ศาสตราจารย์

ศาสตราจารย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คำว่า ศาสตราจารย์ อ่านได้ ๒ แบบ คือ สาด-ตฺรา-จาน และ สาด-สะ-ตฺรา-จาน มาจากคำว่า ศาสตร์ ที่หมายถึง วิชาความรู้ สมาสกับคำว่า อาจารย์ ที่หมายถึง ผู้สอน

ศาสตราจารย์ (professor) เป็นตำแหน่งทางวิชาการชั้นสูงสุดของบุคคลซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัย ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน มาจากการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย และเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ให้ความเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งแตกต่าง จากตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (assistant professor) และ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (associate professor) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยสภาสถาบัน เกณฑ์การแต่งตั้งตำแหน่งศาสตจารย์นั้น จะพิจารณาจากคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ผลการสอนและความเชี่ยวชาญในการสอน ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพในระดับดีมากหรือดีเด่น รวมทั้งจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ

ตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ตามคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย นอกจากตำแหน่งศาสตรา จารย์ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งตำแหน่ง คือ ศาสตราจารย์พิเศษ เป็นตำแหน่งที่ให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย อาจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทางวิชาการสูงและเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยมานานหรือผู้เคยดำรงตำแหน่ง หรืออาจเป็นรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยที่เกษียณอายุราชการและเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัย โดยคุณสมบัติของศาสตราจารย์พิเศษะเป็นไปตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย

นอกจากตำแหน่ง ศาสตราจารย์ และ ศาสตรา จารย์พิเศษ แล้ว ยังมีตำแหน่งศาสตราจารย์อีกหลายประเภทที่มีชื่อน่าสนใจ เช่น ศาสตราจารย์คลินิก (clinical professor) ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ (dis-tinguished professor) ศาสตราจารย์กิตติคุณ, ศาสตรา จารย์เกียรติคุณ (emeritus professor) ซึ่งหากผู้อ่านคนใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหนังสือพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ อักษร A-L ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.

พรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook