นักวิชาการจวกททท.ทำอัตวินิจบาตกรรมแห่เทียนพรรษา

นักวิชาการจวกททท.ทำอัตวินิจบาตกรรมแห่เทียนพรรษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ที่ห้องประชุมศรีเมืองใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 17 ก.ค. คณะศิลปศาสตร์จัดประชุมวิชาการเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีนักวิชาการนักธุรกิจจากหลายองค์กรเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นและฟังการบรรยายจากวิทยากรที่มีความรู้ด้านการท่องเที่ยว เพื่อนำผลงานการวิจัยไปเผยแพร่ต่อชาวบ้านและประชาชนตามท้องถิ่น ให้มีความรู้ด้านการจัดการบริหารกำหนดทิศทางแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

ศ.(พิเศษ)ศรีศักร วิลลิโภดม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแหล่งท่องเที่ยวกล่าวถึงการบริหารจัดการและส่งเสริมการท่องเที่ยวของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบทำอัตวินิจบาตกรรมต่อแหล่งท่องเที่ยว เพราะทำให้วัฒนธรรมเสียหาย แทนจะแห่เทียนเข้าวัด กลับแห่เทียนเข้าทุ่งศรีเมือง จึงเป็นการทำลวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เพราะมองแต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับกรณีเขาพระวิหารที่กำลังจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นการ ไปเอาอย่างตะวันตก ทำให้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศขึ้นมา

"ทั้งที่ความเป็นจริง ททท.ต้องพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมท้องถิ่น เอาคนท้องถิ่นที่รู้จริงมาเป็นไกด์ ไม่ใช่เอาคนจากไหนไม่รู้มาอบรมแล้วออกบัตรให้เป็นไกด์นำเที่ยว ทำให้ไกด์ขาดองค์ความรู้ด้านแหล่งท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ศ.(พิเศษ)ศรีศักร กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เสียดายที่ประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เดิมเป็นประเพณีที่งดงาม ชาวบ้านช่วยกันทำต้นเทียนอย่างเรียบง่าย เพื่อนำไปถวายพระ แต่ ททท.กลับมาส่งเสริมให้เป็นการท่องเที่ยวของคนต่างชาติ จึงต้องแข่งขันทำต้นเทียนให้ใหญ่โต กลายเป็นภาระของชุมชนที่ต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะ ททท.ต้องการรายด้จากการท่องเที่ยว แต่กลับกลายเป็นการทำลายวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาอย่างเรียบง่าย

"ททท.ต้องให้ความสำคัญต่อการจัดงานประเพณีแต่ละท้องถิ่น ส่วนการท่องเที่ยวให้ถือเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ไม่ใช่กำหนดให้งานแห่เทียนเข้าพรรษา ซึ่งความจริงจัดงานกันเพียงวันเดียว ต้องมาจัดงานยาวตลอดทั้งเดือนกรกฏาคม เพราะไม่มีใครมาเที่ยวชม จึงไม่ได้ประโยชน์ตามที่ ททท.คิดหวังเอาไว้ ศ.ดร.ประกอบกล่าว

สำหรับการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการท่องเที่ยวไทย เพื่อสร้างความเข้าใจใช้ปรับรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนแก่ประเทศต่อไปในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook