เปิดแผนแม่บทรถไฟฟ้าใหม่ จำนวน 12 สาย รองรับการจราจรศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะและรามคำแหง

เปิดแผนแม่บทรถไฟฟ้าใหม่ จำนวน 12 สาย รองรับการจราจรศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะและรามคำแหง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เปิดแผนแม่บทรถไฟฟ้าใหม่ จำนวน 12 สาย รองรับการจราจรศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะและรามคำแหง ระยะทาง 487 กิโลเมตร เงินลงทุน 838,250 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 700 ตารางกิโลเมตร สนข.เตรียมชงครม.อนุมัติสิงหาคมนี้ ทุ่ม 400 ล้าน ออกแบบรายละเอียดสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี และสายสีชมพู ปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี รองรับการจราจรศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะและรามคำแหง

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชน ครั้งที่2 โครงการศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครอบคลุมพื้นที่ 700 ตารางกิโลเมตร

โดยข้อสรุปในแผนแม่บทที่ปรับใหม่ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมด 12 สาย จากแผนแม่บทเดิม 7 สาย เวลาดำเนินการ 20 ปี (2553-2572) รวมระยะทาง 487 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 838,250 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.สายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-บางซื่อ-หัวลำโพง-มหาชัย) ระยะทาง 85.3 กิโลเมตร เงินลงทุน 147,750 ล้านบาท เป็นเส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ ตามแนวของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) แนวเส้นทางมีช่วงบางซื่อ-รังสิต-ธรรมศาสตร์ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-บางบอนและช่วงบางบอน-มหาชัย

2.สายสีแดงอ่อน(ศาลายา-ตลิ่งชัน-บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก) ระยะทาง58.5 กิโลเมตร เงินลงทุน 86,340 ล้านบาท เป็นเส้นทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก ตามแนวของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) แนวเส้นทางมีช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงตลิ่งชัน-มักกะสัน

3.สายสีแอร์พอร์ตลิงก์ จากพญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ ระยะทาง28.5 กิโลเมตร เงินลงทน 25,920 ล้านบาท

4.สายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-หมอชิต-สมุทรปราการ-บางปู) ระยะทาง 66.5 กิโลเมตร เงินลงทุน 102,420 ล้านบาท เป็นเส้นทางในแนวเหนือ-ตะวันออก ตามแนวถนนพหลโยธินและสุขุมวิท แนวเส้นทางมีช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ช่วงสะพานใหม่-คูคต-ลำลูกกา ช่วงอ่อนนุช-แบริ่งและแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู

5.สายสเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) ระยะทาง15.5 กิโลเมตร เงินลงทุน 15,130 ล้านบาท เป็นเส้นทางแนวตะวันตก-ใต้ ตามแนวถนนพระราม1 ถนนสาธร แนวเส้นทางมีช่วงสะพานตากสิน-ถนนตากสิน-ถนนตากสิน-บางหว้าและช่วงสนามกีฬา-ยศเส

6.สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค-พุทธมณฑลสาย4) ระยะทาง 55 กิโลเมตร เงินลงทุน 93,100 ล้านบาท เป็นเทางสายวงแหวนและเส้นทางตามแนวถนนเพชรเกษม แนวเส้นทางมีช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแคและช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย4

7.สายสีม่วง(บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะและแคราย-ปากเกร็ด) ระยะทาง 49.8 กิโลเมตร เงินลงทุน 135,880 ล้านบาท เป็นเส้นทางหลักแนวเหนือ-ใต้ แนวเส้นทางมีช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ และช่วงแคราย-ปากเกร็ด

8.สายสีส้ม(บางบำหรุ-มีนบุรี) ระยะทาง 32 กิโลเมตร เงินลงทุน 117,600 ล้านบาท เป็นเส้นทางหลักแนวตะวันออก-ตะวันตก แนวเส้นทางมีช่วงบางบำหรุ-ศูนย์วัฒนธรรม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิและช่วงบางกะปิ-มีนบุรี

9.สายสีชมพู (ปากเกร็ด-มีนบุรี) ระยะทาง29.9 กิโลเมตร เงินลงทุน 31,240 ล้านบาท เป็นเส้นทางรองรับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และการเจริญเติบโตทางด้านเหนือของกรุงเทพน แนวเส้นทางช่วงปากเกร็ด-วงเวียนหลักสี่-วงแหวนรอบนอก-มีนบุรี

10.สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง30.4 กิโลเมตรเงินลงทุน 38,120 ล้านบาท เป็นเส้นทางเพื่อรองรับพื้นที่ย่านลาดพร้าว ศรีนครินทร์และทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ แนวเส้นทางช่วงลาดพร้าว-พัฒนาการ-สำโรง

11.สายสีเทา(วัชรพล-สะพานพระราม9) ระยะทาง 26 กิโลเมตร เงินลงทุน 31,870 ล้านบาท เป็นเส้นทางเพื่อรองรับพื้นที่ย่านสาธุประดิษฐ์และการเจริญเติบโตทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ แนวเส้นทางช่วงวัชรพล-ลาดพร้าว ช่วงลาดพร้าว-พระราม4 และช่วงพระราม4-สะพานพระราม9

12.สายสีดำ(ดินแดง-สาทร) ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร เงินลงทุน 12,880 ล้านบาท เป็นเส้นทางรองรับพื้นที่ย่านดินแดง ย่านมักกะสัน และหน่วยงานในสังกัดกทม.2 แนวเส้นทางช่วงกทม.2-ดินแดง-ศูนย์มักกะสัน-สาทร

นายโสภณกล่าวว่า โดยในการดำเนินการแบ่งเป็น ช่วง 10 ปีแรกตั้งแต่ปี 2553-2562 และ10ปีถัดไปจนถึงปี 2572ให้สนข.ไปจัดลำดับความสำคัญของแต่ละสายทางให้ชัดเจนขึ้นก่อนที่จะเสนอให้ครม.เศรษฐกิจพิจารณา นอกเหนือแนวเส้นทางต้องเร่งรัดในระยะแรก 145 กิโลเมตร 5 สายทาง มีทั้งที่กำลังก่อสร้างและเปิดประมูล จะเปิดให้บริการในปี 2557-2559

ได้แก่ สีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ธรรมศาสตร์ สีม่วงบางซื่อ-บางใหญ่ สีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สายสีเขียวช่วงตากสิน-บางหว้า สายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก

นอกจากนี้ให้เร่งออกแบบรายละเอียดสายสีชมพุและสีส้มพร้อมไปด้วย วงเงิน 400 ล้านบาท โดยโยกงบประมาณจากค่าออกแบบสายสีน้ำเงิน ช่วงวงแหวนด้านใน หลังจากที่บรรจุ 2 สายนี้เข้าไปในแผนแม่บทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะและรามคำแหง

นายโสภณกล่าวอีกว่า สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 ช่วง คือ หมอชิต-สะพานใหม่และแบริ่ง-สมุทรปราการ ในสัปดาห์หน้า จะเชิญม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมาหนคร มาหารือร่วมกันถึวแนวทางการดำเนินงาน หลังกทม.มีแนวคิดจะนำไปก่อสร้างเอง ทั้งที่ครม.มีมติให้รฟม.เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งจะคุยกับกทม.ว่าจะยืนตามมติครม.เดิม คือให้รฟม.ก่อสร้างโครงสร้าง ส่วนการเดินรถให้กทม.เข้ามาร่วมบริหารจัดการด้วย จะให้เอกชนรายไหนมาดำเนินการด้วยก็ได้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะให้รฟม.เปิดประกวดราคาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานทางสนข.ได้ทำโผลสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมฟังสัมนา จำนวน 251 คน

โดย 96.8% เห็นด้วยที่จะมีรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักชองกรุงเทพฯ

เห็นด้วย 82% จะมีโครงข่าย 12 สายทาง

เห็นด้วย 56.6%ที่ให้มีหน่วยงานหลักเพียงหน่วยงานเดียวในการบูรณาการ

มี82.5% เชื่อว่าการลงทุนโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้และเกิดประโยชน์กับประชาชนในวงกว้างและ96% ต้องการให้รัฐบาลก่อสร้างโครงการทั้ง 12 สายทางให้เกิดขึ้นตามแผนแม่บทโดยเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook