ขสมก.ยันเครื่องกรองอากาศบนรถเมล์ ใช้งานได้จริง ด้าน อ.เจษฎาสวนกลับ 5 ข้อ

ขสมก.ยันเครื่องกรองอากาศบนรถเมล์ ใช้งานได้จริง ด้าน อ.เจษฎาสวนกลับ 5 ข้อ

ขสมก.ยันเครื่องกรองอากาศบนรถเมล์ ใช้งานได้จริง ด้าน อ.เจษฎาสวนกลับ 5 ข้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ชี้แจงกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการบางท่านในเชิงลบเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารของ ขสมก.เป็นเรื่องลวงโลกเช่นเดียวกับเครื่อง GT200 ว่าเรื่องดังกล่าวกระทรวงคมนาคมมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จึงได้ทดสอบการติดตั้งเครื่องกรองอากาศต้นแบบบนหลังคารถโดยสารของ ขสมก.ขณะรถโดยสารวิ่งให้บริการประชาชน

โดยการทำงานของเครื่องต้นแบบใช้หลักการกวาดอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งแขวนลอยอยู่บนถนนที่มีการจราจรหนาแน่นในกรุงเทพมหานคร ในระดับความสูงไม่เกิน 5 เมตร เมื่อรถวิ่งอากาศจะปะทะเข้าหน้ารถ และผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติ ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถกรองอากาศได้ โดยดูดลมเข้าเครื่องกรองขณะรถขับเคลื่อนอีกทั้งไส้กรองอากาศที่ใช้เป็นไส้กรองที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ แต่มีราคาถูกสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ และกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

รถโดยสารที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่มีหน้ากว้าง 0.5 ลูกบาศก์เมตร บนหลังคาจะสามารถกวาดอากาศเข้าเครื่องกรองได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว เมื่อรถโดยสารวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทางยาว 20 กิโลเมตร ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ผู้ใหญ่ 1 คนจะสูดอากาศหายใจเฉลี่ย 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นรถโดยสาร 1 คันจะสามารถกรองอากาศให้กับประชาชนที่อยู่บนถนนได้ถึง 20,000 คน    

และจากการทดลองนำรถโดยสารที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถมาวิ่งให้บริการประชาชนเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ขณะที่รถวิ่งผลการวัดค่า PM2.5 ในอากาศก่อนเข้าเครื่องกรองมีค่าอยู่ในระดับ 48-52 คุณภาพอากาศปานกลาง ในขณะที่อากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาแล้วมีค่าอยู่ในระดับ 1-5 คุณภาพอากาศดีมาก

อย่างไรก็ตามการทดลองนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานจากหลายหน่วยงาน หากการทดลองต่อเนื่องได้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ของสำนักวิศวกรรมยานยนต์กรมการขนส่งทางบกต่อไป

 "อ.เจษฎา" แจง 5 ข้อ โต้กลับ จี้ ขสมก.

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์โต้ตอบในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่ทาง ขสมก.กล่าวถึง โดยแจกแจงเป็น 5 ข้อ ดังนี้

  1. ที่ ขสมก.อ้างว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งด่วนเรื่อง PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จึงทดสอบติดตั้งเครื่องกรองอากาศดักฝุ่นขณะรถวิ่งให้บริการนั้น วิธีนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะสาเหตุของฝุ่นดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐานต่ำระดับแค่ยูโร 1 และ 2 ซึ่งมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่ง ขสมก. เองควรเร่งปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ของรถโดยสารของตัวเองให้ดีขึ้น จัดหารถรุ่นใหม่ที่มีเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูงในระดับมาตรฐานที่สูงขึ้น เช่น ยูโร 4 หรือ 5 รวมทั้งใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าด้วย ไม่ใช่พยายามจะหาทางแก้แบบปลายเหตุ
  2. ที่ ขสมก. อ้างว่า เครื่องต้นแบบสามารถกวาดอากาศที่มีฝุ่นบนท้องถนนขณที่การจราจรหนาแน่น โดยอากาศปะทะเข้าหน้ารถ และผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และไส้กรองที่ใช้สามารถกรองฝุ่น PM2.5 แถมมีราคาถูกหาซื้อได้ทั่วไป ทั้งที่ความจริง การที่อากาศเข้าไปในเครื่องกรองได้นั้น ความเร็วของรถต้องสูงเพียงพอ ขัดแย้งกับสภาพการจราจรที่หนาแน่น ทำให้รถเคลื่อนตัวได้ช้า 

นอกจากความเร็วที่มากพอให้อากาศไหลเข้าไปในเครื่องแล้ว อากาศต้องมีแรงดันเพียงพอที่จะทะลุผ่านไส้กรองของเครื่องด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เกิดการกรองขึ้น ทำให้เป็นสาเหตุที่เครื่องฟอกอากาศทั่วไปต้องใช้พัดลมในการดูดอากาศให้เข้าไปในเครื่องด้วยความเร็วที่เพียงพอ และที่ ขสมก. อ้างว่า ใช้หลักการเดียวกับประเทศอังกฤษ และประเทศอินเดีย นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะระบบกรองอากศบนรถประจำทางของประเทศอังกฤษใช้แตกต่างกับที่ ขสมก. ใช้มาก

"โครงการรถเมล์กรองฝุ่น ที่วิ่งทดลองในเมืองเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษนั้น เป็นกิจกรรมรณรงค์ที่จัดทำโดยภาคเอกชน ในการจัดซื้อรถประจำทางรุ่นใหม่ล่าสุด ที่ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานสูงมาก ระดับยูโร 6 ซึ่งปล่อยมลภาวะน้อยมากๆ เพื่อเอามารณรงค์ให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสร้างมลพิษลงได้"

และแม้ว่าทางโครงการจะประชาสัมพันธ์ว่าประสบความสำเร็จอย่างดีในการกรองฝุ่น แต่จริงๆ แล้ว หลังจากทดลองวิ่งไป 100 วันนั้น พบว่าสามารถเก็บฝุ่นได้ปริมาณเพียง 65 กรัม หรือแค่เท่ากับลูกเทนนิส 1 ลูกเท่านั้นเอง ดังนั้น การที่ ขสมก. เอากรณีในสองประเทศนี้มาอ้าง จึงไม่ใช่การอ้างอิงที่เหมาะสมถูกต้อง

  1. ที่ ขสมก.บอกว่าเครื่องกรองอากาศมีหน้ากว้าง 0.5 ลูกบาศก์เมตร (จริงๆ น่าจะเป็นหน่วยตารางเมตรนะ) จะกวาดอากาศได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว ดังนั้น ถ้าคนสูดหายใจเฉลี่ย 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มันจะสามารถกรองอากาศให้คนบนถนนได้ถึง 20,000 คน การคำนวณแบบนั้นเป็นวิธีการที่ผิด เพราะไม่ควรจะวัดจากปริมาณของอากาศที่เข้าเครื่องด้านหน้าของเครื่องกรอง ต้องวัดจากอากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาด้านหลังแล้วว่าได้เป็นปริมาตรเท่าไหร่ ต่างหาก

ปกติแล้ว เมื่อใช้ไส้กรองที่กรองฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่น แบบ hepa filter ปริมาณของอากาศที่ออกมาด้านหลังจะลดลงเป็นอย่างมาก เพราะโดนเส้นใยของแผ่นกรองรวมทั้งฝุ่นที่ติดอยู่บนเส้นใหญ่นั้นกักอากาศเอาไว้ (จึงต้องใช้พัดลมไฟฟ้า ช่วยในการดูดและเป่าลมออกมา) ยิ่งใช้นานเท่าไหร่ อากาศจะยิ่งไม่สามารถออกจากเครื่องกรองมาได้ เนื่องจากแผ่นกรองฝุ่นเกาะหนาแน่นเต็มไปหมดแล้ว ... นั่นคือ การคำนวณอากาศที่จะให้กับคนบนถนนตามที่อ้างมานั้น เกินความจริงไปอย่างมาก

  1. ที่ ขสมก. รายงานผลการลองนำรถวิ่งให้บริการ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ว่า ผลการวัดค่า PM 2.5 ในอากาศก่อนเข้าเครื่องมีค่าอยู่ในระดับ 48-52 ในขณะที่ อากาศที่กรองแล้ว มีค่าอยู่ในระดับ 1-5 (คาดว่า มีหน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5)

การรายงานผลการทดสอบแบบนี้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่แล้ว ยังแสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องการวัดประสิทธิภาพของเครื่องกรองอากาศเป็นอย่างยิ่ง

เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนอ้างว่า ตู้เย็นตู้หนึ่ง สามารถทำให้ทั้งสนามฟุตบอลเย็นได้ โดยการเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปวัดอุณหภูมิที่หน้าประตูตู้เย็นที่เปิดอยู่ ก็จะเห็นว่าวัดค่าอุณหภูมิได้ต่ำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำให้อากาศทั้งสนามเย็นลงแต่อย่างไร

  1. ที่ ขสมก.สรุปคำชี้แจงว่า การทดลองนี้ เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยกระทรวงคมนาคม และ คณะทำงานจากหลายหน่วยงาน ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะดำเนินการขออนุญาตต่อไปกรมการขนส่งทางบก ในฐานะที่ตนเป็นนักวิชาการ และเป็นประชาชนคนนึง ที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลนำไปใช้ในการบริหารประเทศ จึงอยากขอร้องให้นักวิชาการท่านอื่นๆ ที่อยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการทดลองนี้ ให้มีความกล้าหาญทางวิชาการ ที่จะใช้ความรู้ที่ท่านมี ให้ข้อเท็จจริงกับ รมต.กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเจ้าของแนวคิด อย่างตรงไปตรงมา ว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มีความเหมาะสม ในการนำไปใช้การแต่อย่างไร



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook