เวลา 10 ปี นานแค่ไหน? ย้อนรอยเหตุการณ์การเมืองสำคัญ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

เวลา 10 ปี นานแค่ไหน? ย้อนรอยเหตุการณ์การเมืองสำคัญ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

เวลา 10 ปี นานแค่ไหน? ย้อนรอยเหตุการณ์การเมืองสำคัญ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่า ระยะเวลา 10 ปีนั้น ยาวนานแค่ไหน และกว่าจะถึงวันที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะ จะกลับมาลงสนามการเมืองได้อีกครั้ง จะมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง


เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน Sanook News จะพาไปย้อนดูเหตุการณ์สำคัญตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ว่าในวงการการเมืองไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง

พ.ศ. 2553 โศกนาฏกรรมวัดปทุมฯ
มีการชุมนุมของ นปช. ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดการจลาจล มีการล้อมปราบของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การสูญเสียมากกว่า 90 ชีวิตในวัดปทุมวนาราม 

ยูเอ็น ขอไทยเจรจายุติความรุนแรง

พ.ศ.2554 นายกหญิงคนแรก เอาอยู่
มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยเอาชนะการเลือกตั้ง โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่หลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ก็เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความไม่พร้อมในการรับมือสถานการณ์ เป็นที่มาของวลีเด็ด “เอาอยู่”

พ.ศ.2555 จำนำข้าว เจ้าปัญหา
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกฝ่ายค้านขุดคุ้ยแฉการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น ไม่สามารถตอบคำถามใดๆต่อสื่อมวลชน และสังคมได้เลย

พ.ศ.2556 ชนวนแตกหัก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จุดกระแสความไม่พอใจให้กับหลายฝ่าย จนมีประชาชนออกมาประท้วงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.ถูกตีตก รัฐบาลประกาศยุบสภา แต่สถานการณ์ไม่จบ เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำม็อบ กปปส. ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ลุกลามกลายเป็นการชุมนุมข้ามปี โดยมี ฝ่าย นปช. ลงถนนมาชุมนุมด้วย และมีการเผชิญหน้ากันระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่หลายต่อหลายครั้ง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม sanook

พ.ศ.2557 รัฐประหาร โดย คสช.
สถานการณ์ชุมนุมของม็อบสองฝ่าย ยังคงทวีความตึงเครียดรุนแรง มีการปะทะ มีการใช้อาวุธสงคราม มีการล้อมปราบ มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต  มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็มีผู้ชุมนุมไปปิดล้อม ขัดขวาง จนการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. เป็นโมฆะ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี จากกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
และท้ายที่สุด เมื่อสถานการณ์การชุมนุมยังไม่มีทีท่าจะจบลง จึงนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร โดยผบ.ทบ.ในขณะนั้น ที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และในเวลาต่อมา พลเอกประยุทธ์ ก็ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 25 สิงหาคม 2557

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ รัฐประหาร 2557 sanook

พ.ศ.2558 ระเบิดราชประสงค์ ใต้จมูก คสช.
ภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช. เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมายตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการออกมาชุมนุมแสดงจุดยืดต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งมีผู้ชุมนุมหลายคนถูกเชิญไปปรับทัศนคติ
เกิดเหตุก่อการร้าย วางระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย ซึ่งเป็นที่เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า เหตุดังกล่าวสืบเนื่องมาจากความโกรธแค้นที่รัฐบาลส่งตัวชาวอุยกูร์คืนให้จีน

พ.ศ.2559 ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
เปิดร่างรัฐธรรมนูญ พ.ส.2559 ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และเปิดให้ลงประชามติ รับหรือไม่รับ ร่าง รธน.ฉบับนี้ ผลประชามติออกมาว่า ร้อยละ 61.35  เห็นชอบกับ รธน.ฉบับนี้ รวมทั้งคำถามพ่วงในบทเฉพาะกาล ที่ให้ "ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ลงเสียงเลือกนายกได้ด้วย" ก็ผ่านมติด้วยคะแนนร้อยละ 58.07 เช่นกัน

พ.ศ. 2560 ยิ่งลักษณ์ไม่อยู่แล้ว
รัฐบาลประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เดินทางไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อฟังคำพิพากษาคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 25 สิงหาคม ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เส้นทางธรรมชาติ หนีออกนอกประเทศไปยังกัมพูชา แล้วเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ และนครดูไบ 

พ.ศ.2561 ปีแห่งการปลดล็อกทางการเมือง
เมื่อ คสช.ส่งสัญญาณ เตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองถูกล้างไพ่ มีการย้ายสลับขั้วไปมา และในปีนี้เอง ที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจหนุ่ม จับมือกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ยื่นจัดตั้งพรรคการเมืองภายใต้ชื่อว่า “พรรคอนาคตใหม่ (Future Forward Party)”

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ www.sanook.com พรรคอนาคตใหม่


ฟากรัฐบาล คสช. ยังคงมีเหตุการณ์สำคัญให้สังคมจับตามอง และเรื่องใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ครอบครองนาฬิกาหรูมากว่า 20 เรือน โดยเจ้าตัวระบุว่าเป็นของเพื่อนที่ให้ยืมมา โดยเรื่องดังกล่าวถูกส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณามูลความผิด ก่อนจะมีมติในเวลาต่อมาว่าไม่มีความผิด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ www.sanook.com นาฬิกา บิ๊กป้อม

พ.ศ.2562 ปีเลือกตั้ง บัตรเขย่ง นายกฯใหม่ แต่หน้าเดิม
ประเดิมปีมาอย่างคึกคัก เมื่อพรรคการเมืองต่างๆเริ่มมีการหาเสียงเลือกตั้ง ชูนโยบายและจุดยืนพรรค บรรยากาศทางการเมืองกลายเป็นที่สนใจของประชาชนแทบทุกเพศทุกวัย หลังจากรอมานานหลายปี ประชาชนไทยก็จะมีโอกาสได้เดินเข้าคูหาเลือกตั้งกันอีกครั้ง แต่ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ก็เกิดเหตุช็อกวงการการเมือง นับตั้งแต่พรรคไทยรักษาชาติ เปิดตัวแคนดิเดต ชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นชื่อของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี 

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นตัวแทนชิงนายกรัฐมนตรี นับการล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเป็นเวลา 10 ปี

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ยุบ ไทยรักษาชาติ sanook

จนกระทั่งมีการเลือกตั้งจริงในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ถึงกรณีของระบบการคิดคะแนน การนับคะแนนล่าช้า การประกาศผลล่าช้า “บัตรเขย่ง” สูตรคำนวณ ส.ส. ที่เล่นเอางงกันทั้งประเทศ จนในที่สุด “พรรคพลังประชารัฐ” ก็ได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับ พรรคร่วมอื่นๆ อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ในขณะที่ฟากฝ่ายค้าน นำโดย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น

ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการขับเคี่ยวกันของสองขั้วการเมือง โดยฟากรัฐบาลชูชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายค้านเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อนที่ในที่สุด พลเอกประยุทธ์จะเอาชนะไปได้ และนั่งเก้าอี้นายกฯ ต่ออีกสมัย ในขณะที่นายธนาธร ถูกศาลวินิจฉัยให้ขาดคุณสมบัติ ส.ส. เนื่องจากปมถือหุ้นสื่อ

พ.ศ.2563 ปิดตำนาน พรรคอนาคตใหม่
สถานการณ์การเมืองยังตึงเครียดต่อเนื่อง มีความเคลื่อนไหวจากฟากฝ่ายค้าน โดยพรรคเศรษฐกิจใหม่ประกาศตัวขอย้ายฟากไปร่วมรัฐบาลแทน ทำให้เสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลมั่นคงมากขึ้น ในขณะที่ พรรคอนาคตใหม่ ถูกยื่นสอบในคดีต่างๆ โดยที่เป็นที่จับตามองคือ คดีอิลูมินาติล้มล้างการปกครอง ที่ในเวลาต่อมา ศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด ก่อนจะมาถึงคดีพรรคกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคเป็นเงินจำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญ ที่นำไปสู่การตัดสินยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี

Image may contain: one or more people and crowd

10 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมายในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นหมายความว่า เราคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าอีก 10 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเกิดการพลิกผัน เปลี่ยนหน้าทางการเมืองอย่างไรอีกบ้าง ก็คงจะทำได้เพียงจับตามองกันต่อไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook