เปิดประกาศกฎเหล็กให้อำนาจ กอ.รมน.ใช้กฎหมาย 13 ฉบับสกัดเสื้อแดงล้มประชุมรมต.อาเซียนภูเก็ต

เปิดประกาศกฎเหล็กให้อำนาจ กอ.รมน.ใช้กฎหมาย 13 ฉบับสกัดเสื้อแดงล้มประชุมรมต.อาเซียนภูเก็ต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หมายเหตุมติชนออนไลน์-ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศคู่เจรจาและการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ณ จังหวัดภูเก็ต เพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำรอยการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียนที่พัทยาเมื่อเดือนเมษายน 2552 จึงมีการประกาศให้พื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเพื่อให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันปราบปรามในการก่อความวุ่นวายในพื้นที่จัดประชุมโดยเฉพาะ จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ฟรือกลุ่มเสื้อแดง

ต่อไปนี้เป็นประกาศ 3 ฉบับในการให้อำนาจกับ กอ.รมน.ในการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าว

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ด้วยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน(Asean Ministerial Meeting : AMM) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conferences : PMC) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (Asean Regional Forum : ARF) ระหว่าง 17-23 กรกฎาคม พ.ศ.2552 ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้แทนระดับสูง จำนวน 26 ประเทศ และ 2 องค์กรเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

จากสถานการณ์การชุมนุมประท้วงและขัดขวาง การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 14 ระหว่าง วันที่ 10-12 เมษายน พ.ศ. 2552 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ บีชรีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี จนขยายลุกลามเป็นเหตุการณ์การก่อความไม่สงบ ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็น เหตุให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมจนแล้วเสร็จ ได้ทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศไทย ทั้งในด้านภาพลักษณ์ เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย สำหรับการประชุมในครั้งนี้

ปรากฏว่า มีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่มที่จะดำเนินการขัดขวางหรือก่อความวุ่นวายในบริเวณพื้นที่ที่จะจัดการประชุมที่จังหวัดภูเก็ต ในลักษณะเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่พัทยาอีกครั้ง ประกอบกับพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งอาจมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทั้งจากภายในประเทศและจากภายนอกประเทศ เข้ามาก่อเหตุร้ายในห้วงเวลาการประชุม เพื่อทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทย

ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการในการรักษาความปลอดภัยในการประชุมมีเอกภาพ เนื่องจากมีหน่วยงานหลายหน่วยงานร่วมในการปฏิบัติงาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขมิให้เกิดสถานการณ์ที่ทำให้การประชุมดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ หรือหากเกิดสถานการณ์ขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐสามารถแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา31 ประกอบกับ มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ดังต่อไปนี้

1. ให้เขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และทะเลอาณาเขต5 กิโลเมตร รอบจังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

2. ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยการจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าี่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น เพื่อปฏิบัติภารกิจการรักษาความปลอดภัยในการประชุมนี้เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่าง วันที่ 10-24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประกาศ ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรี

-----------------------

ประกาศเรื่อง ให้หน่วยงานของรัฐมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีอำนาจดำเนินการ

ตามที่ได้มีประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและทะเลอาณาเขต 5 กิโลเมตร รอบจังหวัดภูเก็ต ระหว่าง 10-24กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และมอบหมายให้ กองอำ นวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น

คณะรัฐมนตรี จึงมีมติ เมื่อวันที่30 มิถุนายน พ.ศ.2552 และวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ2552 ให้หน่วยงานของรัฐมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีอำนาจดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติสั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปรามระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ ที่มีการประกาศพื้นที่และห้วงเวลาปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้

1. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑

2. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗

3. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒

4. พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๓๐

5. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐

6. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. ๒๔๙๓

7. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

8. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒

9. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

10. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. ๒๔๙๐

11. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม

12. ประมวลกฎหมายอาญา

13. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ

ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นด้วยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐมอบให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีอำนาจดำเนินการโดยให้ถือเสมือนเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้น โดยการใช้กฎหมายดังกล่าว ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้การมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้รับผิดชอบเดิมหมดไปซึ่งยังครอบคลุมหน้าที่ตามปกติ

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่าง 10-24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประกาศ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรี

--------------

ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

ตามที่ได้มีประกาศเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและทะเลอาณาเขต 5 กิโลเมตร รอบจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคมพ.ศ. 2552 และมอบหมายให้ กองอำ นวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น

เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุมและแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ

คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒และวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ออกข้อกำหนด ดังนี้

1. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกอ.รมน. ทั้งนี้ ตามที่ ผอ.รมน. ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน.หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ มีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการ เพื่อป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

2.. ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน. และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน. ทั้งนี้ ตามที่ผอ.รมน. ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน. หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น

3. ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน

4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่ ผอ.รมน. ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน. หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด

5.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ ผอ.รมน. ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน. หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนในการนี้ ผอ.รมน. ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน.หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่าง วันที่ 10-24กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประกาศ ณ วันที่9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook