ทำไม “ผ้าอนามัย” แจกฟรีไม่ได้

ทำไม “ผ้าอนามัย” แจกฟรีไม่ได้

ทำไม “ผ้าอนามัย” แจกฟรีไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับใหม่ ระบุให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” เป็นเครื่องสำอาง หรือจัดเป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย” ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างอีกครั้ง และดัน #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ให้ติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ในขณะนี้ โดยประเด็นเรื่อง ”ผ้าอนามัย” ถือเป็นหัวข้อถกเถียงบนโลกออนไลน์มาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องราคาผ้าอนามัยที่ผู้หญิงแต่ละคนต้องแบกรับและสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ แม้ประเทศไทยจะมีร่างพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ที่รวมไปถึงการเป็นประจำเดือนซึ่งเป็นภาวะปกติของร่างกายผู้หญิง แต่ผ้าอนามัยกลับไม่ถูกจัดเป็นบริการด้านสุขภาพที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับ ดังนั้น ประเด็นปัญหาดังกล่าวอาจจะกำลังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมผ่านสุขภาวะทางเพศที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

อุปกรณ์ดูแลสุขภาวะทางเพศของผู้หญิง อย่าง “ผ้าอนามัย” สามารถแจกฟรีได้ไหม และแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรเป็นอย่างไร จึงเป็นคำถามที่ควรหยิบยกมาถกเถียงและพูดคุยกัน และ Sanook ก็ขอร่วมหาคำตอบเรื่องนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมผ่านเรื่องประจำเดือนและผ้าอนามัย

ผ้าอนามัย ของใช้ประจำเดือน

นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ รองประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า อนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง คือ ภาวะความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและจิตใจของผู้หญิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยรวมไปถึงการมีประจำเดือน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การมีบุตร ตลอดจนการเข้าสู่วัยทอง และภาวะของโรคมะเร็ง ทั้งนี้ อนามัยเจริญพันธุ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพทางกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมทางสังคม ซึ่งอนามัยเจริญพันธุ์มีความสำคัญในแง่ของสิทธิทางเพศ และจัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้

แม้ประจำเดือนจะถูกจัดเป็นภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ แต่ “ผ้าอนามัย” สิ่งของจำเป็นที่ผูกโยงอยู่กับการเป็นประจำเดือนกลับไม่ถูกจัดเป็นบริการทางด้านสุขภาพทางเพศที่ผู้หญิงสามารถขอรับได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กลับถูกจัดเป็น “สินค้า” ที่ผู้หญิงทุกคน “จำเป็น” ต้องจ่ายเพื่อให้ “มีใช้” อย่าง “ไร้ทางเลือก”

“ตอนนี้ผ้าอนามัยในประเทศไทย เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เพียงอย่างเดียว ประเด็นก็คือ ที่สินค้าแพงขึ้นจากราคาของผู้ผลิต ก็เพราะโดนเก็บภาษีเพิ่มอีก 7% แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องมองว่า 7% นั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมด้วยหรือเปล่า คือเราต้องคิดว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกได้หรือไม่ ผู้หญิงทุกคนต้องตอบได้ว่า ผ้าอนามัยนั้น เราไม่มีทางเลือก เราต้องใช้ มันจึงไม่ใช่สินค้าปกติ แต่เป็นสินค้าจำเป็น ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายเรื่องภาษีผ้าอนามัยของประเทศไทยให้ฟัง

ดร.เนื้อแพรยังชี้ว่า สินค้าพวกผ้าอนามัยตามท้องตลาดจะมีราคาค่าโฆษณาที่ถูกเพิ่มเข้ามา เพราะเมื่อเป็นสินค้ามียี่ห้อ ต้นทุนการผลิตจะรวมไปถึงต้นทุนการผลิตจริง ๆ และค่าโฆษณา

นอกจากนี้ ผ้าอนามัยยังถูกจัดเป็น “เครื่องสำอาง” ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 โดยคุณจิตติมา ภาณุเตชะ นักกิจกรรมอิสระ ชี้ว่า ผ้าอนามัยถูกจัดเป็นหนึ่งในสินค้าที่เรียกว่า Pink tax (ภาษีสีชมพู) หรือเป็นภาษีที่เก็บจากสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความสวยความงาม และมักเป็นสินค้าสำหรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ขณะที่ ดร.เนื้อแพรอธิบายเสริมว่า เมื่อพิจารณาสินค้าชนิดเดียวกัน แต่เป็นสินค้าที่ขายให้กับผู้หญิง จะมีราคาที่เพิ่มสูงมากกว่าสินค้าของผู้ชาย และผู้บริโภคก็ยังไม่ตระหนักถึงปัญหาในส่วนนี้

ทำไม “ผ้าอนามัย” ฟรีไม่ได้

ขณะที่การเป็นประจำเดือนจัดอยู่ในภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีกฎหมายรองรับและผู้หญิงทุกคนในประเทศมีสิทธิ์ที่จะเข้ารับบริการเหล่านั้น ประกอบกับปัจจัยทางด้านราคา จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า เหตุใดผ้าอนามัยจึงไม่สามารถจัดเป็นบริการทางด้านสุขภาพที่ขอรับได้ฟรี ประเด็นนี้ รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า การบริการทางสุขภาพของภาครัฐไม่จำเป็นต้องแจกฟรีเสมอไป

“ถึงแม้การเป็นประจำเดือนและการใช้ผ้าอนามัยจะเป็นส่วนหนึ่งของอนามัยเจริญพันธุ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เหมือนกับการวางแผนครอบครัวที่เมื่อก่อนมีการฉีดยาคุมและฝังยาคุมฟรี เพราะประเทศไม่ต้องการให้ประชากรเพิ่ม แต่เมื่อช่วงหนึ่ง ประชากรของประเทศลดลง บริการคุมกำเนิดจึงเปลี่ยนเป็นบริการที่เสียเงิน” รศ.นพ.อรรณพอธิบาย

ขณะที่นพ.พิษณุ มองว่า ผ้าอนามัยเป็นของใช้ส่วนตัวมากกว่า จึงไม่ควรเข้าไปก้าวล่วง และด้วยความที่ประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกาย การจ่ายเงินเพื่อซื้อผ้าอนามัยมาใช้จึงไม่ใช่เรื่องของการผลักภาระ เช่นเดียวกันกับพยาบาลวิชาชีพท่านหนึ่งที่ชี้ว่า เหตุผลที่ไม่สามารถแจกผ้าอนามัยฟรีได้ เป็นเพราะผ้าอนามัยถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้หญิงเมื่อเป็นประจำเดือน และไม่ได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับที่กำหนดว่าเมื่อไรที่ผู้หญิงเป็นประจำเดือน ผู้หญิงจะต้องใช้ผ้าอนามัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้หญิงยังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถใช้รองรับเลือดประจำเดือนได้ เช่น ผ้า ถ้วยอนามัย หรือผ้าอนามัยซักได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามิติของการส่งเสริมและดูแลสุขภาพทางเพศ จะพบว่า “ถุงยางอนามัย” กลับถูกจัดให้เป็นสวัสดิการของรัฐที่ช่วยในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาเรื่องสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ โดยมีนโยบายการแจกถุงยางอนามัยฟรีให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งในประเด็นนี้ พยาบาลท่านนี้มองว่า หน้าที่หลักของถุงยางอนามัยคือการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในขณะที่ผ้าอนามัยไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นเดียวกับนพ.พิษณุ ที่ระบุว่าถุงยางอนามัยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคและป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ประจำเดือนเป็นภาวะปกติของร่างกาย จึงยังไม่มีงบประมาณสำหรับส่วนนี้

สำหรับมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ดร.เนื้อแพร ชี้ว่าสิ่งที่ต้องให้ความสนใจก็คือการแจกฟรีจะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรหรือไม่

“ทำไมไม่ทำผ้าอนามัยแจกเหมือนนโยบายถุงยางอนามัยแจกฟรี พอเป็นของแจกฟรี มันเลยกลายเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่านักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จะถามต่อว่า เมื่อเป็นสินค้าแจกฟรี จะมีคนใช้หรือเปล่า ซึ่งคนส่วนใหญ่จะคิดว่าของแจกฟรี โดยเฉพาะของแจกฟรีจากรัฐบาลนั้น เป็นสินค้าคุณภาพต่ำ เพราะฉะนั้นคนทั่วไปอาจจะไม่ใช้ก็ได้ มันก็จะเป็นประเด็นที่ว่า ถ้าแจกฟรีแล้วมันจะกลายเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปแบบไม่ถึงจุดมุ่งหมาย เพราะสุดท้ายแจกฟรี คนก็ไม่เอาอยู่ดี ก็ไปซื้อของที่บริษัทเป็นคนผลิตอยู่ดี”

แม้เป้าหมายของอุปกรณ์ดูแลสุขภาพทางเพศทั้ง 2 ชนิดนี้จะแตกต่างกัน และมีเหตุผลที่เข้ามารองรับนโยบายของถุงยางอนามัยและผ้าอนามัย แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ การให้บริการทางด้านสุขภาพทางเพศที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องประจำเดือนของผู้หญิง ถือเป็นความเหลื่อมล้ำหรือไม่

ความเหลื่อมล้ำและประจำเดือน

หากมองย้อนกลับไปที่นโยบายของภาครัฐที่ออกมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้หญิง เราจะพบช่องว่างของการแก้ปัญหาที่เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจของผู้ออกนโยบาย และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

“ต้องถามว่าใครเป็นคนออกนโยบาย ใครเป็นคนผลักดัน จริง ๆ แล้วสังคมของเรามันมีปัญหาอยู่เยอะแยะมากมาย เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ออกนโยบายจะมองเห็นปัญหานั้นหรือเปล่า ถ้าผู้ออกนโยบายส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เขาก็อาจจะมองไม่เห็นปัญหา เพราะเขาไม่ได้โตขึ้นมากับปัญหาที่เขามองไม่เห็น” ดร.เนื้อแพรกล่าว

เช่นเดียวกับคุณปิยภา เมืองแมน ผู้จัดการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ที่สะท้อนว่าอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้การเรียกร้องต่อสู้เรื่องผ้าอนามัยในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ผู้ชายเป็นผู้กำหนดนโยบาย และมองข้ามเรื่องของผู้หญิงไป ขณะที่ผู้หญิงที่เข้าไปทำงานในระดับนโยบายก็ต้องปรับการทำงานให้เป็นแบบผู้ชาย

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาผ้าอนามัยยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านรูปแบบของการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายที่ไม่ครอบคลุมความต้องการของคนในสังคม พร้อมกับวาทกรรมเรื่องเพศที่เข้ามามีบทบาทกับความเชื่อ ความคิด และทัศนคติของคนในสังคม จนทำให้ปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้หญิงถูกมองข้ามไป กลายเป็นความเพิกเฉยและมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาในที่สุด

“เมื่อไม่มีนโยบายเข้ามาคุ้มครองดูแล ผ้าอนามัยจึงถูกปล่อยให้เป็นไปตามกำลังซื้อของปัจเจก คนมีเงินมากก็ซื้อได้ไม่มีปัญหา สมมติว่าทุกวันนี้เราเงินเดือนหมื่นห้า ซื้อผ้าอนามัยเดือนละ 300 – 400 บาท มันก็เหมือนไม่กระทบกระเทือนเรา แต่ถ้าเราไปพูดถึงเด็กที่ต้องกู้เงินเรียน ต้องอยู่หอพัก ได้ค่าอาหารสัปดาห์ละ 300 – 400 บาท อาทิตย์ไหนเป็นประจำเดือน ก็จบกัน ไม่ต้องกินข้าว” คุณจิตติมาอธิบาย

คุณจิตติมายังอธิบายต่อว่า เรื่องประจำเดือนและผ้าอนามัยที่ถูกหยิบมาถกเถียงบนโลกออนไลน์ สะท้อนว่าสังคมไทยไม่เข้าใจประเด็นเรื่องโอกาสทางสังคม ความไม่เป็นธรรม และไม่ได้มองว่าประจำเดือนก็ควรถูกจัดเป็นสวัสดิการเช่นเดียวกัน โดยคุณจิตติมายกตัวอย่างเรื่องราวของการทำงานของผู้หญิงและผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงต้องทำงานเพิ่ม 1 วันเพื่อเอาเงินไปซื้อผ้าอนามัย ผู้ชายสามารถเก็บเงินจากการทำงานเพิ่มในวันนั้นได้ นี่สะท้อนให้เห็นราคาที่ผู้หญิงต้องจ่ายโดยที่พวกเธอไม่ได้เลือก ซึ่งปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมทางเพศของไทย ที่ไม่เพียงกดทับและเอาเปรียบผู้หญิงในสังคม แต่ยังทำให้ผู้หญิงถูกมองข้าม ทั้งยังทำให้ปัญหาทางด้านเพศมีความซับซ้อนและทวีรุนแรงมากขึ้น

กลไกผ้าอนามัยของผู้หญิง

เมื่อการผลักดันให้ผ้าอนามัยกลายเป็นสวัสดิการที่รัฐแจกฟรีให้กับประชาชนยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ สิ่งที่นักกิจกรรม นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์เสนอคือการหากลไกบางอย่างที่จะช่วยลดภาระของผู้หญิงในเรื่องผ้าอนามัย เพราะไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่จะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ ดังเช่นในหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มมีนโยบายผ้าอนามัยเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในประเทศ เช่น ประเทศสกอตแลนด์ ที่มีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนและผู้ยากไร้ และประเทศเคนยาที่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยตั้งแต่ปี 2004 พร้อมแจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่ผู้ขาดแคลน

“การจัดผ้าอนามัยเป็นบริการอนามัยเจริญพันธุ์ ก็เป็นจุดที่ดีนะ แต่การจัดเป็นบริการก็ไม่ได้แปลว่ามันต้องฟรี สิ่งที่เราต้องการให้เขามองเห็นก็คือ ควรมีกลไกอะไรก็ตามที่เอื้ออำนวย เพื่อจะให้ผู้หญิงทุกคน ทุกฐานะ สามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ลำบากนัก ไม่ได้แปลว่ารัฐต้องซื้อผ้าอนามัยแจก แต่ต้องมีกลไกอะไรสักอย่าง เพื่อให้ผู้หญิงได้รับผลตรงนี้ ผมว่าการที่มีผ้าอนามัยใช้ก็เป็นการทำให้สุขอนามัยทางเพศ การเจริญพันธุ์ดีขึ้น คือถ้าไม่มีใช้ ก็จะติดเชื้อ หรือถ้าใช้ของไม่ดีก็เกิดผื่นคัน เกิดอะไรตามมาอีกสารพัด” รศ.นพ.อรรณพกล่าว

ขณะที่นพ.พิษณุ ชี้ว่า แม้จะมองว่าผ้าอนามัยเป็นของใช้ส่วนตัว แต่ผ้าอนามัยก็ไม่ควรถูกจัดประเภทเป็นเครื่องสำอาง และต้องมีการควบคุมราคา เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงคือต้องสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยที่ราคาไม่แพง สะอาด และไม่จำเป็นต้องมีสี หรือมีกลิ่น เช่นเดียวกับคุณปิยภา ที่มองว่า การแก้ปัญหาผ้าอนามัยควรพุ่งเป้าหมายไปที่การลดภาษีผ้าอนามัย หรืออาจยกเลิกภาษีไปเลยเพื่อให้ผู้หญิงทุกคน ทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเองก็มีหลายระดับ และมีศักยภาพทางการเงินที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราไม่สามารถละเลยผู้บริโภคที่มีกำลังจ่าย หรือตัดการแข่งขันของภาคเอกชนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งดร.เนื้อแพรได้อธิบายเอาไว้ว่า

“ผู้บริโภคมีหลายระดับ ทั้งกลุ่มที่มีเงินเพียงพอ สามารถเลือกได้ว่า ไม่ใช่แค่การใช้ผ้าอนามัย แต่สามารถเลือกใช้ยี่ห้อไหน รุ่นไหนก็ได้ กับกลุ่มรองลงมา ที่มีทางเลือกพอประมาณ สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะซื้อหรือไม่ และอีกกลุ่มที่มองว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้มันเกินตัว เขาไม่สามารถเลือกซื้อสินค้ามาให้ได้ด้วยตัวเอง ถ้าจะทำให้เหมือนนโยบายถุงยางอนามัย ก็เพื่อคนกลุ่มล่างสุด ซึ่งถ้าดูในนโยบายของมัน คนกลุ่มนี้ก็อาจจะเป็นนักเรียนก็ได้ แต่ว่าการจะไปตัดตัวเลือกของคนกลุ่มบนเลย ก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเปลืองงบประมาณ คนกลุ่มนี้ถึงไม่ช่วยก็ซื้อได้อยู่แล้ว พอไปตัดไม่ให้มีทางเลือก ก็เหมือนเราไปตัดไม่ให้มีการแข่งขันจากเอกชน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ก็จะบอกว่า การแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เกิดอะไรใหม่ ๆ ที่ดีกับคุณภาพชีวิต

ปัญหาผ้าอนามัยเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางเพศในสังคมที่กดทับผู้หญิงอย่างแนบเนียน และไม่เคยเกิดการตั้งคำถาม นี่คือความรุนแรงต่อผู้หญิงอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นความรุนแรงระดับโครงสร้างที่ยังไม่ถูกทำให้ปรากฏเห็น และคนในสังคมก็ละเลย หรือถูกทำให้มองไม่เห็นปัญหานี้ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รัดตรึงผู้หญิงให้ติดอยู่กับภาระที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ด้วยเหตุนี้ ปัญหาผ้าอนามัยจึงเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเท่าเทียมของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

การทำงานเรื่องผ้าอนามัย คือ การเห็นปัญหาถึงรากเหง้า แล้วก็ช่วยกันออกแบบสังคมที่มีความละเอียดอ่อน และคำนึงถึงประเด็นเรื่องสิทธิเรื่องทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์” คุณจิตติมากล่าวทิ้งท้าย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook