สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เผย ไทยพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงสำเร็จ เอื้อประโยชน์ภาคอุตสาหกรรมอาหาร

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เผย ไทยพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงสำเร็จ เอื้อประโยชน์ภาคอุตสาหกรรมอาหาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เผย ไทยพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงสำเร็จแล้ว เอื้อประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมอาหาร ลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างชาติ ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล หัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศ เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมไทยว่า ล่าสุดนักวิจัยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูงได้สำเร็จแล้ว โดยสามารถนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการบรรจุหีบห่ออาหาร การผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องมีการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์สุญญากาศ รวมถึงพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติในการซ่อมแซมระบบอยู่ ดังนั้น จึงต้องการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้เทคโนโลยีสุญญากาศของไทยที่มีความก้าวหน้าไม่แพ้ประเทศชั้นนำทั่วโลก เนื่องจากนักวิจัยด้านสุญญากาศไทยมีขีดความสามารถสูง สามารถผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ได้ โดยมีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ และสามารถตรวจสอบรอยรั่วในระบบสุญญากาศได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยในอนาคตสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีแนวโน้มจะก่อตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อเป็นที่ปรึกษา และถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีสุญญากาศให้กับบริษัทเอกชนที่สนใจทั้งระบบ ทั้งกระบวนการผลิตชิ้นส่วนและการป้องกันการใช้เทคโนโลยีสุญญากาศ เพื่อจำหน่ายให้กับบริษัทภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ด้าน นายบุญรักษ์ ถาวรรุ่งโรจน์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท องค์การเภสัชกรรม จำกัด กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมได้ใช้เทคโนโลยีสุญญากาศ ในเครื่องทำวัคซีนเหลวให้เป็นผง (Freeze Dryer) เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หัด หัดเยอรมัน และ คางทูม ซึ่งที่ผ่านมาหากเกิดปัญหากับระบบสุญญากาศของเครื่องดังกล่าว จำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาแก้ไข แต่ปัจจุบัน นักวิจัยไทย มีความสามารถในการตรวจสอบได้เอง นับเป็นการลดการพึ่งพาต่างชาติได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook