เปิดอก''อนุพงษ์'' คืนถิ่นกุมบังเหียน''แท็กส์''

เปิดอก''อนุพงษ์'' คืนถิ่นกุมบังเหียน''แท็กส์''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พลันที่บริษัท ไทยแอร์พอร์ต กราวนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ แท็กส์ ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ หลังจากบริษัท เอสเจ แอสเสจ เมนเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่มาเลย์ ตัดสินใจขายหุ้นทิ้ง โดยยืนยันว่าไม่ได้ถอดใจ เพราะมีคดีฟ้องร้องกรณีถูกบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ หรือ ทอท. ยกเลิกรถเข็นกระเป๋าที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่เพราะต้องการย้ายฐานการลงทุนไปยังจีนแทน เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจมากกว่าการลงทุนในไทย ที่มีปัญหาการเมือง จากการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง

นายอนุพงษ์ โรจน์นครินทร์ อดีตผู้บริหารยุคบุกเบิกของแท็กส์ จึงได้กลับมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ มีสิทธิ์เจรจาหาผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่เหมาะสมมาบริหารงานแท็กส์ต่อไป บทบาทหน้าที่ และทิศทางของแท็กส์จะเป็นอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์นี้

++ภารกิจแรกหาทุนใหม่แทนเอสเจ

นายอนุพงษ์ เปิดใจว่า หลังจาก 2 เดือนที่ผ่านมา ดาโต๊ะไมเคิล ลอห์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารดราก้อน กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของกองทุนส่วนบุคคลบริษัทเอสเจฯ ได้ตัดสินใจประกาศขายหุ้นแท็กส์ 48.5% ทิ้ง เพราะต้องการย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศจีน ที่มีทิศทางการเติบโตทางธุรกิจดีกว่าไทย จึงมอบให้ผมเข้าเป็นผู้บริหารแท็กส์ พร้อมให้สิทธิ์บริหารหุ้น 48.5% หรือให้ช่วยเจรจาหาผู้ร่วมทุนมาถือหุ้นได้

ผมในฐานะเป็นผู้บริหารในยุคบุกเบิก มีความผูกพันกับแท็กส์มาก และคิดว่าแม้ครั้งสุดท้ายต้องออกจากผู้บริหารแท็กส์ เมื่ออายุ 70 ปี แล้วกลับมาบริหารใหม่ในวัย 73 ปี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นงานที่รักและมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี

การกลับมาบริหารแท็กส์ นอกจากจะได้สิทธิ์บริหารหุ้น 48.5% แล้ว ผมได้เข้าไปซื้อหุ้น 8% หรือประมาณ 8 แสนหุ้น จากบริษัท เพาเวอร์ลิงค์ฯ หนึ่งในบริษัทผู้ถือหุ้นแท็กส์ขณะนี้ด้วย

สำหรับเป้าหมายแรกหลังจากเข้ามาบริหารงานเต็มตัว คือ การหาผู้ร่วมทุนมาถือหุ้นในส่วนที่เอสเจได้มอบให้บริหาร ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาร่วมทุนตรงนี้จะต้องเป็นกลุ่มทุนที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารภาคพื้น และเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทอท.จะดีที่สุด

++รับคิงเพาเวอร์/ล็อกซเล่ย์สนใจ

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นมีกลุ่มทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการบินในประเทศ สนใจเข้ามาเจรจาซื้อหุ้นแท็กส์ประมาณ 2-3 ราย ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กลุ่มทุนล็อกซเล่ย์ และ กลุ่มทุนคิงเพาเวอร์ เข้ามาร่วมเจรจาซื้อหุ้นนั้น ยอมรับว่าแท็กส์มีความน่าสนใจในการลงทุน การที่ 2บริษัทจะสนใจเข้ามาเจรจาซื้อหุ้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ส่วนที่มีกลุ่มการเมืองเข้ามาเจรจาซื้อหุ้นด้วยนั้น ดังที่กล่าวไปแท็กส์มีความน่าสนใจในการลงทุนทางธุรกิจ แม้จะกลุ่มทุนไหนก็สนใจเข้าซื้อ แต่จะกล้ามาเจรจาซื้อขายในราคาที่เอสเจ พอใจหรือไม่ก็ต้องมีการคุยกัน

ทั้งนี้คาดว่าการเจรจาหาผู้ถือหุ้นรายใหม่น่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบกับความมั่นคง ต่อจากนั้นจะต้องสรรหาคณะกรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งจะแต่งตั้งเข้าไปทดแทนกรรมการที่ออกไปหลังจากขายหุ้น

++เจรจาทอท.ยุติคดีรถเข็น

ส่วนการดำเนินการต่อไป คือ การเจรจายุติปัญหาของแท็กส์ที่มีอยู่ขณะนี้ ทั้งเรื่องคดีการฟ้องร้องเรื่องรถเข็นกระเป๋ากับบริษัท ทอท.ฯ เพื่อให้การดำเนินการของแท็กส์เป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาการฟ้องร้อง ผมไม่หนักใจเพราะสามารถเจรจากันได้ ด้วยผู้บริหารทอท. เช่น นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก็มีความคุ้นเคยกันดี เคยร่วมงานกัน และก็ยังมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลืออีกมาก

อีกทั้งทรัพย์สินของแท็กส์ที่มี 1,000 กว่าล้านบาท และหนี้ก็มีจำนวนที่เท่าๆ กัน การฟ้องร้อง เพื่อเรียกค่าเสียหาย 2,500 ล้านบาท แท็กส์ก็ไม่สามารถที่จะจ่ายได้ (ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย) หากจะให้จ่ายได้ก็คงจะจ่ายเป็นบริษัทแท็กส์ฯ ซึ่งพร้อมจะยกให้ทั้งหมด ส่วนที่อ้างว่าทอท. แม้จะต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายในฐานะผู้ถือหุ้น 28.5 % ในแท็กส์ ซึ่งจะจ่ายเพียง 500 ล้านบาท และเป็นการจ่ายเข้ากระเป๋าตัวเอง ก็ถือว่าทอท.ยังได้กำไรอยู่ มองอย่างนั้นไม่ถูกต้อง อีกทั้งรถเข็นกว่า 6,000 คัน อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของทอท.หรือในสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท.ก็น่าจะร่วมรับผิดชอบในส่วนนั้นด้วย

อยากให้กลับไปทบทวนบทบาทของแท็กส์ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร โดยครั้งแรกที่ก่อตั้งแท็กส์ เป็นเพราะทอท.อยากจะลดสิทธิ์ความผูกขาดทางธุรกิจ ซึ่งเดิมสิทธิ์การบริหารงานในสนามบิน ทั้งการบริการภาคพื้น ฟรีโซน คลังสินค้าต่างๆ เป็นสิทธิ์ของการบินไทย เมื่อตั้งแท็กส์ขึ้นมาร่วมแชร์การบริหารพื้นที่ดังกล่าว ก็สามารถทำงานได้ดี สร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น คือทอท.มาต่อเนื่อง ในเมื่อแท็กส์เป็นลูกที่ดีขนาดนี้จะยังมาฟ้องร้องความเสียหายอีก เป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นในฐานะพ่อไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้มีประโยชน์กับฝ่ายใด จึงมองว่าควรจะเจรจาหาข้อสรุปที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายจะดีกว่า

นอกจากนี้ศักยภาพของแท็กส์ขณะนี้ถือว่ามีความฟิตกว่าเดิม แม้จำนวนพนักงานจะลดลงจากเดิมกว่า 5,000 คน เหลือ 3,061 คน เพราะเหตุผลต้องการลดรายจ่าย ซึ่งเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อบุคลากรที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการทำงาน บางคนควบตำแหน่ง 4 ฝ่าย ถือเป็นการทำงานที่เต็มศักยภาพจริงๆ เชื่อว่าโครงการต่างๆ ที่แท็กส์ดำเนินการอยู่และเตรียมจะดำเนินการต่อจะสามารถเดินหน้าได้ เช่น การเข้าไปบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในโครงการ

แอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนจะได้เข้ามาบริหารรถเข็นอีกหรือไม่ ในส่วนตัวมีความพร้อม เพียงแค่ทอท.จะให้โอกาสอีกหรือไม่เท่านั้น

ทั้งนี้ หากเหตุการณ์ต่างๆ จบลง เชื่อว่าแท็กส์จะต้องดีขึ้นแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook