ผู้เชี่ยวชาญชี้ สู้ COVID-19 ควรใช้ “ระยะห่างทางร่างกาย” ดีกว่า “ระยะห่างทางสังคม”

ผู้เชี่ยวชาญชี้ สู้ COVID-19 ควรใช้ “ระยะห่างทางร่างกาย” ดีกว่า “ระยะห่างทางสังคม”

ผู้เชี่ยวชาญชี้ สู้ COVID-19 ควรใช้ “ระยะห่างทางร่างกาย” ดีกว่า “ระยะห่างทางสังคม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นาทีนี้ คำว่า “การเว้นระยะห่างทางสังคม” หรือ “social distancing” กลายเป็นคำยอดฮิตที่ใช้ทั้งโดยรัฐบาล สื่อ และมีมในโลกออนไลน์ เมื่อต้องกล่าวถึงการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่แดเนียล อัลดริช ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น กลับมองว่าคำนี้อาจจะนำไปสู่การตีความผิด และการใช้อย่างแพร่หลายอาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด จึงเสนอคำว่า “การเว้นระยะห่างทางร่างกาย” หรือ “physical distancing” ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

อัลดริชเสนอว่า ความพยายามในการชะลอการระบาดของไวรัสโคโรนาควรเป็นการสร้างความแข็งแกร่งในสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างระยะห่างทางร่างกาย โดยยกตัวอย่างเด็กวัยรุ่นที่รับหน้าที่ซื้อของให้เพื่อนบ้านที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็น “การเชื่อมโยงทางสังคมพร้อมกับมีระยะห่างทางร่างกาย”

“ความผูกพันทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญมากในการผ่านพ้นภาวะวิกฤตนี้” อัลดริชกล่าว ในฐานะที่เขาเป็นผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงและความยืดหยุ่น เขาได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการที่ชุมชนแสดงความยืดหยุ่นภายใต้สภาวะตื่นตระหนกครั้งใหญ่ เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด โดยมุ่งเน้นที่บทบาทของเครือข่ายและการทำงานร่วมกัน

การศึกษาของอัลดริชชี้ให้เห็นว่า ชุมชนที่สามารถอยู่รอดและฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากเกิดภัยพิบัติ คือชุมชนที่มีเครือข่ายทางสังคมแข็งแกร่ง สามารถแบ่งปันข้อมูลที่ช่วยชีวิตผู้อื่นได้ ส่วนประชาชนและชุมชนที่มีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือชุมชนที่มีประชากรอ่อนแอ มีความผูกพันทางสังคมน้อย ขาดความเชื่อใจกัน และขาดการทำงานร่วมกัน

อัลดริชได้กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการใช้คำว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้กับเพื่อนร่วมงานของเขาและผู้มีอำนาจตัดสินใจ พร้อมระบุว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขและองค์กรอิสระก็กำลังเปลี่ยนการใช้คำตามที่เขาเสนอ และองค์การอนามัยโลกก็เริ่มใช้คำว่า “การเว้นระยะห่างทางร่างกาย” แล้ว

การเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งหมายถึงการสร้างระยะห่างทางร่างกายระหว่างคนแต่ละคน และหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเป็นหมู่คณะ มาจากคำศัพท์ทางสาธารณสุขและระบาดวิทยา อัลดริชระบุว่า เขาคิดว่าความหมายของคำนี้อาจนำไปสู่การตีความผิด เนื่องจากบางคนอาจคิดว่าคำนี้เหมือนการเลิกคบเพื่อน หรือหากเป็นสมาชิกของโบสถ์ ก็ต้องไปสวดภาวนาคนเดียว อย่างไรก็ตาม มาตรการเกี่ยวกับ COVID-19 นั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ในขณะที่คนในสังคมยังต้องมีความเชื่อมโยงกันต่อไป

นอกจากนี้ ประเด็นที่อัลดริชกังวลเป็นพิเศษคือผู้สูงอายุและผู้ป่วย ที่แทบจะไม่เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีในการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้น เขาจึงพยายามกระตุ้นให้คนรอบข้างหันมาใส่ใจคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะโดยการเขียนโน้ต โทรศัพท์ หรือซื้อของใช้มาวางไว้ให้หน้าบ้าน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนการใช้คำ โดยในขณะที่อัลดริชชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาการเชื่อมโยงทางสังคม ลอรี พีค ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดในโบลเดอร์ และผู้อำนวยการศูนย์ภัยพิบัติ กล่าวว่า คำว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมได้หยั่งรากลึกในสังคมไปแล้ว และในสถานการณ์เช่นนี้ควรมีข้อมูลที่ชัดเจนและต่อเนื่องจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้

“อะไรก็ตามที่สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง” พีคกล่าว

โรเบิร์ต โอแชงสกี ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านผังเมือง จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ในเออร์บานา-แชมเปญ มองเห็นความขัดแย้งในคำว่าการเว้นระยะห่างทางสังคม

“ความขัดแย้งกันในคำนี้ก็คือ เรามีการตกลงร่วมกันที่จะอยู่ห่างกัน 6 ฟุต แต่คำนี้มีนัยว่าเราต้องแยกตัวออกจากกัน และอยู่ตัวคนเดียว ซึ่งเราไม่อาจมีชีวิตรอดจากปัญหานี้ได้ และไม่อาจเยียวยาจิตใจด้วยตัวเองได้ด้วยวิธีนี้” โอแชงสกีกล่าว พร้อมระบุว่า ขณะนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเราต้องการระยะห่างทางร่างกาย ไม่ใช่ทางสังคม

“หลายคนคิดว่าเราต้องแยกกันอยู่บ้านใครบ้านมัน แต่ในเครือข่ายออนไลน์ของผม ผมรู้สึกได้ว่าไม่มีใครอยู่คนเดียวเลย พวกเขาแยกกันอยู่แค่ทางร่างกายเท่านั้น”

โอแชงสกีและอัลดริชเห็นตรงกันเกี่ยวกับความสำคัญของเครือข่ายสังคมในการเอาตัวรอดและฟื้นฟูตัวเองจากภัยพิบัติ ในการศึกษาเกี่ยวกับความวิตกกังวลหลังจากภัยพิบัติของญี่ปุ่น อัลดริชพบว่า ปัจจัยใหญ่เพียงหนึ่งเดียวที่มากกว่าความร่ำรวยหรือสุขภาพร่างกาย ที่มีผลต่อระดับความวิตกกังวลของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านคือ เพื่อนบ้านหรือเพื่อนของเขาจะยังพูดคุยกับเขาเหมือนเดิมหรือไม่

“ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหน ไม่ว่าผมจะกังวลแค่ไหน การมีเพื่อนจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น นั่นคือการเยียวยาทางจิตใจที่เราจะได้รับ” เขากล่าว

การเชื่อมโยงทางสังคมไม่ได้มีความจำเป็นเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดเท่านั้น แต่ยังช่วยในการสร้างและฟื้นฟูด้วย โอแชงสกีกล่าวว่า “ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นว่าชุมชนที่มีความร่วมมือและเกื้อหนุนกัน คือชุมชนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการฟื้นฟูตนเองอย่างยั่งยืนจากภัยพิบัติครั้งใหญ่”

ติดตามข่าวสารและสถานการณ์ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook