ฟังความจริงจาก “เกาะลันตา” ในวันเผชิญวิกฤต โควิด-19 ร้ายแรงกว่าสึนามิ

ฟังความจริงจาก “เกาะลันตา” ในวันเผชิญวิกฤต โควิด-19 ร้ายแรงกว่าสึนามิ

ฟังความจริงจาก “เกาะลันตา” ในวันเผชิญวิกฤต โควิด-19 ร้ายแรงกว่าสึนามิ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสียงจาก “ลันตา” ภัย โควิด-19 ชนไฮซีซั่น ทำ 3 จังหวัดท่องเที่ยวพังยับ จีนไม่มา ไร้ยอดจองนักท่องเที่ยวยุโรป ผู้ประกอบการแนะรัฐเดินหน้าสร้างความมั่นใจต่างชาติ จัดมาตรการสินเชื่อเฉพาะพื้นที่

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมของ คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มผู้ประกอบการ 3 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ พังงา เพื่อเก็บข้อมูลการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลพวงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หรือ โควิด-19

จีน อันดับ 1 นักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย

จากรายงานของ Economist Intelligence Unit (EIU) วิเคราะห์ว่า การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้จนถึงไตรมาส 2 ของปี 2021 และจะทำให้ทั่วโลกสูญเสียรายได้ไปถึงประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนนับล้านที่ต้องยกเลิกการเดินทาง และชะลอแผนการท่องเที่ยวออกไปเพื่อความปลอดภัยจากโรค COVID-19

ขณะที่การท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.62 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกว่า 7.6 ล้านคน รองลงมาอันดับ 2 ได้แก่ นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน จำนวน 6.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซียถึง 2.6 ล้านคน และนักท่องเที่ยวลาว 1.2 ล้านคน

ในส่วนของนักท่องเที่ยวจากยุโรป พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 4.3 ล้านคน และจากเอเชียใต้ จำนวน 1.5 ล้านคน เฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย มีจำนวนถึง 1.3 ล้านคน รวมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดประมาณ 26 ล้านคน

ด้านตัวเลขคาดการณ์จากสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  รายงานว่าในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 39.62 ล้านคน ทำรายได้มากถึงประมาณ 1.93 ล้านล้านบาท แต่เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยในไตรมาสแรกปี 2563 เปลี่ยนไป จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นตัวเลขคาดการณ์รายได้ท่องเที่ยวของปี 2563 จากจำนวนนักท่องเที่ยว 40.7 ล้านคน รายได้ 2.05 ล้านล้านบาทจึงน่าจะลดลงอย่างน่าตกใจ

เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ 3 จังหวัดอันดามัน

“3 จังหวัดอันดามันประกอบไปด้วย ภูเก็ต กระบี่ พังงา ถือว่าเป็นกลุ่มจังหวัดที่ทำรายได้ถึง 1 ใน 3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ โดยภูเก็ต เป็น 1 ในจุดหมายของนักท่องเที่ยวจีน นอกเหนือจากจังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

วันนี้เมื่อ โควิด-19 ระบาด ยอดนักท่องเที่ยวจีนตกฮวบ หรือแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน ผู้ประกอบการในจ.ภูเก็ต ได้รับผลกระทบหนักสุด หลายโรงแรมต้องปิดตัว ภาคบริการทั้งรถรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทให้บริการทัวร์ที่ใหญ่สุดในปะเทศ วันนี้ปิดตัว 100 % แล้วเนื่องจากรับนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ร้านอาหาร ลูกจ้าง พนักงาน เริ่มส่งเสียงสะท้อนความเดือดร้อน มันไม่ใช่ผลกระทบแค่ 30 % ตามที่ผู้ประกอบการคาดการณ์กันเอาไว้ หรือที่หน่วยงานรัฐคาดการณ์ว่า 10-20 % มันหนักกว่านั้นอาจจะถึง 70% เลยทีเดียว” วิชิต ยะลา รองนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ บอกกับเรา เมื่อถามถึงสถานการณ์ของจังหวัดท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามัน

จีนหาย ยุโรป ก็หนีตาม

ส่วนตัวของ “วิชิต”เอง เป็นผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ในพื้นที่เกาะลันตา จ.กระบี่ แม้ที่ผ่านมารายได้หลักไม่ได้มาจากนักท่องเที่ยวจีน แต่ลูกค้าหลักอย่างนักท่องเที่ยวยุโรปก็หดหายตามไปด้วย

“พื้นที่เกาะลันตา ไม่ใช่เป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวจีน แต่ถือเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวยุโรป วันนี้สถานการณ์ของโควิด-19 มันไม่ได้กระทบเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน แต่นักท่องเที่ยวยุโรปต่างยกเลิกทัวร์มาไทย และเปลี่ยนจุดมุ่งหมายไปยังประเทศอื่นแทน เพราะไทยเองมีผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสดังกล่าว มันเป็นเรื่อง Sensitive ซึ่งนักท่องเที่ยวยุโรปให้ความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ของนักท่องเที่ยวบางรายซึ่งเป็นวัยรุ่น ได้โทรศัพท์มาขอให้ลูกของตัวเองกลับบ้านทันทีเมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัส ขณะที่ในหลายๆประเทศได้ระบุว่า หากพลเมืองของตนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยแล้ว จะขอกลับเข้าประเทศต้องถูกกักตัวเพื่อดูอาการของโรคก่อน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในวันนี้ ” วิชิตกล่าว

เมื่อโควิด-19 ร้ายแรงกว่าสึนามิ

“วิชิต” ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า “ ผมทำงานภาคบริการมากกว่า 20 ปี ผ่านมาทุกวิกฤติ ตั้งแต่ การต่อสู้ทางเมืองแบ่งขั้วเหลือง-แดง , ล่าสุดกับการแข็งค่าของเงินบาท จนกระทั่งวันนี้กับโคโรนา มันรุนแรงที่สุดแล้ว เพราะการแพร่ระบาดในช่วงไฮซีซั่นของอันดามัน คือเดือน ก.พ. ซึ่งเดือนเดียวผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้ เพื่อจ่ายให้กับพนักงานได้ทั้งปี การท่องเที่ยวฝั่งอันดามันใช้ช่วงเวลาตั้งแต่เดือน ธ.ค.-มี.ค. สร้างรายได้ เรียกว่า ทำ 4 เดือน เลี้ยง 8 เดือน ย้อนไปช่วงเกิด “สึนามิ” ซึ่งวันเดียวทิ้งความเสียหายให้กับผู้ประกอบทั้งหมด แต่ส่งผลต่อเนื่องไม่นาน เมื่อนักท่องเที่ยวมั่นใจแล้วก็กลับมา แต่กับ โคโรนา มันไม่ใช่ เรามองว่ามันจะกระทบในช่วงระยะเวลานานอาจนานถึง 9 เดือน หรือ 1 ปีเลยทีเดียว

รัฐต้องมีเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว

เราถาม “วิชิต” ถึงมาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่ง “วิชิต” ได้สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจว่า “มาตรการวันนี้ของภาครัฐที่ออกมามันยังไม่ตอบโจทย์ตรงๆของผู้ประกอบการ โดยมาตรการที่มีเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการแบบหว่านแหไม่เฉพาะเจาะจงในแต่ละภาค อย่าลืมว่าคุณจะใช้มาตรการที่ใช้ได้ผลกับภาคเหนือ ในภาคใต้ไม่ได้มันคนละบริบทกัน ผมเห็นด้วยกับมาตรการสินเชื่อ (Softloan) แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว มันมีทั้ง บริษัททัวร์ ธุรกิจรถทัวร์ เรือนำเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ อย่าลืมว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ก็เป็นลูกค้ากู้กับธนาคารอยู่แล้ว บางคนเป็นเครดิตบูโร ทำอย่างไรให้เขาสามารถกู้สินเชื่อตามมาตรการได้ ควรต้องปลอดเงื่อนไขบางอย่างหรือไม่ เช่นเป็นสินเชื่อที่กำหนดเฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ เช่น เฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวกลุ่มอันดามัน อ่าวไทย กลุ่มเมืองท่องเที่ยวหลัก เมืองรอง

ขณะที่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำให้ขณะนี้ คือการเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา เราไม่ใช่แหล่งแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา แต่เรามีผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งต้องดูแล และมีอัตราการหายจากโรคที่อยู่อันดับต้นๆของโลก ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศเรามีคุณภาพ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook