“ไม่บอก ไม่กัก” ความอินของคนไทยสะท้อนสังคมภาวะ Covid-19

“ไม่บอก ไม่กัก” ความอินของคนไทยสะท้อนสังคมภาวะ Covid-19

“ไม่บอก ไม่กัก” ความอินของคนไทยสะท้อนสังคมภาวะ Covid-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวินาทีนี้ โรคอุบัติใหม่อย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Covid-19) ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับคนจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยที่ถูกจัดเป็นหนึ่งในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง แม้ภาครัฐจะประกาศให้โรค Covid-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พร้อมมีมาตรการลงโทษบุคคลที่ขัดคำสั่งประกาศดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในสังคม คือ กรณีของหญิงสาวที่เดินทางกลับมาจากประเทศเมียนมา โดยไม่ผ่านด่านตรวจโรค พร้อมทั้งเดินทางไปในที่สาธารณะหลายที่ ก่อนจะตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือย้อนกลับไปในช่วงต้นปี ที่มีเหตุการณ์ชายหญิงสูงอายุที่ปกปิดการเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นและติดเชื้อโคโรนากลับมาจนสร้างความเดือดร้อนให้กับหลายภาคส่วน รวมไปถึงกรณีของผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศรายอื่น ๆ ที่มีท่าทีว่าจะไม่ยอม “กักตัว” เพื่อดูอาการ ก็สร้างความกังวลและความหวาดกลัวให้กับคนในสังคมจำนวนมาก จึงเกิดการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของคนไทยเมื่อเกิดเหตุการณ์โรคติดต่อระบาด พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพรวมของสังคมไทยอย่างไร Sanook ขอร่วมไขคำตอบในประเด็นนี้

สถานการณ์ไหน “เรา” ต้องกักตัว

การกักตัวเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันโรค Covid-19 ไม่ให้แพร่กระจาย สำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยทางภาครัฐได้จัดให้มี State Quarantine เพื่อให้คนไทยที่เดินทงกลับมา ได้ทำการ "กักตัว" เป็นเวลา 14 วัน โดยแพทย์หญิงวรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา) ได้แนะนำว่า

ถามว่ามีความจำเป็นต้องกักตัวไหม สำหรับตอนนี้ การกักตัวจะช่วยชะลอความร็วในการแพร่เชื้อในประเทศไทยให้ช้าลง ดังนั้น คำแนะนำก็คือให้สังเกตอาการตัวเอง ถ้าผ่านไป 14 วันแล้วยังไม่มีอาการ ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเราไม่ได้ติดเชื้อ”

ความสำคัญของการกักตัว คือการชะลอการแพร่กระจายของโรคให้ช้าลง เพราะถ้าโรคแพร่ไปเร็ว คนก็จะรับเชื้อพร้อม ๆ กันได้เร็วมากขึ้น และจะตกเป็นภาระของโรงพยาบาลที่อาจมีห้องดูแลผู้ป่วยอาการหนักไม่เพียงพอ ดังนั้น การกักตัวจึงมีความสำคัญในแง่ของการควบคุมโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีใครคุ้นเคย แต่ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานี้คือความรับผิดชอบต่อสังคมของคน ในสถานการณ์โรคติดต่อระบาด ที่อาจไม่ใช่ทุกคนที่มองว่าเป็นปัญหา

คนมองปัญหาไม่เท่ากัน

“ในสังคมไทย Covid-19 เป็นเรื่องใหม่มาก หมายความว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่มาตรฐานของทุกคนจะเข้าใจได้ แต่ว่าโรคระบาดมันไม่สนใจว่านี่เป็นเรื่องใหม่หรือเรื่องเก่าของใคร โดยเฉพาะกรณีนี้ คือโดยมาตรฐานขององค์กรที่เขาจัดการเรื่องนี้ เส้นนี้มันก็จะตึงขึ้นมา แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่จะกักคนหรือควบคุมคน และเขาไม่ได้สั่งกักคุณ คำถามก็คือเราจะมีท่าทีกับเรื่องนี้อย่างไร คือผมกำลังคิดถึงคนที่เขากลับมาจากต่างประเทศ และก็พยายามที่จะมีชีวิตปกติ ไม่อยากอยู่บ้าน และเขาเองก็มีงานทำ ในความเห็นของผม ผมคิดว่าความซีเรียสของแต่ละคนที่มองปัญหาสถานการณ์นี้ไม่เท่ากันครับ” คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา เปิดประเด็น

ในสถานการณ์ของโรคติดต่อที่แพร่กระจายไปทั่วโลกและทุกคนตื่นตระหนกกับโรคดังกล่าว พฤติกรรมของคนในสังคม โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เช่น ไม่ยอมกักตัวเองเพราะคิดว่าตัวเองไม่ติดโรค หรือปกปิดการเดินทางกลับจากต่างประเทศ ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังขาดความเข้าใจเรื่อง “ภัย” ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงภัยจากโรคระบาดที่กำลังเป็นเรื่องน่ากังวล

เรารู้จักโรคระบาดจากอะไร เรารู้จากภาพยนตร์ฮอลลีวูด จากภาพยนตร์ซอมบี้หรือไวรัสล้างโลก นั่นคือสิ่งที่เราเรียนรู้ แต่ระบบการศึกษาของเราไม่ได้สอนสิ่งนี้ ทำให้คนไม่มีความเข้าใจหรือมีความเข้าใจที่ต่ำมาก และกลายเป็นเราไม่มีสำนึกเรื่องภัยเลย” คุณสมบัติอธิบาย

หากลองคิดย้อนกลับไป เราจะพบว่าในหลักสูตรการเรียนการสอนของไทยขาดการสอนเรื่องโรคระบาด จึงทำให้คนในสังคมไม่มีสำนึกเรื่องการป้องกันตัวเอง ซึ่งคุณสมบัติเรียกสังคมแบบไทย ๆ นี้ว่าเป็น “สังคมหยาบ” เพราะไร้ซึ่งการคิดอย่างซับซ้อนหรือลงรายละเอียดกับเรื่องราวรอบตัว เมื่อไม่มีการคิดที่ซับซ้อนก็ส่งผลให้ทัศนคติของคนในสังคมมีผลลัพธ์ดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน

“พอเราลวก ๆ หยาบ ๆ ไป มันก็เป็นเรื่องของโชคไม่ดี ดวงซวยไป แต่จริง ๆ แล้วมันเกิดจากพฤติกรรม มันเป็นสถิติความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ คุณหยาบแต่คุณก็ไม่ป่วยนี่ เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะไม่ป่วย แต่บางทีถ้าคุณโดนแจ็กพ็อตล่ะ” คุณสมบัติตั้งคำถาม

เงื่อนไขของแต่ละคน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนกลัวติดโรคระบาดและคาดหวังให้กลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับจากต่างประเทศกักตัวเองเพื่อดูอาการ แน่นอนว่ามีคนบางกลุ่มกักตัวเองอยู่บ้าน 14 วันและเขียนป้ายติดหน้าบ้านตามที่เห็นในข่าว ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง แต่เราจะเรียกกลุ่มคนที่ไม่กักตัวเองว่าเป็น “คนเห็นแก่ตัว” ได้หรือไม่ ประเด็นนี้เราอาจจะต้องพูดคุยหรือต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขในชีวิตของคนนั้น ๆ

“เขาอาจจะมีความซับซ้อนกว่านั้น เราไม่รู้เรื่องแบบนี้เลยว่าเขาเป็นคนต้องรับผิดชอบอะไร มีงานการที่ต้องรับผิดชอบ มีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ คือเราไม่เข้าใจบริบทชีวิตของเขา แต่เราจะบอกว่าเขาไม่รับผิดชอบต่อสังคมได้ไหม ก็อาจจะได้ แต่เราต้องเข้าใจ ผมคิดว่าเราต้องรับฟัง ถ้ามันมีการสนทนาถกเถียงกันในเรื่องนี้ ผมว่าการตัดสินคนอื่นไปเลยทีเดียวตั้งแต่ต้น อาจจะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” คุณสมบัติชี้

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติก็อธิบายต่อว่าสังคมจะรู้สึกปลอดภัยถ้าคนกลุ่มนี้ยอมกักตัวเอง แต่ถ้าคนเลือกที่จะไม่กักตัว เขาเหล่านั้นก็ต้องระวังตัวเองอย่างมากและจะไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ พวกเขาต้องระวังและดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมที่อาจจะแพร่กระจายเชื้อได้ แม้ว่าตัวเองจะมีหรือไม่มีเชื้อก็ตาม

“ยังไงก็ต้องป้องกัน ไม่ว่าจะติดหรือไม่ติดเชื้อ มันต้องป้องกันหรือหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะรับเชื้อหรือขยายเชื้อ ซึ่งอันนี้เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองนะ มันจะตลกกว่านั้นคือเขาอาจไม่ติดโรคตอนกลับมาจากต่างประเทศหรอก แต่เขาออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะในประเทศ แล้วเขากลับติดเชื้อ คนอื่นก็จะคิดว่าที่เขาเป็นเพราะไปต่างประเทศมา คือชั่วโมงนี้ ทุกคนต้องป้องกันตัวเอง และถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ยิ่งต้องป้องกันตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะยอมรับได้

ดูแลตัวเองเท่ากับดูแลสังคม

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โรค Covid-19 เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกตื่นตัว นี่จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่คนในสังคมต้องร่วมกันสร้างมาตรฐานใหม่เรื่องของความเข้าใจในโรคระบาดและภัยต่าง ๆ รอบตัว พร้อมกันนี้ยังต้องปรับปรุงวิถีชีวิตของตัวเอง แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องปัจเจก แต่คุณสมบัติย้ำชัดว่าเรื่องนี้คือเรื่องพฤติกรรมของสังคม

“จริง ๆ แล้วปัจเจกก็เป็นผลผลิตของสังคม ถ้ามีปัจเจกแบบนี้มาก ๆ ก็แสดงว่าไม่ใช่เรื่องปัจเจกแต่เป็นพฤติกรรมของสังคม และเป็นเรื่องของสังคม ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้มันชี้ให้เห็นว่ากลไกทางสังคมของเรายังไม่แข็งแรงพอ”

เราอาจตำหนิหรือต่อว่ากลุ่มคนที่ไม่ยอมกักตัวเอง แต่ทั้งนี้ ทุกคนต้องให้ความสนใจและเรียนรู้โรคติดต่อนี้ให้มากที่สุด เพราะในความเป็นจริง กลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอาจไม่ใช่คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หากเราดูสถานการณ์ในปัจจุบัน ประเทศไทยก็ถูกจัดเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และทางที่ดีที่สุดก็คือทุกคนต้องดูแลป้องกันตัวเองไม่ว่าจะเพิ่งกลับจากต่างประเทศหรือไม่ได้เดินทางไปไหนก็ตาม

“มันคุ้มค่ามากที่จะดูแลตัวเอง และการดูแลตัวเองได้ดีที่สุดเท่าไร มันก็คือการดูแลสังคมมากเท่านั้น เพราะมันคือสิ่งเดียวกัน ดังนั้น ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดก็จะเป็นการดูแลสังคม หรือคุณจะดูแลสังคมให้ดีที่สุด มันก็คือการดูแลตัวเองนั่นเอง” คุณสมบัติกล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook