"นพ.ทวี" รับข้องใจ ลุงตายรถไฟเพราะโควิด-19 ชี้ไม่น่าเป็นไปได้

"นพ.ทวี" รับข้องใจ ลุงตายรถไฟเพราะโควิด-19 ชี้ไม่น่าเป็นไปได้

"นพ.ทวี" รับข้องใจ ลุงตายรถไฟเพราะโควิด-19 ชี้ไม่น่าเป็นไปได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายการ  "เรื่องลับมาก (NO CENSOR)" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.10  - 14.50 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (2 เม.ย.) "ดร.เสรี วงษ์มณฑา" เปิดใจสัมภาษณ์ "นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์" ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กรณีสถานการณ์ข่าวโควิด-19 ซึ่งล่าสุดมีข่าวออกมาว่าไวรัสสามารถอยู่ในอากาศได้นานจริงหรือไม่

ตกลงเชื้ออยู่ในอากาศได้นานแค่ไหน?

"เรื่องนี้ถกเถียงกันมาเป็น 10 ปีแล้ว พอมีโรคใหม่ขึ้นมา ก็ถามและตอบตรงๆ ว่ามีทั้งคู่ เพียงแต่ว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันไหนเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่เวลาคนติดเชื้อ เวลาไอจามจะเป็นเม็ดโตๆ อยู่ในระยะ 1-2 เมตร เราอาจหายใจเม็ดเหล่านี้เข้าไป หรือติดตามใบหน้ามือเราขยี้แล้วก็เข้า แต่แอร์บอล ที่ล่องลอยไปในอากาศ 5 เมตร 10 เมตร ถ้าอยู่ในบริเวณที่อับชื้นมากๆ จะเป็นไปได้ ที่สำคัญอยู่ในบริเวณคนไข้อาการหนัก ไอซียู อย่างนี้เรากังวล ในห้องที่หมอกำลังดูแลคนไข้อาการหนัก พวกนี้มีโอกาส เพราะอาการหนักเชื้อจะมาก"

แต่มีข่าวนักร้องประสานเสียง เขารักษาระยะห่างแล้วแต่ยังติด 45 คน เสียชีวิตไป 2 คน คนก็สงสัยว่าการรักษาระยะห่างตกลงมันใช้ได้จริงหรือเปล่า?

"นักร้องเวลาออกเสียง ยิ่งคีย์สูงละอองฝอยจะยิ่งออกมามาก ถามว่ามีโอกาสมั้ยร้องเพลงกัน 3-4 ชม. ไม่มีโอกาสห่างกันใกล้กว่า 2 เมตรหรือ 1 เมตรเหรอ"

แสดงว่าคนทั่วไปรักษาระยะห่างยังป้องกันได้?

"ได้ครับ ล่าสุดวันที่ 30 มี.ค. ทางองค์การอนามัยโลกบอกว่าแอร์บอลหรือแพร่กระจายทางอากาศมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย"

พอมีข่าวแบบนี้ เราควรอยู่ไกลกันสักแค่ไหน?

"คร่าวๆ ก็ 1-2 เมตร ทุกประเทศที่ทำมาถูกต้องแล้ว"

หน้ากากผ้าล่ะ?

"ขอเรียนว่าเพิ่งเมื่อเช้านี้เอง ประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มมาบอกว่าในคนสบายดี ซึ่งยอมรับว่าช่วงแรกฝรั่งเขาไม่ค่อยเชื่อ คนแข็งแรงดีเขาไม่ใส่กัน แต่ล่าสุดทรัมป์บอกว่าถึงเวลาที่อาจต้องใช้กันแล้ว ซึ่งยังมี expert ที่บอกว่าการศึกษาวิจัยว่าช่วยไม่ได้นะ ไม่มีประโยชน์ จะมีโทษซะด้วยซ้ำ ถ้าใส่มือจะจับบ่อย แต่คิดอีกแง่ ถึงมือเปื้อนเชื้ออย่างน้อยก็ไม่เข้าจมูก ไม่เข้าปาก"

เดี๋ยวนี้เป็นโรคจิตกันหมด จะจ่ายค่าทางด่วน ซื้อของ จะบ้าตายกับการจับธนบัตร จับเหรียญ ช่วยได้แค่ไหน?

"ประเด็นที่จะเป็นโรคจิตคือไม่มีจะจับ ถ้ามีจับไม่ต้องกลัว มีจับเยอะๆ ยิ่งดี ถ้าจับก็ไปล้างมือซะ อันนี้จบเลย"

เจอคลิปอันนึง เขาบอกว่าถ้าเป็นหน้ากากอนามัยให้ทิ้งทันที ถ้าเป็นหน้ากากผ้าต้องซักทันทีทุกวัน?

"ถูกต้องครับ"

ให้อาบน้ำทันทีที่ถึงบ้าน?

"ผมเองก็ปฏิบัติอยู่ การสระผมยิ่งช่วยใหญ่เลย มีการศึกษาวิจัยช่วงซาร์สระบาดที่ฮ่องกง มีรพ.สองแห่งทำเหมือนกัน แต่รพ.แห่งนึงเขามีห้องอาบน้ำหลังทำงานเสร็จเข้าอาบน้ำ สระผมเลย แห่งนั้นคนติดเชื่อซาร์สต่ำมากๆ แต่ถ้าไม่อาบน้ำแล้วไปเกลือกลิ้งบนที่นอน อันตราย"

ชายที่เดินทางกลับจากปากีสถาน ผ่านด่านมาโดยตลอด วัดอุณหภูมิก็ได้ 36 แต่ยังเสียชีวิต เกิดจากอะไร?

"โรคโควิด-19 ตอนเริ่มมีอาการ จะมีไข้แค่ครึ่งเดียว แต่ถ้าวันที่ 2 3 โอกาสมีไข้รวมแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ คนนี้ผ่านด่านได้ตลอดเลย หนึ่งเขาอยู่ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีไข้หรือเปล่า สองเขากินยาหรือเปล่า เพราะต้องยอมรับว่าพวกนี้อยากกลับบ้าน ข้อมูลที่เขาสื่อถึงกันอาจกินยาลดไข้เตรียมตัวไว้ก่อน"

ตรงเสียชีวิตบนรถไฟ เหมือนอาการเพิ่งเกิด ทำไมเสียชีวิตได้รวดเร็ว?

"ผมในฐานะทางการแพทย์ ค่อนข้างข้องใจนิดหน่อย ปกติคนไข้โรคโควิด-19 กว่าจะเสียชีวิตต้องใช้เวลา ไม่ใช่ใช้เวลาเป็นชม.หรือนาที ต้องใช้เวลาเป็นวัน ผมก็คิดว่าเรื่องนี้เราต้องมีการสอบสวนลึกกว่านั้นว่าทางการแพทย์มีอย่างนี้มั้ย ทางการแพทย์ต้องยอมรับว่าอะไรก็ตามเป็นไปได้หมด ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นไปได้ยังไง ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากปอดอักเสบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนา รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทางที่ใช้เวลาชม.เดียวแล้วเสียชีวิตเลย เป็นเรื่องที่ทางการแพทย์เราสนใจมาก เราจะต้องไปสอบสวนต่อว่าเกิดอะไรขึ้น หรือแกอาจเสียชีวิตจากอย่างอื่น"

ตอนเราเห็นเขาไปซื้อตั๋วรถไฟ มีอาการไอใส่ผู้ชายคนนึง คนเหล่านี้จะเป็นอะไรยังไง?

"อันนี้ถือว่าสัมผัสใกล้ชิดมาก เพราะหนึ่งตัวผู้ป่วยไม่ได้ใส่เครื่องป้องกัน สองคนทีรับไม่ได้ใส่เครื่องป้องกัน ความเสี่ยงสูงมาก ต้องไปโชว์ตัวเองและแจ้งแพทย์ว่าฉันเป็นตัวเองที่อยู่ในคลิปนั้น คนนี้ควรจะตรวจเลยเป็นอันดับแรก"

น้องคนขายตั๋วรถไฟ?

"ต้องไปด้วย"

คนนั่งโบกี้เดียวกับเขา?

"ต้องดูว่าโบกี้เดียวกันเปิดหน้าต่างโล่งหรือเปล่า ถ้าเปิดหน้าต่างก็ช่วยได้เยอะ เพราะลมพัดแรง คนที่นั่งถ้าเปิดโล่งแล้วใครใส่หน้ากากถือว่าสัมผัสเสี่ยงต่ำ ก็ให้เฝ้าดูตัวเอง จำไว้เลยว่าวันนั้นเราขึ้นโบกี้นั้น ถ้ามีปัญหาให้ไปหาหมอ แต่ถ้าตัวเองไม่ไว้ใจให้ไปคุยกับหมอก่อน ถ้าเผื่อเสี่ยงต่ำไม่ต้องกักตัว มีชีวิตประจำวันได้ แต่ให้รีบกลับบ้านและเฝ้าดูตัวเอง ควรมีปรอทวัดไข้ด้วย ถ้าเจออาการก็ไปพบแพทย์"

คนตรวจตั๋วรถไฟ ควรทำไง?

"อันนี้ก็ถือว่าเสี่ยงต่ำ ตอนนี้ผู้ตรวจตั๋วและตร.ต้องใส่หน้ากากแล้ว พอใส่หน้ากากความเสี่ยงก็ลดลง"

ลูกชายไปร่วมศาสนกิจที่มาเลย์ พอกลับมาลูกยังไม่เป็นอะไร แต่พ่อเสียชีวิตแล้ว เป็นเพราะอะไร?

"อันที่หนึ่งจะเห็นว่าโรคนี้เวลาจู่โจม ติดเท่ากันนะครับ โอกาสเสี่ยงเป็นเท่ากัน แต่พอเสี่ยงตาย คนอายุมาก มีโรคประจำตัว เป็นเบาหวาน พวกนี้จะเสี่ยงตายแล้ว พ่อเขาอายุ 70 ก็เป็นเหตุผลหนึ่งเลย"

คนติดแล้วไม่เป็นอะไร มีสิทธิ์แพร่เชื้อ?

"ตอนนี้ข้อมูลจากยุโรปและจีนออกมามากเรื่อยๆ คนที่เป็นโดยไม่มีอาการ เขาสบายดี ไม่ต้องไปหาหมอ ไม่ต้องกินยาซะด้วยซ้ำ 25 เปอร์เซ็นต์ เริ่มเจอแล้ว นี่คือกลุ่มที่กลัวที่สุดเลยเพราะเขายังสบายดี นั่งทำงานได้"

ถ้าเราอยู่ใกล้กลุ่มนี้ โอกาสที่เราจะติด เสี่ยงแค่ไหน?

"คนเป็นโรคโควิด-19 ไม่มีอาการ โอกาสแพร่เชื้อจะน้อยกว่าคนเป็นแต่มีอาการ ยิ่งปอดบวมยิ่งแพร่เชื้อมาก คนแพร่เชื้อมากก็มักจะอยู่ในรพ. เชื้อไม่ได้ผ่านการสัมผัสแต่จะผ่านละออง ไอ จามหรือพูด เพราะคนแข็งแรงดี เขาไม่ต้องไอจามก็ได้ แต่เขามีเชื้ออยู่สามารถออกมาจากการพูดได้ เป็นเม็ดโตๆ นะ สิ่งที่ควรปฏิบัติคือเว้นระยะห่าง สองใส่หน้ากาก สามล้างมือ นี่เป็นมาตรการสำคัญ ถ้าไม่จำเป็นอย่าเข้าไปในระยะ 1-2 เมตรกับคนที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร"

ทำไมในอิตาลี สเปน อเมริกา เขาถึงได้รุนแรง เขาพลาดตรงไหน?

"ถ้าเรามองดูเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 เราจะเห็นสองกลุ่ม เอเชียจุดเริ่มต้นคือจีน กลุ่มเอเชียแถวบ้านเราขึ้นมาหลักพัน สูงสุดหลักหมื่นต้นๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นยุโรปหลักหลายหมื่น คำถามนี้น่าสนใจ ทำไมถึงแตกต่างกันมาก ผมพอวิเคราะห์ออกได้สองสามอย่าง หนึ่งคือภูมิอากาศ เขาเย็นกว่าเรา ตอนนี้เขายังเย็นอยู่นะ นิวยอร์กคนยังใส่เสื้อหนาวอยู่เลย บ้านเรายิ่งแถบอาเซียนร้อนตลอด ญี่ปุ่นยังหนาวอยู่เขาก็มีเคสอยู่พอสมควร แต่เกาหลีมีลักษณะพิเศษอย่างนึง คือเขาตรวจทุกอย่าง ตรวจทุกคน ใครสงสัยไปตรวจได้เลย เขาถึงเจอบ่อย เจอเยอะ ถามว่าดีมั้ย ดี แต่เราทำไหวมั้ย ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังคุยถึงมาตรการนี้อยู่ เราตรวจเพิ่มขึ้นดีไหม เพิ่มมากดีมั้ย เพิ่มมากก็ดี เพราะเราจะจับคน 25 เปอร์เซ็นต์ออกมา ถึงแม้จะแพร่เชื้อต่ำแต่ก็แพร่ได้ แต่ถามว่าเราทำไหวมั้ย ต้องเรียนให้ทราบว่าประเทศไทยเรามีแพทย์ต่อประชากรคนไทย 6 ต่อหมื่นนะ ถ้าเกาหลี 71 ต่อประชากรหมื่นคน นี่แค่คนนะ ยังไม่รวมเครื่องมือ ทรัพยากรเงินต่างๆ ตอนนี้เขาทำเทคโนโลยีเยอะมาก เขาทำจนตรวจได้รวดเร็วดีมากจนตอนนี้กำลังจะไปขายอเมริกา อเมริกาขอซื้อเพราะเขามีเทคโนโลยีค่อนข้างสูง เราต้องยอมรับ องค์ความรู้เขาก็สูง สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด ทางเอเชียเราใส่หน้ากากมานานมาก ก่อนมีโรคระบาดด้วย ถามว่ามีประโยชน์มั้ยตอนนี้เริ่มเห็นความแตกต่างแล้ว ตอนนี้ยุโรปบางประเทศที่เขาติดกันเยอะๆ เขาก็ยังไม่ใส่นะ"

มาตรการที่เรามี ถึงเวลายาแรงหรือยัง?

"ผมว่าบางแห่งต้องแรงขึ้น ไม่จำเป็นต้องแรงทั้งประเทศ เราแรงเป็นจุดได้ ตอนนี้บางที่เขายังไม่มี เช่น ลำปางกับน่าน เขาไม่มี แต่บางที่พุ่งกระฉูดมากเช่นภูเก็ต เขาก็จำเป็นต้องใช้ยาแรง ผู้ป่วยในภูเก็ตมีทั้งคนไทยและฝรั่ง ก็น่าจะต้องใช้ยาแรง ไม่อยากให้ติดนิสัยยุโรปมาใช้ มาตรการปิดทุกอย่างไม่ให้รวมตัวกันเป็นสิ่งที่ควรทำ"

หลายประเทศเริ่มมีการจับ ปรับ ขัง คนไม่ใส่หน้ากากหรือยืนใกล้กัน ถึงเวลาประเทศไทยทำแบบนี้มั้ย?

"จริงๆ ผมในฐานะการแพทย์อยากให้สำนึก ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีมากเปลี่ยนนิสัยคนไทยให้รู้จักสำนึก เห็นแก่ส่วนรวม เหมือนญี่ปุ่นเขาเห็นแก่ส่วนรวมมาก เขาทำตามผู้นำเขาบอก ถ้าใครดื้อด้านมากๆ คงต้องเอา ใครป่วยก็ไปหาหมอจัดการซะ ถ้าท่านคิดว่าแข็งแรงดี อย่าไปรับเชื้อเพิ่ม อย่าไปอยู่ในที่แออัดยัดเยียด ผับบาร์ต้องเลิกแล้ว"

ในภาวะพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะต้องไม่มีข้อโต้แย้ง?

"เราไม่อยากใช้มาตรการทางกฎหมาย เราบอกตรงๆ หมอเราไม่ใช่อย่างนั้น ร่วมมือกันซะมันจะได้ปลอดภัย ตอนนี้เหมือนหลังเต่าที่กำลังขึ้น ต้องพยายามดึงให้มันลง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook