แทรกแซง

แทรกแซง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ เมืองไทย25น.

แม้ปากบอกว่าไม่แทรกแซง แต่การแสดงความรู้สึกห่วงใยต่อค่าเงินบาทของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็น่าจะทำให้ผู้บริหารแบงก์ชาติหลายคนต้องเกิดอาการสะดุ้ง

เพราะคนพูดมีตำแหน่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรี

เป็นอาการสะดุ้งแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่นายกอร์ปศักดิ์ สภา วสุ รองนายกฯพูดถึงการทำตัวเป็นหน่วยงานอิสระแบบสุดๆ ของแบงก์ชาติว่าจะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาประเทศด้วย

บทบาทของแบงก์ชาติคือดูแลนโยบายการเงินของประเทศผ่านกลไก 2 ตัวคืออัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

อัตราดอกเบี้ยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรง และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของประเทศ

บ่นกันเหลือเกินในหมู่พ่อค้าวาณิชกับเรื่องที่ว่าแบงก์ชาติไม่ยอมเข้าไปดูแลค่าเงินบาทเท่าที่ควร ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าเกินจริงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเดียวกันทำให้ภาคการส่งออกของเรามีปัญหา ไม่สามารถสู้ราคากับคู่แข่งขันอื่นได้

เสียงบ่นเริ่มยกระดับความเข้มข้นมากขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่แต่ในแวดวงสนทนาของหมู่พ่อค้า บัดนี้ได้ลามเลยระบาดถึงทำเนียบรัฐบาลไปเรียบร้อยแล้ว

พูดซ้ำกันอยู่อย่างนี้แหละตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาจนถึงขณะนี้ขณะที่แบงก์ชาติก็ยืนยันว่าได้ดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างดีแล้วโดยคำนึงถึงประโยชน์อย่างเสมอภาคของผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและประชาชนโดยรวมเป็นสำคัญ

ใครถูกใครผิดหรือใครดื้อดึงดันกันอย่าง ไรว่ากันอีกประเด็นหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงของ ประเทศมีว่าวิกฤตเศรษฐกิจเที่ยวนี้ลงลึกเหลือเกิน

เป็นวิกฤตผสมผสานจากปัจจัยภายนอกและภายในสารพัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ความแตกแยกทางการเมืองของคนในประเทศ ฯลฯ

หลับไม่ตื่นฟื้นเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้นั่นคือการ บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ขณะการใช้จ่ายของภาครัฐก็อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการอีกนานกว่าเม็ดเงินจะโผล่ออกสู่ตลาดได้ เหลือแต่ภาคการส่งออกเท่านั้นที่ยังคงทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่

การดูแลภาคการส่งออกจึงเป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่ต้องเข้มสำหรับช่วงนี้

แม้แบงก์ชาติจะบอกว่าได้ดูแลค่าเงินบาทดีอยู่แล้ว แต่ลองเพิ่มเป็นดีมากขึ้นอีกได้ไหม

ความเป็นอิสระขององค์กรอาจจะลดลงบ้างแต่ถ้าแลกกับความอยู่รอดของประเทศก็คุ้มค่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook