เป็นไข้นอนซม สาวมิสทีนดับ ผ่าพิสูจน์หวัด

เป็นไข้นอนซม สาวมิสทีนดับ ผ่าพิสูจน์หวัด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สาวมิสทีน ป่วยเป็นไข้นอนซม ตายปริศนาในบ้านพักย่านมีนบุรี ตร.ส่งศพตรวจพิสูจน์ หาสาเหตุติดเชื้อ หวัด 2009 หรือไม่ สอบญาติระบุมีไข้สูง ไปหาหมอที่ร.พ.ถึง 2 แห่ง ผลตรวจไม่พบเชื้อหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ ให้ยามากินแต่ไม่ดีขึ้น จนกำเริบกระทั่งสิ้นใจ ขณะที่สธ.ปรับแนวทางรักษาใหม่ ให้ร.พ. ของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ใช้เป็นมาตร ฐานเดียวกัน แบ่งวิธีดูแลผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม ผู้ป่วยเสี่ยงต้องได้รับยาต้านไวรัส โอเซล ทามิเวียร์ โดยเร็วที่สุด ไม่ต้องรอผลจาก ห้องแล็บ ที่เมืองนนท์แห่ฉีดวัคซีนฟรี เจ้า ของกิจการแอร์ซัยโจ เด็นกิฯ ออกค่าใช้จ่ายให้ 2,000 ราย

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 18 ก.ค. ร.ต.อ.สมเจตน์ พลาหลา ร้อยเวรสน.หัว หมาก รับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ภายในบ้านเลขที่ 148/449 ซอยรามคำแหง 190 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กทม. รุดไปที่เกิดเหตุพบศพน.ส.สายสุนี สิริปัญญาสุข อายุ 47 ปี เจ้าของบ้าน เป็นพนักงานบริษัท มิสทีน ไทยแลนด์ จำกัด สภาพศพไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยถูกทำร้ายแต่อย่างใด

จากการสอบสวนญาติให้การว่า ผู้ตายเป็นโรคความดันสูง เป็นโรคประจำตัว เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการไข้สูง จึงไปรักษาที่ร.พ.ลาดพร้าว แพทย์ตรวจอาการและสั่งจ่ายยารักษาอาการไข้หวัด แล้วให้กลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน ผ่านไป 2 วัน อาการไข้ไม่ดีขึ้น จึงไปตรวจที่ร.พ.รามคำ แหง แพทย์ตรวจอาการไข้ และตรวจเยื่อจมูก ระบุว่าไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จึงจ่ายยารักษาอาการไข้หวัดธรรมดา แล้วให้กลับมาพักผ่อนที่บ้าน จากนั้นน.ส.สายสุนี บอกว่า มีอาการปวดตามตัว กล้ามเนื้อ และกระดูก อย่างรุนแรง จนแทบทนไม่ไหว กระทั่งเสียชีวิต

ด้านร.ต.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต แต่จากการสอบสวนญาติทราบว่า ผู้ตายเป็นไข้หวัดมาหลายวัน ดังนั้น จะส่งศพตรวจอย่างละเอียดที่สถาบันนิติเวช ร.พ.ตำ รวจ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากโรคประจำตัว หรือเสียชีวิตจากโรคไข้หวัด 2009 ต่อไป

ที่โรงแรมเรดิสัน พระราม 9 กรุงเทพฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนา และปาฐกถาเรื่อง คิดเพื่ออนาคต ถอดโจทย์ประเทศไทย ในงาน 32 ปี อสมท โดยนายกฯ กล่าวในตอนหนึ่งถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ว่าเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เรียกโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่าไข้หวัดเม็กซิโก และขณะนี้ถือเป็นโรคประจำถิ่นของกว่า 100 ประเทศแล้ว รวมทั้งไทยด้วย เป็นสภาพข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสายวันเดียวกันนี้ นายกฯ เดินทางไปโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน จากสถานีพระราม 9 ไปยังสถานีบางซื่อ เพื่อบันทึกเทปรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่จะออกอากาศในวันที่ 19 ก.ค. เวลา 09.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ โดยก่อนที่จะเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น นายกฯ สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลล้างมือ ที่นำติดตัวมาด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่นายกฯ สวมหน้ากากอนามัย ป้องกันติดเชื้อไว้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

ด้านน.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะเชิญรัฐมนตรี 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ คือ สาธารณสุข ศึกษาธิการ และแรงงาน มาหารือร่วมกันในวันที่ 20 ก.ค.นี้ เพื่อหาทางแก้ไขการแพร่ระบาดของเชื้อ และให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ป่วย

ขณะที่น.พ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระ ทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณ สุขร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากคณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เพื่อลดการเสียชีวิต โดยจะส่งแนวทางดังกล่าวให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แนวทางนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์การอนามัยโลก ที่ให้ประเทศสมาชิกใช้เช่นกัน

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับแนวทางดังกล่าว ทางรศ.(พิเศษ) น.พ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการและการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ฯ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่ง ชาติมหาราชินี และคณะ จัดทำแนวทางในการดูแลผู้ป่วย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปอดอักเสบ ซึมผิดปกติ กินอาหารไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ หรือมีปัญหาร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

น.พ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรง ซึ่งมี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคธาลัสซีเมีย ที่ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำ รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องกินยาแอสไพรินมาเป็นเวลานานเช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ เพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว และผู้ที่อ้วนมาก ให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 48 ชั่วโมง และพิจารณาให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงแรก หรืออาการไม่ดีขึ้น หลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้ว และกลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง แนะนำวิธีการดูแลที่บ้าน ให้ยารักษาตามอาการ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 3-5 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น และมีอาการหายใจเร็ว หายใจลำบาก ซึมผิดปกติ กินไม่ได้ หรืออาการไม่ดีขึ้นในวันที่สามของการป่วย แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ทันที

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลรักษาต่อนั้น จัดแบ่งโซนรับผิดชอบร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญมีบทบาทให้คำปรึกษาแพทย์ที่รักษา การจัดทีมลงพื้นที่ให้คำแนะนำในกรณีร้องขอ และการฟื้นฟูวิชาการรักษาผู้ป่วยแก่โรงพยาบาลต่างๆ ใน 75 จังหวัด ดังนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแล 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์, มหาวิทยาลัยนเรศวร ดูแล 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุ โลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์, ร.พ. รามาธิบดี ดูแล 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี, กรมการแพทย์ ดูแล จ.นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ

น.พ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ร.พ.ศิริราช ดูแล จ.นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี, มหาวิทยา ลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูแล จ.ปราจีนบุรี นคร นายก และฉะเชิงเทรา, ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ดูแล จ.สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแล จ.เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร, มหา วิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับกรมการแพทย์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ดูแล จ.ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจ เจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ส่วนที่เหลือ 15 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึง จ.นราธิวาส อยู่ในความดูแลของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และกรมการแพทย์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.นี้เป็นต้นไป

วันเดียวกัน ที่ลานจอดรถใต้ทางด่วนงาม วงศ์วาน หน้าบริษัทซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เน ชั่นแนล จำกัด นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข เป็นตัวแทนนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ฟรี จำนวน 2,000 ราย โดยมีนายวิเชียร วุฒิวิญญู รองผวจ.นนทบุรี นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี นายสมศักดิ์ กิตติพลังศรี ประธานบริษัทซัยโจ เด็นกิฯ มาร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทางบริษัทประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อมาฉีดวัคซีนให้แก่พนักงานของบริษัท รวมถึงครอบครัวของพนักงาน นอกจากนี้ ยังประสานไปยังหน่วยงานราชการ และผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้กับ บริษัท ที่มีความประสงค์จะขอรับวัคซีน โดยทางบริษัทเปิดให้ลงทะเบียนตามจำนวนของวัคซีนที่มี คือ 2,000 รายเท่านั้น ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนต่างพากันมาลงทะเบียนกันเป็นจำนวนมาก บางครอบ ครัวยังพาลูกหลานมารับการฉีดวัคซีน นอก จากนี้ยังมีตำรวจสภ.เมืองนนทบุรี มาร่วมขอรับการฉีดวัคซีนด้วย โดยมีพยาบาลจากสถาบันบำราศนราดูรมาบริการฉีดวัคซีนให้

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทยจัดเวทีระดมความคิดหัวข้อ ร่วมฝ่าวิกฤตไข้หวัด 2009 โดยน.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรมว.สาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายว่า หากรัฐบาลเริ่มปฏิบัติ และวางแผนป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ในช่วงระบาดใหม่ๆ จะสามารถควบคุมเชื้อได้ เพราะพบผู้ติดเชื้อคนแรกที่พัทยา จ.ชลบุรี แต่ขณะนี้พัทยาถือเป็นแหล่งแพร่เชื้อ แต่เรา ก็ประมาทเกินไป และเชื่อว่ามีคนให้ข้อมูลกับนายอภิสิทธิ์ แบบผิดๆ ถ้าเป็นตนจะออกนโยบายด้วยการปิดโรงเรียนตั้งแต่เดือนเม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พบผู้ต้องสงสัย จากนั้นให้ข้อมูลผ่านทางสื่อโทรทัศน์ทั้งเช้า กลางวัน เย็น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งงดจัดมหรสพ 10-14 วัน เพื่อป้องกันแพร่ระบาด แล้วให้ทำความสะอาดหน่วยงาน แต่รัฐบาลกลับให้นโยบายสับสน ทั้งที่บุคลา กรทางการแพทย์มีศักยภาพเพียงพอ

น.พ.สุชัยกล่าวต่อว่า ดังนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลจะต้องทำคือให้ข้อมูลที่โปร่งใส อย่าให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะยิ่งปิดบังยิ่งเกิดความไม่น่าเชื่อ และไม่เห็นด้วยที่กระ ทรวงสาธารณสุขจะรายงานข้อมูลเพียงสัปดาห์ละครั้ง จึงขอเสนอมาตรการเข้มงวดสำหรับไข้หวัด 2009 ว่า 1.รัฐบาลควรเร่งพัฒนาการให้บริการตรวจชันสูตรไวรัส 2009 ให้ครอบคุลม และควรให้สร้างห้องวิจัยทั่วประเทศ และรายงานผลให้ทราบภายใน 24 ชั่วโมง 2.จัดหายาทามิฟลู ให้เพียงพอ และมีนโยบายการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยอย่างทั่วถึง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook