“COVID-19” ในเรือนจำไทย เรื่องใหญ่ที่อาจล้นออกมาสู่สังคม

“COVID-19” ในเรือนจำไทย เรื่องใหญ่ที่อาจล้นออกมาสู่สังคม

“COVID-19” ในเรือนจำไทย เรื่องใหญ่ที่อาจล้นออกมาสู่สังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลกในช่วงเวลานี้ รวมถึงรัฐบาลไทยที่ประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ได้แก่ การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การรณรงค์ให้ทุกคนอยู่บ้าน การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน มาตรการเหล่านี้อาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนทั่วไปในสังคม แต่สำหรับคนในเรือนจำที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันอย่างแออัดในพื้นที่จำกัดตลอดเวลา การปฏิบัติตัวตามมาตรการของรัฐบาลคงจะเป็นเรื่องยาก และเมื่อโรค COVID-19 เข้าไปในเรือนจำเมื่อไรก็อาจกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้

ขณะที่สังคมภายนอกกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ซึ่งในครั้งนี้ดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสมากกว่าครั้งก่อนหน้า ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นด้วยอัตราความเร็วที่น่ากังวล ภายในเรือนจำก็กำลังเผชิญปัญหาการระบาดเช่นเดียวกัน และอาจน่ากังวลยิ่งกว่าภายนอก เมื่อบวกกับชื่อเสียงด้านความแออัดและชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก สถานการณ์นี้จึงไม่อาจวางใจได้ เพราะสิ่งที่ล้นออกจากเรือนจำอาจจะเป็นปัญหาที่มากกว่าเชื้อโรค

คุกไทยเมื่อไม่มี COVID-19

ตามรายงานเรื่อง “We are all Human ข้อเสนอเร่งด่วนยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ” ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศไทยมีทั้งสิ้น 377,830 คน โดยแบ่งเป็นชาย 329,835 คน และหญิง 47,995 คน ขัดแย้งกับความสามารถในการรองรับผู้ต้องขังของเรือนจำไทย ที่รองรับผู้ต้องขังได้เพียง 217,000 คนเท่านั้น จึงส่งผลให้เกิดปัญหา “นักโทษล้นคุก” ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับเรือนจำไทยมาอย่างยาวนาน

“prisonstudies.org ทำการสำรวจเมื่อปี 2015 ว่าจริง ๆ แล้วคุกไทยมีศักยภาพพอที่จะรองรับผู้ต้องขังได้แค่สองแสนกว่าคนเท่านั้น ถ้าเกิดว่าคุกมีสามแสนเจ็ด ก็เท่ากับว่าเกินมาเยอะมาก แปลว่าคุกถูกใช้เกินศักยภาพที่มันควรจะเป็นในสถานการณ์ที่นักโทษจะอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี” คุณอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่ของ iLaw ชี้

คุณอานนท์ยกรายงานการศึกษาของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ที่ว่าด้วยเรื่องของสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในประเทศไทย ซึ่งถูกจัดว่าต่ำกว่ามาตรฐาน โดยคณะกรรมการกาชาดสากลได้กำหนดว่าผู้ต้องขังต้องมีพื้นที่ขั้นต่ำ 3.4 ตารางเมตร/คน แต่ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์กำหนดพื้นที่ 1.2 ตารางเมตร/คน สำหรับผู้ต้องขังชาย และ 1.1 ตารางเมตร/คน สำหรับผู้ต้องขังหญิง สิ่งเหล่านี้ช่วยยืนยันสภาพความแออัดของเรือนจำไทยที่ยังไม่ถูกแก้ไข

คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่าปัญหานักโทษล้นคุกที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งยังเป็นนโยบาย “จับคนเข้าคุก” ซึ่งวิธีปฏิบัติดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ปัญหาเรือนจำได้เลย

“การจับคนเข้าคุกในที่นี้หมายถึงการไม่ให้ประกันตัวคดียาเสพติด กระบวนการยุติธรรมหรือทนายช่วยเหลือก็มีน้อย แล้วการจับกุมเกิดขึ้นจากข้อสันนิษฐานว่าถ้ามีของอยู่กับตัวก็เป็นผู้ค้า มันก็เลยทำให้คนติดคุกจากคดีเหล่านี้โดยที่อาจจะไม่ใช่ผู้กระทำความผิดแบบมีส่วนร่วมกับการค้ายาโดยตรง เช่น ผู้ขนยา ผู้ค้ารายย่อย ก็ถูกจับเยอะ” คุณพรเพ็ญกล่าว

เมื่อ COVID-19 เข้าคุก

หนึ่งในมาตรการที่ทั่วโลกใช้เพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คือการหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด ซึ่งนั่นอาจไม่สามารถทำได้ในพื้นที่เรือนจำของไทย และสร้างความกังวลใจให้กับหลายฝ่ายในกรณีที่เชื้อไวรัสโคโรนาเข้าไปในเรือนจำได้ซึ่งจะนำไปสู่การระบาดที่ไม่อาจควบคุมได้

“นักโทษที่อยู่ในคุกจะนอนติด ๆ กันเลย มันจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีน้ำลาย มีน้ำมูกระหว่างที่หลับ หรือการไอจาม มันก็มีความเสี่ยงที่จะติด เนื่องจากห้องมันเป็นห้องปิด ตามข้อมูลในรายงานของ FIDH ในห้องขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พื้นที่ประมาณ 24 ตารางเมตร จะมีคนนอนรวมกันอยู่ประมาณ 40 – 50 คน ดังนั้น มาตรการที่พยายามบอกให้เราอยู่ห่างกัน อาจเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากในเรือนจำ” คุณอานนท์อธิบาย

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ทางกรมราชทัณฑ์ก็ได้ออกมาตรการ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า และกักตัวผู้เข้าใหม่ทุกราย” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำ โดยพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้นได้ระบุว่า 

“คนในห้ามออกก็หมายความว่าผู้ต้องขังที่เคยได้รับโอกาสให้ไปฝึกอาชีพ ฝึกงาน ทำงานในบริเวณนอกเรือนจำ ผมได้ประกาศงด ยกเลิกทั้งหมด จะออกไปเฉพาะเท่าที่จำเป็น เช่น ไปศาลหรือไปรักษาพยาบาลตามอาการซึ่งเป็นเหตุจำเป็นเท่านั้น อันที่สอง คนนอกห้ามเข้า หมายถึงในระยะนี้ เรางดเว้นการให้เยี่ยมญาติ พี่น้องประชาชนที่มีญาติมิตรอยู่ในเรือนจำและทัณฑสถาน ขอให้ใช้ความอดทนสักระยะหนึ่ง เราทำก็เพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูกหลานท่านที่อยู่ภายใน และมาตรการประการที่สามก็คือ ทุกเรือนจำเราสันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนเข้าใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเข้ามาก่อน จะมีการแยกกักโรคอย่างน้อย 14 วัน มีการวัดอุณหภูมิ สัมภาษณ์ สังเกตอาการ”

ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ในการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำไทยเพิ่มสูงขึ้น ทางกรมราชทัณฑ์จึงได้ออกมาตรการเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ โดยประกาศ “งดเยี่ยมญาติ” ทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 พร้อมกับแยกกักโรคผู้ต้องขังเข้าใหม่เป็นเวลา 21 วัน รวมทั้งตรวจหาเชื้อผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายอย่างน้อย 2 ครั้ง และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนต้องตรวจโควิดทุก 14 วัน เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบัน ได้ขอให้ประชาชนและญาติของผู้ต้องขังทุกคนมั่นใจว่ากรมราชทัณฑ์จะสามารถควบคุมและรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้

สิทธิขั้นพื้นฐานของนักโทษ

แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะพยายามป้องกันการติดเชื้อภายในเรือนจำ แต่มาตรการที่ใช้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขัง โดยเฉพาะมาตรการงดเยี่ยม ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ต้องขังในสภาวะของโรคระบาดร้ายแรง ดังเช่นปัญหาการก่อเหตุจลาจลของผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่งในเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ ที่หลายคนเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความเครียดของผู้ต้องขังเนื่องจากการระบาดของโรคและมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น

“ประเด็นหลักเลยก็คือเขาถูกห้ามเยี่ยม หรือการที่ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก การไปเยี่ยมผู้ต้องขังก็ยากขึ้น ทำให้เขาขาดการติดต่อกับคนข้างนอก ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเขากับสังคมข้างนอก แต่สิทธิในการติดต่อกับโลกภายนอกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานนะ เขาควรได้รับการติดต่อจากโลกภายนอก” คุณพรเพ็ญชี้

สอดคล้องกับ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้จัดการโครงการเรือนจำสุขภาวะ ที่แสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรือนจำในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อาจไม่ใช่ที่ตัวโรค แต่เป็นมาตรการห้ามเยี่ยม ที่อาจทำให้ผู้ต้องขังมีอาการเครียด ดังนั้น หากมาตรการที่นำมาใช้มีผลต่อสภาพจิตใจและความรู้สึกของผู้ต้องขังแล้ว ก็ควรได้รับการแก้ไขทันที

“เราไม่รู้เลยว่ามาตรการนี้ส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน อย่างการที่ญาติไม่มาเยี่ยม มันก็ไปสร้างความเครียดสะสม มาตรการที่ตัดการติดต่อญาติก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกที่อาจจะนำเชื้อโรคเข้าไปข้างใน แต่สำหรับนักโทษที่ถูกจำกัดเสรีภาพ สิ่งเดียวที่เขาพอจะมีกำลังใจคือการได้เจอญาติ ได้เจอลูกเมีย ดังนั้น อาจจะต้องหามาตรการอื่น ๆ มาช่วยบรรเทาความเครียดตรงนี้” คุณอานนท์เสริม

ยับยั้ง COVID-19 ก่อนสายเกินไป

เมื่อมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ในเรือนจำ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ต้องขัง การหาแนวทางอื่น ๆ มาบรรเทาความตึงเครียดในเรือนจำก็อาจช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำได้โดยไม่ต้องวิตกกังวล โดยเฉพาะการได้พบปะหรือพูดคุยกับครอบครัวและญาติพี่น้อง ซึ่งคุณพรเพ็ญเสนอว่า เรือนจำควรอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังได้ติดต่อสื่อสารกับครอบครัวด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่พัฒนามากขึ้นในปัจจุบัน และต้องมีการจัดการอย่างรอบคอบ แต่ไม่ใช่ห้ามอย่างเด็ดขาด

ขณะที่มาตรการของเรือนจำมุ่งจะควบคุมผู้ต้องขังไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะติดโรค รศ. ดร. นภาภรณ์ก็แสดงความกังวลในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างโลกในเรือนจำกับโลกภายนอก มีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนาและนำเชื้อเข้าไปในเรือนจำได้เช่นกัน ดังนั้น รศ.ดร.นภาภรณ์จึงเสนอให้เจ้าหน้าที่ได้รับการตรวจเชื้อด้วย ซึ่งสอดคล้องกับคุณอานนท์ที่มองว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานในความเสี่ยงสูง และมีโอกาสจะนำโรคเข้าไปในเรือนจำ หรือนำโรคจากเรือนจำออกสู่สังคมภายนอก

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขข้างต้นไม่ได้ช่วยลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ง่ายและรวดเร็ว หลายภาคส่วนจึงได้เสนอแนวทางการลดความแออัดของเรือนจำด้วยการพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังชั่วคราว ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการนำมาตรการนี้มาใช้บ้างแล้ว

“การปล่อยตัวมีหลายเรื่องให้ต้องคำนึง เช่น ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศหรือเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว ก็อาจจะไม่ปล่อยตัว เพราะมีความเสี่ยงที่จะก่อเหตุอีก แต่ถ้าเป็นคดีลักษณะอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีความรุนแรง เช่น ลักเล็กขโมยน้อย หรือเป็นผู้ใช้ยาเสพติด ก็อาจจะมีมาตรการอื่นมารองรับ เช่น การคุมความประพฤติ” คุณอานนท์อธิบายข้อเสนอการปล่อยตัวผู้ต้องขังชั่วคราว ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณคดี ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัว และผู้ต้องขังสูงวัย ที่ต้องเป็นคนที่มีบ้านหรือมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

การปล่อยตัวผู้ต้องขังเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากในสังคมไทย แต่ในภาวะของโรคระบาดที่เราทุกคนต่างหวาดกลัวและสับสน ผู้ต้องขังก็ไม่ควรเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมหรือไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะผู้ต้องขังในเรือนจำก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ดังนั้น การแก้ไขปัญหาก็ควรทำด้วยความเข้าใจ

“ปัญหา COVID-19 ในเรือนจำไม่ใช่แค่เรื่องของโรคอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาทางสังคม เราจะดูแลจิตใจของเขาอย่างไรให้เขาเข้มแข็งพอที่จะรู้ข้างนอกทำแบบนี้ ข้างในทำแบบนี้ ดังนั้น มาตรการและวิธีการที่เราจะดูแลเรื่องโรคอย่างเดียวคงจะไม่พอ แต่ต้องมีเรื่องของจิตใจเข้ามาด้วย เพราะหลาย ๆ อย่างในสังคมไม่ได้อยู่ด้วยหลักของเหตุผล แต่อยู่ด้วยเรื่องของความรู้สึก” รศ. ดร. นภาภรณ์ ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook