สักแจงทักษิณขาดคุณสมบัติขอพระราชทานอภัยโทษ

สักแจงทักษิณขาดคุณสมบัติขอพระราชทานอภัยโทษ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายสัก กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความ กล่าวในการสัมนาทางวิชาการเรื่อง " พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานอภัยโทษ จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 14 กรกฎาคมว่า การอภัยโทษนั้นคือการที่คนจะไม่รับผิดหรือพ้นจากความผิดทางอาญา โดยพิจารณาว่า 1. ดูว่าเป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ การรัฐประหาร จะมีออกมาเป็นการคำสั่งคณะปฏิวัติ จะมีการสั่งนิรโทษ โดยออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งพระราชกำหนดหรือในรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องอภัยโทษที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือเรื่องทั่ว ๆ ไป ต้องมีการตรากฎหมาย เช่น การออกกฎหมายว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป เป็นอำนาจของนิติบัญญัติ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอภัยโทษที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมถือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

โดยการขอทั่วไปออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย โดยต้องเป็นคดีอาญาที่ต้องมีโทษถึงที่สุดแล้ว โดยคำขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชอภัยโทษ ส่วนใหญ่ก็เพื่อให้ได้รับลดหย่อนกลับตัวเป็นคนดี เพื่อสามารถกลับมาสู่สังคมได้ โดยต้องมีการสำนึกในการกระทำความผิดก่อนว่าสมควรได้รับการยกเว้นโทษหรือไม่

ทั้งนี้คำร้องขอต้องไม่กล่าวถึงความไม่ถูกต้องและความไม่เป็นธรรมของคำพิพากษาของศาลเพราะคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้น ต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลโดยไม่โต้เถียงว่าไม่เป็นธรรม ไม่เช่นนั้นก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการลมิดอำนาจศาล

ในการขอพระราชทานอภัยโทษทำได้ 2 ช่องทาง คือ 1. ผ่านเรือนจำ และ 2. ยื่นต่อรมว.ยุติธรรม โดยในกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรมว.ยุติธรรม ที่จะเป็นผู้เสนอเรื่องต่อพระมหากษัตริย์และทำความเห็นว่าประกอบด้วยว่าสมควรที่จะได้รับอภัยโทษหรือไม่ โดยต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงมาจากกรมราชทัณฑ์ประกอบมาด้วย โดยต้องเป็นนักโทษชั้นดี เพราะถ้าเป็นนักโทษชั้นเลวคงไม่ได้รับการอภัยโทษ โดยการถวายความเห็นต้องมีข้อมูลเพียงพอเพื่อให้รัฐมนตรีและองคมนตรีพิจารณาอย่างรอบคอบได้

สำหรับในภาพรวมของการพระราชอภัยโทษที่รวบรวมโดยประชาชน 1 ล้านรายชื่อนั้น ถ้าดูตามคำขอพระราชทานอภัยโทษที่ให้ประชาชนลงชื่อนั้น ในคำขอสุดท้ายได้เขียนว่า " เพื่อทรงพระกรุณาอภัยโทษแก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่ดินรัชดา ที่ตัดสินโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้นเสีย เป็นการขอเฉพาะราย ซึ่งต้องดูว่าทำได้หรือไม่ ในเมื่ออดีตนายกฯไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรับการลงโทษ แต่เป็นผู้หนีศาล

ดังนั้นเมื่อยังไม่เข้าสู่กระบวนยุติธรรมตรงนี้ ก็ทำให้ยังไม่มีข้อมูลดังกล่าว ก็อาจจะไม่สามารถไปถึงการถวายความเห็นโดยรมว.ยุติธรรมและให้องคมนตรีได้ว่าเป็นนักโทษผู้นี้มีพฤติการณ์อย่างไร สมควรที่จะได้รับการอภัยโทษหรือไม่ ดังนั้นหากดูขั้นตอนตรงนี้จะเห็นว่าไม่เป็นไปตามช่องทางตามกฎหมาย

หากดูข้อเท็จจริงที่ผ่านมาอดีตนายกฯได้กล่าวว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรมจากกระบวนการยุติธรรมและระบุด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมเป็น 2 มาตรฐาน และเป็นกระบวนการ"ยุติความเป็นธรรมซึ่งส่วนตัวเห็นว่าความเห็นนี้ไม่น่าจะเป็นเพราะข้อต่อสู้เหล่านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยกเป็นข้อต่อสู้ในศาลและศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)และมาตรา100 ของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่น่าสังเกตว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ฟ้องคตส. ในคดีทั้งแพ่งและอาญา

โดยการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้สิทธิฟ้องบุคคลเหล่านี้ในศาลเดียวกันก็หมายว่าพ.ต.ท.ทักษิณ คิดว่ากระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมได้ เขาจึงใช้สิทธิฟ้องคนอื่น ไม่เช่นนั้นคงไม่ไปฟ้อง แต่เวลาที่ศาลลงโทษเขา เขากลับอ้างว่ากระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม เหตุผลแบบนี้น่าจะขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่ายังมีอีกหลายคดีของอดีตนายกฯทั้งไม่ว่าจะเป็นคดีหวย 2 ตัว 3 ตัว คดีการปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ให้ประเทศพม่า คดีการแปรค่าสัมปทาน ฯลฯ ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาต้องเข้ามาสู้คดีเหล่านี้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ได้รับการอภัยโทษทั้งหมด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook