ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตัดสินยกฟ้องช่างเฟอร์นิเจอร์ ผู้ต้องหาคดีฆ่าอดีตผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตัดสินยกฟ้องช่างเฟอร์นิเจอร์ ผู้ต้องหาคดีฆ่าอดีตผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กลับคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตของศาลชั้นต้น ยกฟ้อง อับดุลเลาะห์ ปะชี ช่างแกะสลักเฟอร์นิเจอร์ผู้ต้องหาคดีสังหาร รพินทร์ เรือนแก้ว ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีเมื่อปี 47 ชี้พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์มีความน่าสงสัย ด้านอัยการยื่นฎีกาให้ศาลตัดสินอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีให้ยกฟ้อง นายอับดุลเลาะห์ ปะชี อาชีพช่างแกะสลักเฟอร์นิเจอร์ อยู่เลขที่ 57/1 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี จำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่านายรพินทร์ เรือนแก้ว ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551

สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เป็นโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 17 กันยายน 2547 จำเลยกับพวกสมคบกันก่อนการร้ายโดยเป็นสมาชิกของกลุ่มบุคคลไม่ทราบชื่อซึ่งปกปิดวิธีการและมีความมุ่งหมายใช้กำลังประทุษร้าย ฆ่า และลอบฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐและประชาชนเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความกลัวในหมู่ประชาชน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2547 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีก 3 คน ซึ่งหลบหนีไป ร่วมกันใช้อาวุธปืนพกปืนสั้นขนาด .38 ยิงนายรพินทร์ เรือนแก้ว ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี จำหนวนหลายนัด กระสุนเข้าที่บริเวณลำตัวและศีรษะเป็นเหตุให้นายรพินทร์เสียชีวิต โดยพวกจำเลยคบคิดกันวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำและไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมของกลางรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ หมายเลขทะเบียน กนร 877 ปัตตานี หมวกกันน็อก โทรศัพท์มือถือที่ใช้ติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ตายและแจ้งให้พวกจำเลยหลบหนี เหตุเกิดที่บริเวณสี่แยกไฟแดง ถ.โรงเหล้า ต.รูสะมิแล ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83,91,135/1 และ 289

ศาลจังหวัดปัตตานี มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2550 ว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.289 (4) ให้ประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอกชีวิต ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ อ้างว่าขณะถูกจับกุมจำเลยกำลังไปแลกเหรียญเพื่อใช้โทรศัพท์หาเพื่อน โดยเมื่อถูกจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำร้ายร่างกายข่มขู่ให้รับสารภาพ ชั้นสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้อ่านคำให้การให้ฟังและขณะลงลายมือชื่อจำเลยอยู่ในอาการสับสนในภวังค์ รู้สึกปวดศีรษะโดยลงลายมือชื่อตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูเป็นตัวอย่าง

ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายรพินทร์ ผู้ตายถูกคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงหลายนัดจนถึงแก่ความตาย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์มี นางยามีล๊ะ เจ๊ะเล๊าะ เจ้าของร้านขายอาหาร,นายมนตรี ธรรมโชติ ผู้เช่าแผงขายอาหาร และนายวินิจ จันทร์ประดิษฐ์ เจ้าของร้านขายของบริเวณสี่แยกถนนสายโรงเหล้าที่เกิดเหตุ เบิกความทำนองเดียวกันว่าขณะกำลังจัดร้านและล้างจานอยู่ในร้านได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดเมื่อหันออกไปดูเห็นคนร้ายขับรถจักรยานยนต์มา 2 คน ซึ่งหลังยิงปืนได้ขับหลบหนีโดยเห็นโดยเห็นคนเจ็บถูกนำขึ้นรถพยาบาล และเห็นรถยนต์แบบโฟร์วีลและรถกระบะอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่พยานไม่ได้สังเกตหน้าคนร้ายและจดจำไม่ได้เพราะอยู่ในอาการตกใจ เห็นว่าพยานทั้ง 3 ปาก ซึ่งอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุต่างไม่เห็นหน้าคนร้ายที่ร่วมกันยิงผู้ตาย และไม่ได้เบิกความว่าเห็นจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างใดบ้าง

แม้โจทก์มีนางเพ็ญศรี มารดาผู้ตายเบิกความว่าก่อนวันเกิดเหตุเห็นจำเลยมาดูลาดเลาอยู่หน้าบ้านผู้ตายช่วงเช้านานประมาณ 5 วัน ซึ่งวันเกิดเหตุเวลา 07.00 น.พยานเปิดประตูรั้วเพื่อให้ผู้ตายขับรถออกไปส่งบุตรตามปกติ ก็เห็นจำเลยอยู่ที่หน้าบ้านอีกและจำเลยทำเป็นไม่สนใจ แต่นางเพ็ญศรีให้การในชั้นสอบสวนว่า ช่วงเวลา 22.00 น.ก่อนเกิดเหตุ 2-3 วันเห็นชายอายุประมาณ 20 ปี ขี่รถจักรยานยนต์มาสังเกตการณ์ที่หน้าบ้านพัก โดยในวันเกิดเหตุเวลา 07.00 น. ขณะยืนอยู่บนบ้านพยานเห็นจำเลยขี่รถจักรยานยนต์จอดคุยโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างถนน เห็นได้ว่าคำเบิกความของนางเพ็ญศรีล้วนขัดแย้งแตกต่างกับคำให้การชั้นสอบสวนโดยสิ้นเชิงจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้นอกจากนี้หลังจับกุมจำเลยได้ก็ไม่ปรากฏว่า นางเพ็ญศรีได้ไปชี้ตัวจำเลยเพื่อยืนยันว่าเป็นคนร้าย พยานหลักฐานโจทก์จึงขาดความเชื่อมโยงแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรในช่วงก่อนเกิดเหตุและวันเกิดเหตุ

อีกทั้งเจ้าพนักงานตำรวจที่เบิกความเกี่ยวกับการตรวจสอบและเก็บพยานวัตถุเช่น กระสุนปืน หมวกกันน็อก ซึ่งพยานตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าบริเวณที่พบรถจักรยานยนต์และกระสุนปืนไม่พบพยานหลักฐานอื่นอีก โดยวัตถุพยานที่พบ 10 รายการไม่ปรากฏว่าพบหมวกกันน็อกในที่เกิดเหตุ แม้รายงานผลตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมหมวกกันน็อกระบุว่าสารพันธุกรรมที่ได้จากหมวกกันน็อกซึ่งพบอยู่กับรถจักรยานยนต์เป็นของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ยึดและเก็บหมวกกันน็อกไว้เป็นของกลางด้วย ดังนั้นข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์จึงแสดงให้เห็นว่า หมวกกันน็อกไม่ได้พบในที่เกิดเหตุตามที่รอง ผกก.สส.สภ.เมืองปัตตานี เบิกความ แต่พบเพียงรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ ที่จำเลยขับและถูกยึดไปหลังถูกจับกุม และโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตาย มีเพียงคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน รวมถึงบันทึกนำชี้ที่เกิดเหตุพร้อมภาพถ่าย ซึ่งคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายที่ไม่ให้รับฟังได้ตามลำพัง โดยจำเลยก็ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาว่าไม่ได้กระทำผิดและต่อสู้ว่าถูกขู่เข็ญทำร้ายร่างการให้รับสารภาพ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.227 วรรค 2

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ โดยให้คืนรถจักรยานยนต์และโทรศัพท์มือถือของกลางให้จำเลย แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามความผิด ไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook