เผยสถิติอาชญากรรมพุ่มพรวด

เผยสถิติอาชญากรรมพุ่มพรวด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ข่มขืนเยอะสุด ''เว็บโป๊'' ตัวการ

นับวันปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย จะลำบากยากแค้นมากขึ้นทุกขณะ เพราะสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาชนตาดำ ๆ ต้องหาเช้ากินค่ำ แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยมองข้ามไม่ได้และจะต้องหาทางเยียวยาแก้ไข คือ ปัญหาอาชญากรรม ที่ตามมา เพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง การก่อคดีอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ก็จะเกิดมากขึ้น เนื่องจากคนว่างงานมีมาก

ขณะที่ นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้นำข้อมูลสถิติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาศึกษาพบว่า สถิติปัญหาอาชญากรรมมวลรวมปี 2551 มีคดีเกิดขึ้นจำนวน 458,188 คดี เพิ่มจากปี 2550 จำนวน 34,935 คดี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.25 อย่างไรก็ตามเมื่อแยกวิเคราะห์พบว่าสถิติคดีส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง แต่ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็นคดีลักรถจักรยานยนต์ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43

ข้อมูลสถิติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เปิดเผยอีกว่า สำหรับสภาพเศรษฐ กิจที่ย่ำแย่ คาดว่าจะมีปัญหายึดโยงเกี่ยวข้องกับคดีทรัพย์สิน โดยในปี 2551 พบว่ามีการลักรถจักรยานยนต์ จำนวน 20,039 คดี คดีข่มขืนกระทำชำเรา ในปี 2551 มี 4,644 คดี ใน แง่มุมประสิทธิภาพการติดตามจับกุม ในปี 2551 ตำรวจรับแจ้งคดีลักทรัพย์จำนวน 57,457 คดี สามารถติดตามจับกุมได้ 25,150 คดี ส่วนคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ในปีเดียวกัน ตำรวจรับแจ้ง จำนวน 3,974 คดี สามารถติดตามจับกุมได้ 1,920 คดี ซึ่งทางตำรวจเองได้กระตุ้นยอดการจับกุมโดยการตั้งค่าหัว และทำปฏิทินหมายจับก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

และจากการศึกษาคดีข่มขืนจากข่าว พบว่าหลายครั้ง คนที่ก่อเหตุเป็นคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด เช่น ปู่ข่มขืนหลาน พ่อข่มขืนลูก ประกอบกับปัจจัยทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับการถ่ายภาพทำได้ง่ายขึ้น พบว่ามีการถ่ายภาพการร่วมเพศไว้เพื่อประจาน และเพื่อแบล็กเมล์ เรียกร้องเงิน โดยหลายครั้งมีการแพร่ภาพ หรือเรียกว่า คลิป ทางสื่ออินเทอร์เน็ต โดย ในเว็บไซต์ กูเกิ้ล พบคำค้นว่า คลิปเซ็กซ์ มีประมาณ 4,150,000 รายการ คลิป แอบถ่ายมีประมาณ 1,470,000 รายการ คลิปโป๊มีประมาณ 1,530,000 รายการ คลิปนักศึกษามีประมาณ 2,910,000 รายการ คลิปนักเรียนมีประมาณ 3,000,000 รายการ คลิปข่มขืนมีประมาณ 645,000 รายการ และคลิปหลุดดารามีประมาณ 1,210,000 รายการ

ด้าน สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนถึงกรณีความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน สะท้อนผ่าน ข่าว อาชญากรรม ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่า ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินในวันนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ 47.84% เห็นว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น รองลงมา 26.35% เห็นว่ามีความรุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิมมาก และ 10.78% เห็นว่าโหดร้าย ทารุณและเหี้ยมโหดมากขึ้น ส่วน เอแบคโพล เผย ประชาชน ร้อยละ 59 ต้านหวยออนไลน์ หวั่นมอมเมาเยาวชน สร้างผีพนันเพิ่มเพราะหาซื้อง่าย ระบุหากรัฐไฟเขียวจะเกิดปัญหากร่อนสังคมไทย ซ้ำพิษเศรษฐกิจ โจรชุม ยาเสพติดชุก ครอบครัวแตกแยก เด็กหนีเรียน เร่ขายบริการทางเพศ และตบตีกันจะไม่จบสิ้น ร้อยละ 96 ระบุทำงานหนักมีสิทธิรวยมากกว่าเล่นหวย.

วิธีการป้องกันการปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์

(สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

1.ติดสัญญาณแจ้งภัยไว้หลาย ๆ แห่ง เพื่อให้ผู้อื่นหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงทราบกำหนดสัญญาณ ควรตีเกราะขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุร้าย และแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ

2.การจ้างคนงาน คนรับใช้ หรือพนักงาน ควรมีสำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวต่าง ๆ ถ่ายรูปและรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติ ส่วนตัว ญาติพี่น้อง เพื่อทราบที่อยู่ความเป็นมา อาชีพดั้งเดิม ความประพฤติตลอดจนญาติพี่น้องหรือคนรู้จักเพื่อสามารถติดต่อในภายหลัง หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำการตรวจสอบประวัติ ก็ให้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่

3.เครื่องประดับที่มีไว้แต่งตัว หรือไว้เพื่อค้าขาย ถ้าเป็นไปได้ควรจดรายละเอียดตำหนิรูปพรรณ ลักษณะพิเศษ ราคา และถ่ายรูปเก็บไว้

4.ไม่ควรติดกลอนประตู หน้าต่าง ด้านนอก เพราะคนร้ายจะใช้เป็นห้องขังได้เป็นอย่างดี

5.ระมัดระวังคนแปลกหน้าที่มาเดินวนเวียนไปมาหลายครั้ง หรือมีท่าทางพิรุธน่าสงสัย ควรรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ

6.ไม่ควรอยู่ทำการค้า หรือธุรกิจ ในห้างร้าน บริษัท เพียงคนเดียว เมื่อหยิบสินค้าหรือสิ่งของจากหลังร้าน ชั้นบน หรือที่เก็บของ ควรมีผู้อยู่ดูแลหน้าร้านหรืออยู่กับลูกค้าเสมอ และควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อมีลูกค้าเข้ามาในร้านคราวละมาก ๆ

7.ควรผูกมิตรกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาและให้ความช่วยเหลือแก่กันและกัน

8.ไม่ควรเก็บเงินสดจำนวนมาก หรือทรัพย์สินที่มีค่าไว้ในสถานที่ประกอบการค้า

9.การเปิด-ปิดสถานที่ประกอบการค้า ไม่ควรเปิดแต่เช้าตรู่หรือยังมืดอยู่ และไม่ควรปิดจนค่ำ หรือดึกเกินไป

10.ขณะที่จะปิดหรือกำลังจะปิดสถานประกอบการ หากมีคนแปลกหน้ามาติดต่อการค้าหรือธุรกิจต่าง ๆ ควรพิจารณาและระมัดระวังอาจจะเป็นคนร้าย ถ้าเป็นไปได้ควรรีบปฏิเสธในทุกเรื่องโดยอ้างว่าปิดทำการแล้ว

11.พยายามจดจำตำหนิรูปพรรณคนที่เข้ามาติดต่อ หากเป็นคนร้ายแล้วก่อเหตุขึ้นจะได้แจ้งรายละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการจับกุม

12.ไม่ควรมีแต่เพียงเด็ก หรือสตรีเท่านั้นอยู่เฝ้าดูแลสถานประกอบการหรือที่พักอาศัย

13.ควรสำรวจ ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ ของสถานประกอบการค้า หรือที่พักอาศัยให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง การปิดทุกครั้งต้องใส่กลอน ใส่กุญแจอย่างแน่นหนาทุกครั้ง

14.ไม่ควรนำสินค้าหรือเครื่องประดับที่มีราคาแพง ๆ ออกมาให้ลูกค้าเลือกหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ชนิดในคราวเดียวกัน

15.การจัดสถานประกอบการค้า ควรให้สามารถมองเห็นได้จากภายนอก

16.เมื่อเกิดเหตุพยายามสงบสติอารมณ์ แล้วจดจำตำหนิรูปพรรณของคนร้าย การแต่งกาย อาวุธ พาหนะ เส้นทางหลบหนี

17.เมื่อเกิดเหตุควรช่วยรักษาสถานที่เกิดเหตุ จนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินทางมาถึง

18.อย่าพยายามจับคนร้ายโดยลำพังด้วยตนเอง เมื่อคนร้ายก่อเหตุให้ รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยเร็ว

19.วัว ควาย ในหมู่บ้านควรจัดเป็นคอกรวมและมีเวรยามดูแลรักษาตลอดคืน

20.กรณีที่มีการซื้อขาย พืชผลทางการเกษตรหรือสัตว์ที่มีมูลค่าสูงไม่ควรเก็บเงินสดไว้ที่บ้านควรใช้บริการของธนาคาร

21.การเบิกจ่ายเงินเดือนของหน่วยราชการและบริษัทห้างร้านควรเบิกจ่ายกับธนาคารในท้องที่ หากไม่มีควรขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเบิกเงิน และไม่ควรเดินทางในเวลากลางคืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook