สร้างบ้านไม่ได้บ้าน โศกนาฏกรรม ....ยุคเศรษฐกิจขาลง

สร้างบ้านไม่ได้บ้าน โศกนาฏกรรม ....ยุคเศรษฐกิจขาลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คงไม่ใช่ครั้งแรกหรือครั้งสุดท้ายสำหรับคนที่ต้องการสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง โดยใช้บริการของบริษัทรับสร้างบ้าน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันมีมูลค่าตลาดแต่ละปีคิดเป็นตัวเลขสูงถึง 50,000 ล้านบาท เฉพาะพื้นที่ในกทม.และปริมณฑลไม่รวมหัวเมืองหลักซึ่งคาดว่ามีกำลังซื้ออีกมหาศาล

จากมูลค่าตลาด ภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขัน ที่รุนแรงเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ฉุดให้ธุรกิจรับสร้างบ้านต้องอัดฉีดแคมเปญส่งเสริมการขายด้วยการ ลด แลก แจก แถม ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นใหญ่ ไปจนถึง ทองคำ เพื่อกระชากใจผู้บริโภคเร่งตัดสินใจในการจดปากกา เซ็นสัญญา ว่าจ้าง

++ สร้างบ้านกลายงบบานปลาย

และนี่.....เป็นเหตุจูงใจประการหนึ่งให้ เกิดพฤติกรรมฉาวระหว่างบริษัทผู้รับสร้างบ้านกับเจ้าของบ้านที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤติเศรษฐกิจแถมต้องมาเสียเงินสร้างบ้านแต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้บ้าน บางรายได้แค่เสาเข็ม คานบ้าน เสียเงิน แล้วยังเป็นหนี้แบงก์ บ้านไม่เสร็จ เจอข้างบ้านฟ้อง เพราะสร้างบ้านผิดสเปก แถมจากวงเงินที่ตกลงกันไว้กลายเป็นงบที่บานปลาย ทิ้งงาน ทำสัญญาเจ้าของบ้านเสียเปรียบ ดีเลย์จาก 1ปีเป็น 3 ปี

แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้บ้าน ส่วนบริษัทเมื่อถูกร้องเรียนก็จดทะเบียนใหม่เปลี่ยนชื่อแต่พฤติกรรมยังเหมือนเดิม

การออกมารวมตัวของผู้ที่ได้ความเสียหายหลายสิบราย เพื่อกระชากหน้า กากพฤติกรรมฉาว บริษัทในเครือ ภูธนแสงทอง จำกัด ซึ่งมีนายศิวัช ภูธนแสงทอง เป็นเจ้าของ ประกอบด้วยบริษัท พีทีเอส โฮม จำกัด และบริษัท เพรสซิเด้นท์ โฮม จำกัด ซึ่งทำความเสียหายให้แก่ประชาชน

และปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจอยู่ ถือเป็นการรวมตัวของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนครั้งประวัติศาสตร์ทีเดียว

อีกทั้งการเปิดโป่งพฤติกรรมของบริษัทดังกล่าว นั้นมิใช่แค่เจ้าของบ้าน เท่านั้นแต่รวมถึงธุรกิจที่ต่อเนื่อง บริษัทรับตอกเสาเข็ม ผู้รับเหมาช่วง ร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจ่ายเช็คเด้ง กันเป็นทิวแถว รวมแล้วมีมูลค่าร่วมร้อยล้านบาท เฉพาะที่รวบรวมได้ ซึ่งเชื่อว่ายังมีเป็นจำนวนหนึ่งที่ถูกหลอกเช่นกัน หรือบางรายก็ไม่กล้าเผยตัวเพราะเกรงจะกระทบธุรกิจ แต่ก็สูญเงินไปเป็นจำนวนมาก

+++ ร้านวัสดุเจอเบี้ยว 4 ล้าน

วิธีการของเขาจะสั่งของล็อตที่ 1-2 และ 3 ให้ไปส่งที่ไซต์งาน แต่พอวางบิล สินค้างวดแรกซึ่งตรงกับการส่งสินค้างวดที่ 4 ถึงรู้ว่าเช็คเด้ง เราเจอไป 5 แสนบาท เจ้าของร้านขายไม้ปูปาร์เกต์

รายหนึ่งที่เจอปัญหาเช็คถูกอายัดกล่าว เช่นเดียวกันร้านค้าวัสดุอีกรายหนึ่งที่เจอพฤติกรรมคล้าย ๆ กัน แต่รายนี้หนักกว่ารายแรก โดยเจอเช็คเด้งเป็นเงิน 4 ล้านบาทเศษ ทำได้เพียงแค่แจ้งความไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น

ส่วนนายกิจธนา วังรุ่งเรืองกิจ เจ้าของบริษัท เอส.ซี เข็มเจาะ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด หนึ่งในผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนบอกว่า บริษัทเจอไปราว 1.2 ล้านบาท เป็นค่าจ้างในการเจาะเสาเข็ม ซึ่งไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้เช่นกัน

ขณะที่ นายทรงยศ ผู้รับเหมาช่วง ระบุว่า สร้างจนเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว 2 หลัง ราคาตั้งแต่ 1.2-1.5 ล้านบาท แต่เก็บเงินไม่ได้และยังมีอีก 10 หลังที่เข้าไปก่อสร้างส่วนต่าง ๆ แต่ก็เก็บเงินได้ครั้งละ หมื่นสองหมื่นเท่านั้น ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายเป็นล้านขณะนี้ยังไม่มีทางออก

+++ ใช้ของแถมล่อใจเจ้าของบ้าน

นอกจากธุรกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการจ่ายเช็คแล้วสั่งอายัดแล้ว ในส่วนของ เจ้าของบ้านซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากหลายหลากอาชีพ ทั้ง นักธุรกิจ วิศวกร ข้าราชการ ครู ตำรวจติดตามภริยานายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทีมที่ปรึกษานายกรณ์ จาติกวณิชรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนกระทั่งดารารุ่นลายครามต่างตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

นายยอดชาย เมฆสุวรรณ พระเอกรุ่นลายคราม เล่าว่า ตนได้ข้อมูลของบริษัทดังกล่าวจากการไปเปิดบูธขายในงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขามีการติดต่อส่งโบรชัวร์มาให้ดูตลอดนาน 3ปี เพราะไม่แน่ใจกลัวถูกหลอกเหมือนกัน แต่ในที่สุดได้ตัดสินใจเซ็นสัญญาให้สร้าง พิพิธภัณฑ์ที่ นครปฐม ซึ่งเดิมตีราคาไว้ที่ 10 ล้านบาทพื้นที่ 700 ตารางเมตร แต่บริษัทนี้ตีราคาเหลือแค่ 5.5 ล้านบาท จึงตัดสินใจเซ็นสัญญาวางเงินมัดจำไป 1.2 ล้านบาท เซ็นสัญญาตั้งแต่ เดือนธันวาคมปี 2551 ผ่านไป 6 เดือนงานไม่คืบได้แค่เสาคานกับปูน เห็นท่าไม่ดีเลยบอกเลิกซึ่งเพื่อนมาตีราคาแค่ 6 แสนบาทเท่านั้น

กรณีนี้ต้องบอกเลิกสัญญาเพราะไม่มีเวลามาทะเลาะผมอายุมากแล้วต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้เสร็จ และต้องการใช้สมาธิในการปั้นรูปงานศิลปะ

เช่นเดียวกับบ้านครู ไพลิน เธอบอกว่า บริษัทได้ไปเปิดบูธที่โรงแรมเวล นครปฐม มีการจูงใจเมื่อเซ็นสัญญาสร้างบ้านจะแถมทองคำหนัก 7 บาท คุณครูผู้นี้ค่อนข้างโชคดีเพราะบ้านใกล้เสร็จ แต่เมื่อเปลี่ยนพื้นจากกระเบื้องเป็นไม้สัก แต่เคลมเป็นเงินไม่ได้ ที่เสียคือเวลาที่ล่าช้าเป็นปี กำหนดจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่หลายครั้งแต่ขึ้นไม่ได้สักที

+++ สมาคมโบ้ยแค่ให้คำแนะนำ

ขณะที่ นายพันธุ์เทพ ทานชิติกุล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่าสมาคมมีสิทธิ์

แค่ให้ออกจากการเป็นสมาชิกแต่ขณะนี้เขาไม่ได้เป็นสมาชิกแล้วทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นการค้าเสรี แต่ถ้าหากได้รับการร้องเรียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็จะให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไร และพร้อมที่จะเป็นพยานในศาล ส่วนการเปิดบูธขายในงานนั้น ตั้งแต่ปีที่แล้วบริษัทใดไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่มีสิทธิ์เข้ามาเปิดบูธขาย พร้อมทั้งมีการตั้งระเบียบในการกลั่นกรองสมาชิกให้เข้มงวดขึ้นพร้อมทั้งการผลักดันเรื่องสัญญามาตรฐานแต่ไม่มีอำนาจไปดำเนินการใดๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook