สัญญาณการฟื้นตัว

สัญญาณการฟื้นตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว ถึงภาวะเศรษฐกิจว่า เริ่มเห็นแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้มแข็งและเติบโตขึ้น ส่วนของประเทศไทย จากการตรวจสอบภาวะเศรษฐกิจ เปรียบเทียบเดือนต่อเดือนเคยติดลบอย่างต่อเนื่อง แต่ในเดือนมิถุนายนเทียบกับเดือนพฤษภาคม พบว่า เศรษฐกิจเริ่มเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นดัชนีการบริโภค การลงทุน การส่งออก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชัดขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการจ้างงานทำให้ปัญหาการว่างงานลดลง และเชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในแดนบวกได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี

คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้ราวหกเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นจนไม่อาจสรุปได้ว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความสามารถโดยตรงของรัฐบาล แต่ปัจจัยหนึ่งของปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ที่ความเชื่อมั่น การที่นายอภิสิทธิ์เข้ารับหน้าที่ในขณะที่บ้านเมืองเผชิญวิกฤติทางการเมือง โดยที่ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจให้ความเชื่อมั่น ก็ช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น ขณะเดียวกันทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นแรงเสริมอีกทาง ดังจะเห็นได้ว่าการส่งออกมีอัตราการติดลบน้อยลง คำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับมา โรงงานที่เคยเลิกจ้างก็ตามคนงานมาทำงานอีกครั้ง

ในช่วงต้น รัฐบาลเผชิญปัญหาต่อต้าน มีการชุมนุม ใช้ความรุนแรงในเดือนเมษายน กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อชาวโลก แต่ก็จัดการควบคุมสถานการณ์ให้ผ่านไปได้ ทั้งสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศเพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ โดยการออกกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ซึ่งได้ผลดีระดับหนึ่ง แต่ในจังหวะเดียวกันไทยและอีกหลายประเทศก็เผชิญการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ ห่วงว่าจะเป็นความเสี่ยงที่ท้าทายต่อการรักษาเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้

ข้อมูลของหลายหน่วยงานที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ คงพอยอมรับได้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจโลกและของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลหรือภาคธุรกิจเอกชนรวมประชาชนทั้งหลายจะประมาทได้ไม่ เพราะเนื้อแท้ความขัดแย้งทางการเมืองยังมีอยู่และอาจรอจังหวะเพื่อสร้างความยุ่งยากครั้งใหม่ ในขณะที่การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าควบคุมได้หรือไม่ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องใส่ใจ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องระวังอีกประการ อยู่ที่คณะรัฐมนตรีว่ามีความสมานสามัคคี และระวังตั้งมั่นอยู่บนความสุจริตได้แท้จริงขนาดไหน การมุ่งหวังอนาคตที่เศรษฐกิจจะกลับมาแดนบวกได้ ต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ได้ด้วย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook