ค่ายรถสวนกลับบีโอไออีโคคาร์ถูกลงคันละแสนทำยาก เหตุใช้เทคโนโลยีขั้นสูงติดตั้ง

ค่ายรถสวนกลับบีโอไออีโคคาร์ถูกลงคันละแสนทำยาก เหตุใช้เทคโนโลยีขั้นสูงติดตั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากมติที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นชอบให้ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบตามมาตรา 30 แก่กิจการผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) โดยได้รับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนตามมาตรา 30 ซึ่งกำหนดให้วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นต้องไม่มีผลิตในประเทศ แต่มีคุณภาพใกล้เคียงกันและมีปริมาณเพียงพอในอัตราสูงสุด 90% เป็นเวลา 2 ปี โดยจะพิจารณาอนุมัติคราวละ 1 ปี ซึ่งจะทำให้การผลิตรถยนต์อีโคคาร์ มีต้นทุนต่ำลงคันละ 100,000 บาทนั้น ประชาชาติธุรกิจ ได้สอบถามความคืบหน้าและความเป็นไปได้ไปยังค่ายรถยนต์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มองการลดหย่อนมาตรา 30 นั้นน่าจะมีผลทำให้ราคาขายถูกลงเพียงหลักหมื่นเท่านั้น ส่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตฯพยายามชี้แจงว่าจะมีผลทำให้อีโคคาร์ถูกลงถึง 1 แสนบาท น่าจะเป็นการเอาเงื่อนไขเดิมที่คิดภาษีสรรพสามิตหน้าโรงงานจากปกติ 30% มาเป็น 17%

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองผู้จัดการใหญ่ รัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจ ถึงกรณีดังกล่าวว่า ถือเป็นเงื่อนไขเดิมที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการอีโคคาร์ เพียงแต่บอร์ดเพิ่งอนุมัติอย่างเป็นทางการ

ส่วนราคาขายนั้นก็ขึ้นอยู่ว่าแต่ละบริษัทจะมีสัดส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนมากน้อยแค่ไหน อย่างนิสสันเองก็ได้มีการกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 80% และนำเข้าอีก 20% โดยทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่ได้ยืนไว้ตั้งแต่เริ่มต้น

แต่ทั้งนี้บีโอไอควรจะต้องมองภาพให้ออกว่าอีโคคาร์ควรจะมีราคาออกมาเท่าไร เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้มีการนำเสนอรายละเอียดของแผนการผลิต แผนการทำตลาดอย่างชัดเจนไปแล้ว และเชื่อว่าตัวเลขที่จะทำให้ราคาถูกลง 100,000 บาทที่ออกมานั้น น่าจะเป็นตัวเลขที่ภาครัฐได้มีการประเมินโดยรวมมากกว่า และไม่ใช่ว่าทุกค่ายจะต้องลดราคาลงไปตามนั้น

นางเพียงใจกล่าวว่า ข้อจำกัดในข้อกำหนด ทั้งในเรื่องของมาตรฐานยูโร 4 อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน รวมทั้งเทคโนโลยีที่จะต้องนำมาใส่กับรถคันนี้ ถือเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และค่ายรถยนต์รวมทั้งนิสสันเองก็ค่อนข้างหนักใจกับตรงนี้พอสมควร

ในความเป็นจริงแล้วอีโคคาร์ราคาจะไม่ถูกมากนัก เนื่องจากถูกกำหนดให้เป็นรถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ค่ายรถต่างๆ ก็ต้องนำเทคโนโลยีใส่เข้าไป ดังนั้นการที่รัฐมนตรีออกมาบอกว่ารถคันนี้จะมีราคาถูกลง 1 แสนบาท เราเองก็เกรงว่าประชาชนอาจจะเกิดความเข้าใจผิดได้ ตรงนี้คงต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าอีกที นางเพียงใจกล่าว

ส่วนความคืบหน้าของโครงการอีโคคาร์นั้น วันนี้เป็นที่ทราบกันว่ามีค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 6 ราย เท่าที่ทราบขณะนี้ว่าแบรนด์ที่น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเลย น่าจะเป็นนิสสัน ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆ นั้น เชื่อว่าคงจะยังไม่มีใครกล้าออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าจะเลื่อนการผลิตออกไป ซึ่งตรงนี้น่าจะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทแม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ทุกรายต่างก็ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น และในโครงการนี้ก็มีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นเข้าร่วมทั้งหมด 4 ราย และ 1 ใน 4 รายนี้ ที่สามารถยืนยันได้ว่ามีนิสสันอยู่ 1 ค่ายที่มีความพร้อมอย่างแน่นอน

ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของมาตรา 30 นี้ ก็ถือเป็นเงื่อนไขเดิมที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการนี้ เพียงแต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลดภาษีขาเข้าชิ้นส่วนให้อัตราใด

การที่รัฐบาลลดให้สูงสุด 90% นั้นถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ประเภทนี้ลดลงมา แต่จะลดลงมากน้อยเพียงใดนั้น คงจะต้องขึ้นอยู่ว่าแต่ละค่ายมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศแค่ไหน ส่วนโตโยต้าเองนั้นเบื้องต้นคาดว่าจะมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศไม่น้อยกว่า 80-90% เช่นเดียวกับรถรุ่นอื่นๆ

โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการเริ่มต้นโครงการอีโคคาร์ที่ดี เนื่องจากโดยรวมแล้วน่าจะทำให้รถยนต์ประเภทนี้มีราคาลดลงได้ หากแต่จะลดลงมากน้อยแค่ไหน เราคงจะต้องมีการพิจารณาจากปัจจัยข้างต้นอีกที แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะลดลงได้ถึง 1 แสนบาทต่อคัน เนื่องจากชิ้นส่วนอีโคคาร์ของแต่ละค่ายก็คงแตกต่างกัน และเบื้องต้นคาดว่าค่ายนิสสันเป็นหัวหอกในการส่งรถออกสู่ตลาดในปีหน้า ขณะที่โตโยต้าเองนั้นทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนงาน นายศุภรัตน์กล่าว

เช่นเดียวกับบริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่รายงานความคืบหน้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการดำเนินงานของบริษัทแม่ว่าจะมีแผนการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวอย่างไรบ้าง หลังจากที่บริษัทใช้เม็ดเงินในการลงทุนเป็นมูลค่า 9,000 ล้านบาท

หลังจากบริษัทได้มีการประกาศเลื่อนโครงการอีโคคาร์จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2553 นั้น บริษัทได้ตัดสินใจประกาศเลื่อนแผนออกไปเป็นปี 2554 นั้น ส่วนรายละเอียดนั้นอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ และคาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา ว่าจะมีการผลิตรถในโมเดลใด

สำหรับโรงงานนั้น เบื้องต้นได้มีการตกลงกันแล้วว่า จะตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดูแลเรื่องการผลิต การขาย และโรงงานแห่งใหม่นี้นอกจากจะผลิตรถยนต์อีโคคาร์แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ซูซูกิจะใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งรุ่นอื่นๆ ด้วย

อนึ่ง โครงการอีโคคาร์มีค่ายรถยนต์ที่ได้รับอนุมัติ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์อีโคคาร์จากบีโอไอแล้ว 6 บริษัท มูลค่าลงทุนรวม 4-5 หมื่นล้านบาท คือ นิสสัน ฮอนด้า โตโยต้า ทาทา ซูซูกิ และมิตซูบิซิ โดยค่ายรถยนต์ที่มีแผนงานชัดเจนที่สุดคือ ค่ายนิสสัน ซึ่งมีแผนจะผลิตรถดังกล่าวในช่วงต้นปีหน้า โดยขณะนี้เริ่มนำเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเข้ามาแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการอีก 5 รายยังไม่มีความชัดเจนออกมามาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook