ค้าชายแดนไทย-กัมพูชาฉลุย 6 เดือนแรกยอดค้าด้านจ.ตราดทะลุหมื่นล้าน ทางบกผ่านถนนสาย48ยังมีอุปสรรค

ค้าชายแดนไทย-กัมพูชาฉลุย 6 เดือนแรกยอดค้าด้านจ.ตราดทะลุหมื่นล้าน ทางบกผ่านถนนสาย48ยังมีอุปสรรค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดตราดยังแกร่ง 6 เดือนแรกกวาดยอดแล้วหมื่นล้าน คาดปีนี้มียอดการค้าไม่น้อยกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ด้านการค้าทางบกผ่านถนนสาย 48 เกาะกง- สะแรอัมเปิล ยังไม่โตเท่าที่คาด แต่พอมีแนวโน้มที่ดี เผยเหตุยังติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบของกัมพูชา

นายทวีวัฒน์ เมฆธวัชชัยกุล ผู้ช่วยหัวหน้าด่านศุลกากรคลองใหญ่ จังหวัดตราด เปิดเผยว่า

การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดตราดที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ครึ่งแรกปี 2552(มกราคม-มิถุนายน)คาดว่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 9,000-10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมามียอดสั่งสินค้าสูงถึงเดือนละ 1,600-1,700 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงกว่าทุก ๆ เดือน อย่างไรก็ตามเดือนหรือ 2 เดือนข้างหน้าจำนวนการสั่งซื้อสินค้าจะลดลงบ้าง เนื่องจากการส่งสินค้าทางน้ำจะเดินทางไปลำบาก เพราะเป็นช่วงมรสุมเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กจะไม่สามารถเดินทางไปได้ จะมีเฉพาะเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะเดินทางไปได้

ส่วนการขนส่งทางบกผ่านเส้นทางสาย 48(เกาะกง- สะแรอัมเปิล) ยังสามารถเดินทางไปได้ แต่ยังมีสินค้าจำนวนไม่มากนักที่ใช้เส้นทางบก มีเพียงสินค้าที่เป็นสินค้าเน่าเสียง่าย เช่น ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาเรื่องระเบียบหรือกฎหมายก็เป็นอุปสรรคเช่นกัน

การค้าชายแดนด้านจังหวัดตราดไม่มีผลกระทบจากเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ(ไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร) ซึ่งครึ่งปีแรกที่ผ่านมามูลค่าการค้ายังสูงถึงระดับ 9,000-10,000 ล้านบาท โดยสินค้าหลักยังเป็นน้ำตาลทรายมีมูลค่า 3,000-4,000 ล้านบาทที่ต้องขนส่งทางน้ำในอำเภอคลองใหญ่ คาดว่ายอดการค้าขายทั้งปีจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท ขณะที่มีมูลค่านำเข้าประมาณ 100 ล้านบาท จึงไม่มีผลกระทบแน่นอน เพราะเมื่อปีที่แล้วมูลค่าการค้าก็ไม่ได้ตก หลังมีการปะทะกันของทั้ง 2 ฝ่าย

นายทวีวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดตราดจะได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้น ส่วนการขนส่งสินค้าทางบก(ถนนสาย 48) ปริมาณการขนส่งยังน้อย เพราะว่ามีปัญหาในเรื่องค่าภาษีที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ พ่อค้าจึงไม่กล้าที่จะส่งออกไปทางถนน แต่ในอนาคตจะดีขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการขนส่งสินค้ามากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะผลไม้ สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ปัญหาก็คือ กัมพูชามีระเบียบห้ามนั่งรถยนต์พวงมาลัยขวาเข้าประเทศ ทำให้การขนส่งสินค้าจากจังหวัดตราด ต้องขนถ่ายจากรถยนต์ของไทยสู่รถยนต์ของกัมพูชา ทำให้ไม่สะดวกและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

นายเฉลียว อัมพิน เจ้าของบริษัท กิตติยจาขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาขนส่งน้ำตาลทรายเข้าสู่ประเทศกัมพูชาเพียงรายเดียวของประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนยังไม่ได้ที่จะใช้รถยนต์ขนส่งไปทางบก เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาในเรื่องระเบียบและข้อบังคับที่กัมพูชายังไม่มีความแน่นอนในเรื่องของการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ต้องรอให้มีความชัดเจนก่อน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วการขนส่งน้ำตาลทรายลงท่าเรือก็มีต้นทุนที่ถูกกว่าแม้จะเสียเวลาไปบ้างแต่การขนส่งทางน้ำยังสะดวกกว่า

ขณะที่นางดวงใจ จันทร เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตราด และเจ้าของบริษัท ซิง ซิง จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้เข้ากัมพูชามากกว่า 4,000 ตันในปี 2552 กล่าวว่า การขนส่งสินค้าทางบกสู่กัมพูชาโดยผ่านเส้นทางสาย 48 เริ่มเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการธุรกิจของกัมพูชา โดยการซื้อสินค้าจากจังหวัดตราด เช่น สินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าวัตถุ ดิบต่าง ๆ รวมทั้งผลไม้ และวัสดุก่อสร้างบางประเภท(ปูนซีเมนต์)เข้าไปทางบกจะสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาไม่มากสินค้าไม่เสียหาย แต่ปัญหา ก็คือ รถยนต์ที่จะนำสินค้าเข้าไปต้องเป็นรถยนต์พวงมาลัยซ้าย เพราะหากนำรถยนต์พวงมาลัยขวาเข้าไปจะผิดกฎหมาย

ทางผู้ประกอบการคนไทยอาจจะต้องมีปัญหาเรื่องต้นทุนสินค้าที่ต้องเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจจะต้องเสียภาษีนำเข้าตามระเบียบของกรมศุลกากรของกัมพูชาที่จะแตกต่างจากประเทศไทยโดยจะคิดคันละ 2,000 -2,500 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ และ 7,000บาทสำหรับรถยนต์ 6 ล้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook