ผลประโยชน์ 15.2 ล้านล้าน โครงข่ายรถไฟฟ้า12 สี พลิกโฉมระบบขนส่ง ''กทม.''

ผลประโยชน์ 15.2 ล้านล้าน โครงข่ายรถไฟฟ้า12 สี พลิกโฉมระบบขนส่ง ''กทม.''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โครงการศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อทบทวนโครงการตามแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานคร(กทม.)และพื้นที่ต่อเนื่อง (URMAP) ฉบับแรกตั้งแต่ปี 2537 เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แผนดังกล่าวจึงต้องนำมาปัดฝุ่นทบทวนใหม่อีกครั้ง

ขณะเดียวกันยังต้องมีการทบทวนความเหมาะสมของโครงข่ายการขนส่งมวลชนระบบราง และรูปแบบที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมถึงการศึกษาในด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ซึ่งตามแผนดังกล่าวกำหนดว่าภายในปี 2572 เมืองไทยจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งระบบรวม 486.9 กิโลเมตร 312 สถานี มูลค่าการลงทุน 838,300 ล้านบาท

จึงถือว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่มีบทบาทความสำคัญต่อประเทศอย่างยิ่ง เพราะมีการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตลอดอายุโครงการ พ.ศ. 2557-2591 ที่ให้ผลตอบแทนมากถึง 15.2 ล้านล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการแปลงแผนมาสู่การปฏิบัติ จึงจัดสัมมนารับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของประชาชนครั้งที่ 2 ขึ้น

++12สีลงทุนกว่า8แสนล้าน

ตามแผนแม่บทระยะ 20 ปี (พ.ศ.2553-2572) ระบบขนส่งมวลชนทางรางของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะถูกพลิกโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยโครงข่ายเส้นทางครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 700 ตร.กม. มีประชาชนในเขตพื้นที่ถึง 5.13 ล้านคน จำนวนเส้นทางรถไฟฟ้ารวม 487 กม. ประกอบด้วย

1.สายสีแดงเข้ม ธรรมศาสตร์ -มหาชัย ระยะทาง 85.3 กม. 2. สายสีแดงอ่อน ศาลายา-หัวหมาก 58.5 กม. 3. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ช่วงพญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ 28.5 กม. 4. สายสีเขียวเข้ม ลำลูกกา-สมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 66.5 กม. 5. สายสีเขียวอ่อน ยศเส-บางหว้า 15.5 กม. 6.สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค-พุทธมณฑล ระยะทาง 55 กม. 7. สายสีม่วง บางใหญ่ -ราษฎร์บูรณะ และแคราย-ปากเกร็ด ระยะทาง 49.8 กม.

8.สายสีส้ม บางบำหรุ -มีนบุรี ระยะทาง 32 กม. 9.สายสีชมพู ปากเกร็ด -มีนบุรี ระยะทาง 29.9 กม. 10. สายสีเหลือง ลาดพร้าว - สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. 11.สายสีเทา วัชรพล -สะพานราม 9 ระยะทาง 26 กม. และ12. สายสีดำ ดินแดง -สาทร ระยะทาง 9.5กม. ใช้งบประมาณการลงทุน 838,300 ล้านบาท และรองรับผู้โดยสารเดินทางกว่า 7.7 เที่ยวต่อวัน

++ผลประโยชน์15.2ล้านล้าน

จากการวิเคราะห์ผลประโยชน์ของรถไฟฟ้าทั้ง 12 สีตลอดอายุโครงการ 35 ปี (พ.ศ. 2557-2591) พบว่าจะให้ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจมากถึง 15.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าประหยัดเวลาในการเดินทาง 8.7 ล้านล้านบาท ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ 3 ล้านล้านบาท การประหยัดมูลค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 1.6 ล้านล้านบาท และประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านสิ่งแวดล้อมในการกำจัดมลพิษที่เกิดขึ้น 1.9 ล้านล้านบาท

แต่หากประเมินกรณีดำเนินการก่อสร้างตามแผน 20 ปี โดยไม่รวมผลของมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ในปี 2562 ก็จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม1.06 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2572 จะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 2.53 แสนล้านบาท ในการคิดที่อัตราราคาน้ำมันคงที่ 28 บาทต่อลิตร

++แนะสร้างพร้อมกัน12สี

มุมมองของรศ.มานพ พงศทัต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมดควรดำเนินการไปพร้อมกัน แต่แบ่งสายแต่ละเส้นทางออกเป็นเฟสๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันในทุกเส้นทาง พร้อมกับเสนอให้สร้างเส้นทางสายที่ 13 สายสุวรรณภูมิ-ท่าเรือคลองเตย-สนามบินดอนเมือง เพื่อเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวระหว่าง 2 สนามบิน

ขณะเดียวกันการวางเส้นทางโครงข่ายของเส้นทางรถไฟฟ้า ควรคำนึงถึงการวางผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร ที่อีก 2 ปีข้างหน้าที่จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ด้วย ที่สำคัญการวางระบบขนส่งมวลชนแบบรางจะต้องดำเนินการทั้ง 3 ระบบ คือ บนดิน ลอยฟ้า และใต้ดิน เชื่อมโยงกัน และจะต้องเชื่อมโยงกับ 6 จุดศูนย์กลางความเจริญเติบโตของเมือง ได้แก่ จตุจักร, ศูนย์ราชการ, มักกะสัน, ตากสิน, พระราม 3 และเกาะรัตนโกสินทร์

++ก.คลังหนุนเอกชนร่วมทุน

นายธีรัชย์ อัตนาวานิช ผู้อำนวยการสำนักบริหารการระดมทุนโครงการลงทุนภาครัฐ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เสนอให้เอกชนเข้ามามีบทบาทต่อการลงทุนภาครัฐ โดยในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐอาจจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนเป็นผู้บริหารการจัดการเดินรถ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการสัมปทานอาจจะต้องมองหารูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน เช่น รัฐรับความเสี่ยงทางด้านค่าโดยสารแทนเอกชน หรือ การที่รัฐบาลกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ผู้เดินทางรับได้ หรือการใช้นโยบายตั๋วร่วม เป็นต้น

หากให้เอกชนเข้ามามีส่วนในการลงทุนจะช่วยลดภาระการลงทุนภาครัฐ แม้ว่าจะมีงบประมาณแต่ก็มีข้อจำกัดการใช้ ส่วนการกู้เงินจากต่างประเทศ รัฐบาลก็ต้องบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

++โสภณสั่งเร่งสายชมพู-ส้ม

สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าเร่งด่วน ที่นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คือ สายสีชมพู ช่วงปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 29.9 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะตัดผ่านศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะที่กำลัง

จะเปิดให้บริการในกลางปีหน้า และสีส้ม ช่วงบางบำหรุ-มีนบุรี ระยะทาง 32 กิโลเมตร

ด้วยเหตุของการจราจรที่คับคั่งอย่างหนักของถ.รามคำแหง จึงต้องเร่งรัดให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ปรับปรุงรายละเอียดและเรียงลำดับความ สำคัญทั้ง 12 เส้นทางให้มีความเหมาะสมโดยเร็ว หากได้รับความเห็นชอบ ก็เตรียมให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำงบประมาณที่ใช้ศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายวงแหวนรอบในจำนวน 400 ล้านบาท มาศึกษาทั้ง 2 เส้นทาง

แม้ว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้ง 12 สายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้ามหานครกรุงเทพชนิดหน้ามือเป็นหลังมือจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ แต่มูลค่าการลงทุนที่มหาศาลขนาดนี้ ก็คงต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบที่สุด ที่สำคัญผลกระทบกับผู้โดยสาร อย่างอัตราค่าโดยสารที่ยังไม่ได้กำหนดออกมาว่าจะเก็บในอัตราเท่าไร และอีกสารพันคำถามที่รอคำตอบ ซึ่งผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะรัฐบาลคงต้องให้ความกระจ่าง และสร้างความเข้าใจโดยเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook