขึ้นค่าแรงทีละขั้นทุกปี ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะจะมีกำไรมาแบ่งปันลูกจ้างผู้ใช้แรงงานได้ แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจก็แย่ การค้าขายก็ซบเซา การขึ้นค่าแรงจึงเป็นเหมือนการซ้ำเติมธุรกิจให้ทรุดลงอีก และอาจถึงกับต้องปิดกิจการได้

ทั้งนี้ตอนที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำที่ 400-420 บาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐที่มีรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลลาออกไปบริหาร ไม่ได้รับทราบสถานะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศเลย ซึ่งตนได้เคยทักท้วงไว้แล้วว่าอย่าเพียงแต่พูดหาเสียงแต่จะไม่สามารถทำได้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยย่ำแย่มาตลอด 5 ปี อีกทั้งการลงทุนหดหาย การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ก็ไม่มี การจะขึ้นค่าแรงในธุรกิจเดิมที่ย่ำแย่อยู่แล้วจะไม่สามารถทำได้ อีกทั้งจะยิ่งผลักให้นักลงทุนไม่มาลงทุนมากขึ้น แต่พรรคพลังประชารัฐโดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคและเป็น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ยังปากแข็งยืนยันว่าทำได้แน่ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้อย่างที่พูดหาเสียง ทั้งนี้ การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผิดพลาดยังคงเป็นอยู่ถึงปัจจุบันที่มีแต่นโยบายการแจกเงิน แต่ประเทศไม่ได้พัฒนา ซึ่งจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนการผลิตและการบริการให้มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพื่อที่หน่วยธุรกิจจะสามารถขึ้นค่าจ้างแรงงานได้มากขึ้น ซึ่งเป็นวัฏจักรการพัฒนาของประเทศรายได้สูงที่พัฒนาแล้ว ซึ่งต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

หากปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ยังสับสน วันหนึ่งบอกให้คนพูดเรื่องเศรษฐกิจมากๆ และยังบอกว่าประเทศที่เจริญแล้วประชาชนเขาจะพูดเรื่องเศรษฐกิจกันมาก แต่พอมาอีกวันบอกไม่อยากให้วิจารณ์เศรษฐกิจเพราะจะทำให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจยาก ทั้งๆที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะช่วยกันวิจารณ์เศรษฐกิจเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ควรจะต้องรับฟัง เพราะความรู้ทางเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์มีน้อยถึงน้อยมากอยู่แล้ว อีกทั้งยังกล้าบอกว่าตลอด 5 ปี ประเทศพัฒนาทุกด้าน ซึ่งสวนกับความเป็นจริง เพราะประเทศไทยเสื่อมถอยทุกด้านทั้ง เศรษฐกิจ การเมือง และ สังคม

โดยเศรษฐกิจทรุดต่ำอย่างหนักที่ทุกคนในประเทศรู้สึกได้ หุ้นก็ตกหนัก ด้านการเมืองยิ่งเสื่อมถอย ย้อนหลังไปในอดีตที่ยังมีการซื้องูเห่าจากพรรคฝ่ายค้าน และยังพยายามหนีการตรวจสอบ แม้กระทั่ง การตรวจสอบการใช้อำนาจเผด็จการด้วย ม. 44 ในอดีต ด้านสังคม ยิ่งเสื่อมทราม มีการใช้ความรุนแรง และ การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของคนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นผลของการเลียนแบบผู้นำที่เป็นตัวอย่างของความรุนแรงและการลุแก่อำนาจ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีการตำหนิว่าประชาชนใช้จ่ายเงินแต่งตัวกันมาก และทำจมูก ทั้งที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์คงจะไม่ทราบและไม่มีความรู้ว่าธุรกิจเสริมความงาม มีมูลค่ามหาศาลปีละหลายหมื่นหลายแสนล้านบาทในประเทศไทย โดยมีทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศที่บินมาใช้บริการในประเทศไทย การตำหนิดังกล่าวแสดงถึงความไม่รู้เรื่องทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากผู้นำยังมีวิสัยทัศน์ที่คับแคบ แถมยังแสดงความเห็นแบบไม่ไตร่ตรองก่อนพูด ก็จะเป็นการยากที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและยากที่จะพัฒนาได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook