สรรพากรรับลูกเว้นภาษีดบ.ฝากไม่ถึง2หมื่น ชี้ผู้ออมแค่ทำหนังสือแจ้งแบงก์เป็นหลักฐาน

สรรพากรรับลูกเว้นภาษีดบ.ฝากไม่ถึง2หมื่น ชี้ผู้ออมแค่ทำหนังสือแจ้งแบงก์เป็นหลักฐาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รมว.คลังเข็นมาตรการยกเว้นภาษีดอกเบี้ย แจงเสนอให้ครม.รับทราบแล้ว แค่กลับมาปรับหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ด้านรองปลัดคลังรับลูกออกประกาศมีผลบังคับใช้ ผู้ที่ได้รับดอกฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีไม่ต้องเสียภาษี ชี้ผู้ออมแค่ทำหนังสือแจ้งธนาคารเป็นหลักฐาน ขณะที่นายกฯสั่งให้กลับไปทบทวนอีกครั้งก่อนนำกลับเข้า ครม. 28 ก.ค.

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง แนวทางการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยสำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีวงเงินต่ำกว่า 1 แสนบาท ว่า ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว (เมื่อ 21 ก.ค.) โดยเรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ในขณะที่กรมสรรพากรสามารถดำเนินการ ออกเป็นประกาศกระทรวงเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้เลย

ด้านนายสาธิต รังคสิริ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพากรได้เสนอแนวทางให้กระทรวงการคลังพิจารณาว่า การดำเนินการดังกล่าวให้ดำเนินการภายใต้กฎหมายเดิม แต่ให้ปรับเปลี่ยนในส่วนของหลักการเงื่อนไขการยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ย โดยระบุให้ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา คือ ผู้ฝากเงินรายใดได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ก็ให้ทำหนังสือรับรองมาแสดงต่อธนาคารเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ส่วนการกำหนดเงินฝากขั้นต่ำที่ 100,000 บาทต่อบัญชีนั้น ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องจาก ผู้ที่จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 20,000 บาทต่อปีนั้น จะต้องมีเงินฝากในบัญชีประมาณ 3-4 ล้านบาท ซึ่งก็อยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก เนื่องจาก ผู้ที่มีเงินฝากในระดับนั้นก็จะฝากในบัญชีเงินฝากประจำมากกว่า

ทั้งนี้ ตามนโยบายของนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการจะช่วยเหลือผู้ฝากเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ซึ่งเป็นกลุ่มคนระดับกลางจนถึงระดับล่างที่มีเงินฝากจำนวนไม่มาก และต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับ ประกอบกับขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ในระดับที่ต่ำมาก คือ 0.50% ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะยกเว้นภาษีเงินฝากออมทรัพย์ของประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยในตอนแรกจะยกเว้นให้บุคคลที่มีเงินฝากไม่เกิน 100,000 บาทต่อ 1 บัญชี

อีกทั้งที่ผ่านมากฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกินปีละ 20,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ที่ผ่านมาในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถทำได้จริงๆ กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์ไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี ก็ต้องถูกหักภาษีเอาไว้ก่อน 15% แล้วค่อยไปขอคืนภาษีในภายหลัง เนื่องจากเป็นเรื่องทางกฎหมายทำให้การคำนวณ 20,000 บาทเป็นการคำนวณต่อบุคคล ไม่ว่าจะมีเงินฝากกี่บัญชี และอยู่ธนาคารใดก็ตาม จะต้องนำมาคำนวณรวมเป็นก้อนเดียวกันและดูว่ามีเงินจำนวนเท่าใด แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ และไม่มีความชัดเจน เพราะไม่มีการสื่อสารข้อมูลร่วมกันในแต่ละธนาคารหรือแม้กระทั่งแต่ละสาขา อย่างไรก็ตาม การหักภาษีดังกล่าวถือว่าเป็นแบบมีเงื่อนไข ดังนั้น หากไม่พบว่ามีเงื่อนไข ก็จะต้องถูกหักภาษีไว้ก่อน

บัญชีเงินฝากในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 6-7 ล้านบัญชี โดยเรื่องดังกล่าวนั้น เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้พระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด เพียงแค่ออกเป็นประกาศของกรมสรรพากรก็สามารถใช้ได้ทันที โดยประชาชนที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวจะอยู่ที่ 3 ล้านบัญชี ส่วนที่เหลือจะเป็นพวกองค์กรต่างๆ ซึ่งจะฝากเงินไว้ไม่เกิน 5 เดือน แล้วก็ปรับเปลี่ยนไปเป็นเงินฝากประจำ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยสำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีวงเงินต่ำกว่า 100,000 บาท โดย ครม.ได้ขอให้กระทรวงการคลังกลับไปศึกษาตัวเลขและรายละเอียดใหม่ที่ชัดเจนอีกครั้ง และนำกลับมาเสนอต่อ ครม.ในสัปดาห์หน้า (28 ก.ค.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook