มองศก.โลก-ศก.ไทยผ่านเจพี มอร์แกน มั่นใจตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังยังขึ้นอีก20%

มองศก.โลก-ศก.ไทยผ่านเจพี มอร์แกน มั่นใจตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังยังขึ้นอีก20%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แม้วันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ฟันธงได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นแน่ๆ แต่สำหรับค่าย เจพี มอร์แกน ที่นำโดย วรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธนาคาร เจพี มอร์แกนเชส สถาบันการเงินชั้นนำในสหรัฐที่ประคองตัวฝ่าวิกฤตมาได้ในวันนี้ ได้ให้มุมมองต่อทิศทางสถานการณ์โลกและไทยในวันนี้ว่า 0 มองภาพเศรษฐกิจโลกจากนี้ไปเป็นอย่างไร

ถ้ามองภาพรวมของตลาดต่างประเทศมันดีขึ้น จะเห็นตลาดหุ้นดีขึ้น ตราสารหนี้ก็ดีขึ้น ภาพรวมของโกลบอลเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่ใช่ V เชฟ แต่จะค่อยๆ ขึ้นมา ทางเจพี มอร์แกนคาดเศรษฐกิจโลกปีนี้จะโต 2% เริ่มมองว่าจะเริ่มฟื้น แต่ก็ยังมีนักวิเคราะห์บางคนมองเศรษฐกิจยังติดลบมากๆ

ดูจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วกับไตรมาสแรกปีนี้ ทุกธุรกิจลดกำลังการผลิตเยอะมาก แต่การบริโภคไม่ได้ชะลอตัวมาก ซึ่งภาพโดยรวมเจพี มอร์แกนมองว่าเริ่มฟื้นแล้ว ดูได้จากเครดิตสเปรดในตราสารหนี้เริ่มแคบลง แม้จะไม่แคบลงมาก ส่วนตลาดหุ้นตอนนี้ถึงปลายปีนี้ก็ไปได้มีโอกาสปรับตัวได้อีก 20%

อย่างนายใหญ่เจพี มอร์แกน ที่มาพบลูกค้าในไทยเมื่อเร็วๆ นี้ประมาณ 30 กว่ารายมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้น แต่ไม่ใช่ V เชฟ โดยมองว่าแบงก์ต่างๆ ในสหรัฐสามารถเพิ่มทุนได้ ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น อย่างเจพีฯ เองเพิ่มทุนได้ก็มีซื้อกิจการหนึ่งเข้ามา คิดว่าจากนี้ไป สหรัฐอเมริกาไม่น่าจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์อะไรอีก แต่ยุโรปไม่แน่ใจ เพราะมาตรฐานบัญชีของสถาบันการเงินเขาไม่เหมือนของสหรัฐ

0 ทำไมยังมีบางคนมองเศรษฐกิจติดลบ ยังน่ากลัวอยู่

ตอนนี้ ในสหรัฐตัวเลขหลักๆ ที่ไม่ดีคือ อัตราว่างงานที่ยังไม่ฟื้น แต่การใช้จ่ายการบริโภคดีขึ้น อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจเริ่มดีขึ้นมาก ปีที่แล้วมีตัวเลขเฉลี่ยเดือนละ 27,000 ล้านเหรีญสหรัฐ ถือว่าเยอะ แต่ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแนวโน้มน่าจะลดลง ทำให้เครดิตสเปรดของตราสารหนี้เริ่มแคบลง แต่ก็ยังมีพูดกันถึงเรื่อง comercial realestate loans ที่กังวลจากปัญหาซับไพรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อาจจะเป็นหนี้เสียอีกระลอกประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ที่ตรวจสอบกันภายในเจพี มอร์แกนไม่ได้มองภาพจะแย่ลงไปอีก ส่วนเอ็นพีแอลส่วนบุคคล ตัวนี้ยังแย่อยู่ เท่าที่ปรากฏยังมีการหยุดชำระหนี้ของรายย่อยอยู่ แต่ปีหน้าน่าจะดีขึ้นได้บ้างจากปีนี้ที่แย่มากด้านลูกค้ารายย่อย แต่โดยรวมที่เห็นแนวโน้มสินเชื่อภาคธุรกิจ เริ่มมีการทบทวนปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามราคาน้ำมันโลก ปิโตรเคมีก็เริ่มกระเตื้องขึ้น ตอนนี้ในแง่กลุ่มแบงก์ ทางเจพี มอร์แกนให้น้ำหนักลงทุนเพิ่มอยู่ จากช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มแบงก์ถูกขายออกไปเยอะมาก แม้แต่แบงก์พาณิชย์ไทยเองที่มีฐานะแข็งแกร่งก็ยังถูกขายออกจำนวนมาก

0 ทำไมดิ อีโคโนมิสต์มองเศรษฐกิจไทยโตถึง 6%

ดิ อีโคโนมิสต์มองบนพื้นฐานที่แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 กู้เงินได้ และออกโปรเจ็กต์ได้ ซึ่งรัฐบาลจะกู้เงิน 2 ก๊อก คือ เป็นเงินกู้ฉุกเฉินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เพื่อมาชดเชยขาดดุลงบฯปี 2552 อีกส่วนประมาณ 2 แสนล้านบาทจะนำมาลงทุนโครงการต่างๆ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะออกได้เร็วหรืออย่างช้าไม่เกิน 6 เดือน ขณะที่แบงก์ก็มีสภาพคล่องเหลือ ฐานเงินทุนก็สูง เรียกว่ามีหน้าตักอยู่ ที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอี หรือกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม เพราะมองว่ายังมีความเสี่ยง แต่ถ้าเป็นพวกบริษัทใหญ่ พวกตั้งโรงงาน ถ้าเป็นลูกค้าชั้นดีก็ได้สินเชื่อในราคาถูก (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินเชื่อรายย่อย ก็ยังพอมีบ้างเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน ตอนนี้ทั้งแบงก์ไทยและแบงก์ต่างประเทศลงมาแข่งกันอุตลุดน แต่สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตแบงก์ก็ปล่อยลดลงไปมาก ผมคิดว่าปีหน้าน่าจะดีขึ้น ที่ผ่านมาภาคเอกชนไม่ได้กู้เงินมาก ดังนั้นจึงไม่น่าห่วงเรื่องสภาพคล่องว่าจะตึงตัว ตอนนี้แบงก์มีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากไม่ถึง 100% แต่คิดว่าในปี 2001 (พ.ศ.2554) อาจจะเริ่มเห็นสภาพคล่องเหือด แต่ถึงตอนนั้น เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ตลาดต่างประเทศก็น่าจะเปิด และรัฐบาลอาจออกไปกู้ต่างประเทศได้บ้าง เอกชนก็อาจไปกู้ต่างประเทศเช่นเดียวกัน และสาเหตุที่ตอนนี้ทุกคนกู้ในประเทศเพราะต้นทุนต่ำกว่าการกู้จากต่างประเทศค่อนข้างมากถึง 2-3%

0 มองว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อไหร่

ทางเจพี มอร์แกน มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาเท่าของเดิมได้ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี คือ ปี 2011 (พ.ศ.2554) และไม่น่าจะมีใครล้มอีก ทางสหรัฐก็ไม่คิดว่าจะมีใครที่มีปัญหาอีก คิดว่าแนวโน้มของสหรัฐดูดีขึ้น ส่วนยุโรปยังไม่แน่ ประเทศจีนยังดูโอเคอยู่จากเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้สูง 7% มีการลงทุนต่างๆ ภาคการผลิตยังขยายตัวดี และเขายังคุมปัญหาสถาบันการเงินได้ แต่ญี่ปุ่นอาจจะไม่ดีนัก

ตอนนี้ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา แบงก์เริ่มมีการทำธุรกรรมมากขึ้น ความรู้สึกของคนมองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้น แต่คงยังไม่กลับมาทันที ประกอบกับหลังวิกฤตการเงินปี 2540 ภาคธุรกิจมีหนี้น้อย และปัจจุบันแบงก์ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเยอะ จากวิกฤตโลกที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไทยเลยโชคดีมีหนี้น้อย ธนาคารพาณิชย์มีฐานะแข็งแกร่ง สภาพคล่องเหลือเยอะ 1.4 ล้านล้านบาท แต่ในส่วนของรัฐบาลที่ออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกู้เงิน 8 แสนล้านบาท ผมก็ยังมองว่ากู้เยอะไป เราจะใช้คืนหนี้เงินกู้อย่างไร ยังเป็นคำถามอยู่

ทั้งนี้ แพ็กเกจภาครัฐที่ลงทุนผ่านโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (Stimulus Package 2 : SP2) นั้น ทางดิ อีโคโนมิสต์มองว่า แพ็กเกจนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโตได้ 6% แต่อย่างไรก็ตาม หากถามว่า โครงการที่รัฐทำนั้น มีโครงการไหนที่จะสร้างรายได้กลับมาให้เห็นได้บ้าง ยังไม่มีความชัดเจน ถ้าดูสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเป็น 60% ก็เยอะเหมือนกัน แต่ว่าเป็นหนี้เงินบาทจึงไม่น่าห่วงมาก เพราะอย่างเลวร้ายสุด รัฐบาลก็ออกพันธบัตรมาขาย ซึ่งกู้ในรูปเงินบาท มีความเสี่ยงน้อยเมื่อเทียบกับการกู้ดอลลาร์

เท่าที่ผมได้คุยกับคนในรัฐบาลก็บอกว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีทางเลือกจริงๆ น่าเห็นใจเหมือนกัน สิ่งที่เป็นห่วงคือรัฐบาลกู้เยอะ แล้วโครงการต่างๆ พวกนี้ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ด้วยดีภายใต้รัฐบาลผสม ผมอยากเห็นรัฐบาลช่วยคนตกงานจริงๆ รัฐบาลควรจะสร้างข้อมูลออกมาให้ชัดเจน คนที่ไม่มีที่อยู่มีกี่คน ส่งลูกไม่ได้มีกี่คน กลุ่มพวกนี้ควรได้รับการช่วยเหลือก่อน เพราะเขาเดือดร้อนจริงๆ ขณะที่มาตรการแจกเงิน บางคนที่ไม่ได้เดือดร้อนก็ยังได้เงินส่วนนี้

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบ 2 ถ้ารัฐบาลสามารถกระตุ้นภาคท่องเที่ยวให้มากกว่านี้จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างรวดเร็วที่สุดในภาวะที่เราต้องการ กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว

จากที่ได้พูดคุยกับนักธุรกิจ บอกว่าสถานการณ์ตอนนี้ โรงแรมในภูเก็ตมีอัตราเข้าพักไม่ถึง 20% และราคาค่าห้องพักจากราคาหมื่นกว่าบาทตอนนี้ลดลงเหลือไม่กี่พันบาท รวมทั้งร้านค้า ร้านอาหาร รถเช่า ร้านขายของที่ระลึกต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว ปิดตัวกันอุตลุด รัฐบาลน่าจะเดินสายโรดโชว์ประเทศไทยดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทย เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามา มีการใช้จ่ายทันที ก็ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้เร็ว ดีกว่าการทำโครงการลงทุนต่างๆ ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นรายได้เกิดขึ้น

อย่างทางเจพี มอร์แกนใหญ่ จะมีจัดเทรนนิ่งพนักงานทโลกทุกปีอยู่แล้ว บางทีเขาก็จะเลือกประเทศไกลๆ เช่น มุมไบ ฯลฯ ปีนี้ผมก็เสนอให้มาจัดที่กรุงเทพฯ เพราะค่าโรงแรมเราก็ถูก สถานที่เที่ยวในไทยก็มีหลายแห่งที่น่าไป แพ็กเกจท่องเที่ยวก็ถูก ซึ่งทางเจพีฯ ก็โอเค ผมว่ารัฐบาลเราควรจะมาดูเรื่องพวกนี้ให้มาก ถ้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายในไทยได้ก็สร้างรายได้ แต่ตอนนี้ก็เห็นใจรัฐบาลทำอะไรก็ลำบาก เพราะเป็นรัฐบาลผสม เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เวลานี้ถ้าพูดถึงการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาในแถบบ้านเรา พวกนี้ก็จะไปที่เวียดนาม อินโดนีเซีย ก่อนจะมาไทย

0 นักลงทุนต่างชาติมองการเมืองไทยอย่างไร

ตอนนี้ต่างชาติมองประเทศไทยติดลบเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง เขากลัวตั้งแต่หลังปิดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้น พอมีรัฐบาลผสมการทำงานก็ทำได้ช้าและกลัวสัญญาอาจไม่เป็นตามสัญญาที่ตกลงกันไว้หรือจะทำโครงการอะไรก็จะช้ามาก ต่างกับรัฐบาลของอินโดนีเซีย เวียดนาม หากมีปัญหาตรงจุดไหนเขาจะเร็วมากและมีความคล่องตัวกว่า การลงทุนโครงการสาธารณูปโภคก็เร็ว เพราะฉะนั้นถ้าไทยไม่แก้ระบบการเมือง วิธีปฏิบัติงาน การออกกฎหมายช้า ต่อไปก็จะไม่มีใครกล้าตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย

เท่าที่ได้คุยกับนักกฎหมาย บอกว่าตอนนี้ประเทศไทยเหมือนกับประเทศอังกฤษในยุคมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีเลย ที่มีเอ็นจีโอ กับชนขั้นแรงงานจับมือกัน ภาคเอกชน operate ยากมาก ถูกต่อต้านง่าย

ลูกค้าเจพี มอร์แกน ก็บอกเบื่อ การเมืองไทยถอยหลัง ผลจากที่การเมืองไม่มีเสถียรภาพ เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว การผลักดันทุกอย่างมันช้าจริงๆ ภาคเอกชนก็ลำบากในการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ถ้าดูโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความพร้อมทั้งแง่กฎหมายและระบบการเงิน เราแข็งแรงกว่าอินโดนีเซีย ธนาคารแห่งประเทศไทยสร้างสถาบันการเงินไทยแข็งแรง คุณภาพงบการเงินของอินโดนีเซียและเวียดนามยังสู้ไทยไม่ได้ ลูกค้าเรายังสนใจไทยที่ว่ามีพื้นฐานดี และมีแนวโน้มที่ดี ถ้าฟื้นตัวก็จะไปได้เร็ว แต่ก็ติดที่ปัญหาการเมืองตลอด

@ แล้วต่างชาติมองการลงทุนในไทยอย่างไร

การลงทุนในระยะยาวชะลอตัวมาก พวกสร้างโรงงานหรืออะไรที่เป็นลงทุนโดยตรง (FDI) แต่ถ้าเป็นลงทุนในตลาดทุน ก็จะมีเงินไหลเข้ามาตามกระแสตลาดหุ้นเกิดใหม่ ซึ่งไทยได้รับอานิสงส์นี้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติยังมียอดซื้อสุทธิอยู่ (ณ 13 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 15,970.01 ล้านบาท ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ที่ 562.55 จุด) เจพี มอร์แกนคาดว่าตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปถึงปลายปีนี้ยังปรับขึ้นไปได้อีก 20%

sentiment การลงทุนจะดีขึ้นตามภาวะตลาดโลก แต่ว่ายังไม่เห็นโอกาสที่เงินจะไหลเข้าหนักๆ มาที่เมืองไทย ส่วนใหญ่เงินลงทุนต่างชาติจะไหลไปที่อื่นก่อน ไทยจะเป็นประเทศหลังๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook