"กษิต ย้ำมองบวกจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน

"กษิต ย้ำมองบวกจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า ความรู้สึกที่ได้จากการประชุมทั้งที่ไม่เป็นทางการและการประชุมแบบเต็มคณะ คือ การที่สมาชิกเกิดความรู้สึกร่วมกันถึงการมีกฎบัตรและกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อฝ่าฟันและให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินในกรณีพายุไซโคลนนาร์กีส ซึ่งการมีกฎบัตรอาเซียนและจิตวิญญาณของการทำงานร่วมกันเพื่อเป็นประชาคม โดยมีความรู้สึกร่วมกันคือถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องช่วยเหลือกันและกัน และแก้ปัญหาของเราเองร่วมกับครอบครัวอาเซียน

โดยไม่ต้องขอรับความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากประชาคมโลกว่าเราควรจะทำและไม่ทำอะไร แต่จะต้องพยายามช่วยเหลือตัวเอง เพื่อชะตากรรมของเรา

นายกษิต กล่าวว่า เราออกมาจากห้องประชุมด้วยความรู้สึกเชื่อมั่นในกันและกันว่าจะทำงานร่วมกัน รวมถึงกำหนดทิศทางและเป้าหมาย โดยมีประสบการณ์จากกรณีพายุไซโคลนนาร์กีส และกำลังจะเดินไปถึงขั้นต่อไปเกี่ยวกับกรณีการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของโรฮิงญา

ซึ่งเลขาธิการอาเซียนก็ได้รับมอบหมายให้เก็บข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกรณีนาร์กีสสู่คาบสมุทรอินเดีย และต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่าในการเปลี่ยนผ่านสู่การมีกฎบัตรอาเซียน รวมถึงโรดแมปที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า โดยเราจะทำงานร่วมกันเป็นครอบครัว ซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณของการประชุมครั้งนี้และเป็นจุดเปลี่ยนของความร่วมมือของอาเซียน

ต่อประเด็นที่ว่าอินโดนีเซียผิดหวังกับร่าง TOR องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน นายกษิตชี้แจงว่า อินโดนีเซียเป็นเสาหลักที่สำคัญของความร่วมมือในอาเซียน ซึ่งตนไม่คิดว่าอินโดนีเซียจะผิดหวัง โดยเราได้ให้คำมั่นและยกร่างที่จะเสนอสู่การประชุมสุดยอดเดือนตุลาคม เรารู้สึกเชิงบวกที่จะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันอาเซียนไปข้างหน้าและอินโดนีเซียก็น่าจะยินดีที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้

ด้านนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวเสริมว่า การที่มีความรู้สึกว่าอาเซียนไม่ขยับไปไหน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็เห็นว่าอินโดนีเซียจะเปลี่ยนสิ่งนี้เป็นพลังในเชิงบวก เพื่อจะช่วยขับเคลื่อนอาเซียนสู่ทิศทางที่ถูกต้อง โดยอินโดนีเซียเห็นว่าควรจะมีกลไกป้องกันเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นและให้มีความสมดุลระหว่างกระบวนการส่งเสริม (promote) และป้องกัน (protect)

นายกษิต กล่าวว่า ต้องมองในแง่บวก เราเดินมาไกลแล้วที่จัดตั้งองค์กรนี้ขึ้น และเป็นภาระหน้าที่ของสมาชิกที่จะต้องปฏิบัติตาม ส่วนประเด็นที่ว่าพม่ารับปากจะร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ (UN) แต่เลขาธิการยูเอ็นก็ไม่ได้พบกับนางออง ซาน ซูจี ซึ่งนายกษิต กล่าวว่า แม้เลขาธิการยูเอ็นจะไม่ได้เข้าพบ แต่คณะทูตจากประเทศไทย รัสเซีย และสิงคโปร์ ที่ได้เข้าพบ ซึ่งก็เป็นด้านบวกที่มีอยู่ ตนเชื่อว่าพม่าทราบถึงความต้องการของเพื่อนๆ ในอาเซียนและเข้าใจถึงภาระหน้าที่ของตัวเองที่จะผลักดันอาเซียนไปข้างหน้า หากไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในพม่า อาเซียนก็ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook