กอร์ปศักดิ์ขอข้อมูลบีบชุมชนพอเพียงซื้อสินค้าแพง บอกตู้น้ำโซลาร์ประหยัดค่าไฟ กัลยารับราคาสูงมาก

กอร์ปศักดิ์ขอข้อมูลบีบชุมชนพอเพียงซื้อสินค้าแพง บอกตู้น้ำโซลาร์ประหยัดค่าไฟ กัลยารับราคาสูงมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กอร์ปศักดิ์ขอข้อมูลนักการเมือง-ขรก.บีบชุมชนซื้อสินค้าแพงเกินจริง อย่าพูดแค่ลอยๆ บอกตู้น้ำโซลาร์เซลล์ดีระยะยาว ประหยัดต้นทุนค่าไฟ บิ๊ก สวทช.เผยดูสเปคแล้วแพงเกินจริง รมต.วิทย์บอกราคาสูงมาก นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียงในบางชุมชนซึ่งประสบปัญหาไม่โปร่งใสในหลายเรื่องว่า ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ จะแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องสินค้าที่บริษัทเอกชนนำมาจำหน่ายให้ชุมชุนต่างๆ มีราคาแพงเกินความจริง โดยเฉพาะการเพิ่มระบบโซลาร์เซลเข้าไปด้วยนั้น เรื่องนี้คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องทุจริตเพียงอย่างเดียว ต้องมองถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับในระยะยาวด้วย เพราะพลังงานโซลาร์เซล เป็นพลังงานอนาคตที่น่าสนใจ และไม่นานประเทศไทยต้องก้าวไปถึงจุดนี้ หากชุมชนต้องการทำธุรกิจ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุนด้วย เช่น ถ้าจะทำธุรกิจขายน้ำ ต้องมีต้นทุนเรื่องค่าไฟ ซึ่งระบบโซลาร์เซลจะเข้ามาช่วยได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินงานเกิดปัญหาขึ้น คณะกรรมการคงจะต้องหารือกันว่า จะเดินหน้าต่อ หรือปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่

ส่วนที่มีการระบุข้อมูลว่า ในขั้นตอนการจัดซื้อสินค้าของชุมชน มีคนบางกลุ่ม ทั้งนักการเมืองและข้าราชการเข้าไปกำหนดให้ชุมชุนซื้อสินค้าจากบริษัทเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้หากใครมีข้อมูล ถ้ารู้ตัว รู้ชื่อชัดเจน ขอให้ส่งข้อมูลให้ผมได้เลย ไม่อยากให้พูดกันเฉยๆ รู้แล้วจะเอาตำรวจไปจับทันที เพราะการทำแบบนี้ มันเป็นเรื่องทุจริต ปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะคนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเอาเงินไปทำโครงการอะไร จะต้องเป็นคนในชุมชนเอง

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของสำนักงานชุมชนพอเพียงมี 10 กว่าคน แต่มีโครงการต้องพิจารณามากกว่า 80,000 โครงการ จากจำนวนชุมชนเป้าหมายทั่วประเทศ 80,000 ชุมชน ยอมรับว่าคงไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง หากคนในชุมชนเข้ามาช่วยกันตรวจสอบ ใครพบเห็นความผิดปกติ ขอให้แจ้งข้อมูลเข้ามาได้ทันที อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้แก้อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งแล้วคือลดสัดส่วนการทำประชาคมของคนในชุมชนเพื่อเสนอโครงการจากเดิมที่กำหนดไว้ 70% ปรับเหลือเป็น 50% แต่แค่นี้ก็เห็นว่าในทางปฏิบัติยังทำได้ยาก เพราะชาวบ้านไม่มีเวลาประชุมกัน อย่างในเขต กทม. มีชุมชน 1,900 แห่ง แต่ยื่นเรื่องเสนอโครงการได้เพียงแค่ 200 กว่าแห่ง จึงต้องเข้าไปดูว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ส่วนกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พบการล็อคสเปคจัดซื้อปุ๋ยชีวภาพในโครงการเอสเอ็มแอลของรัฐบาลชุดที่แล้ว และมีผู้ได้รับผลประโยชน์มากกว่า 1,000 ล้านบาทนั้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้มาบ้างเหมือนกัน ขอเวลา 2-3 วันไปดูรายละเอียด แต่เท่าที่ทราบข้อมูลน่าจะส่อไปในลักษณะนั้น

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ กล่าวว่า การเปิดเผยเรื่องล็อคสเปคจัดซื้อปุ๋ยของรัฐบาลชุดก่อน ไม่ใช่การแก้เกี้ยวหรือพยายามกลบข่าวความไม่โปร่งใสโครงการชุมชนพอเพียงแต่อย่างใด เพียงแต่พรรคเพิ่งได้รับข้อมูลมาในช่วงนี้ ขณะนี้รวบรวมข้อมูลได้กว่า 80% แล้ว ลักษณะคือเริ่มจากส่งคนเข้าไปกำหนดให้ชุมชนเลือกสินค้าที่เตรียมไว้แล้ว จากนั้นให้ชาวบ้านเซ็นซื้อปุ๋ยชีวภาพ เห็นได้จากเอกสารมีรูปแบบคล้ายกัน ปุ๋ยที่นำไปขายราคากิโลกรัมละ 600 บาท สูงกว่าราคาตลาดขณะนั้นที่กิโลกรัมละ 300 บาทถึงเท่าตัว มีคล้ายๆกันอยู่ 13 จังหวัด มีรายชื่อชุมชน จังหวัด และบริษัทที่เกี่ยวข้องชัดเจน พร้อมจะยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเร็วๆ นี้

นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชุมชนพอเพียง (สพช.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากปรากฏข่าวความไม่ชอบมาพากลต่างๆ รวมทั้งเรื่องร้องเรียน ขณะ สพช.ไม่เร่งอนุมัติเพื่อที่จะได้ตรวจข้อมูลให้ครบถ้วน แต่การทำช้าอาจทำให้ชาวบ้านอีกกลุ่มไม่พอใจ ออกมากดดัน แต่ก็รีบไม่ได้

ยอมรับว่าทำโครงการนี้ เราบอกว่าให้ชาวบ้านเอาปัญญามาแลกเงินรัฐ ปรากฏว่า ทำไปทำมาขณะนี้เงินมันเริ่มวิ่งแซงปัญญา แต่เราก็ต้องช่วยชาวบ้าน เพราะว่าชาวบ้านทำดีก็มีเยอะแยะ ถ้าเปรียบเป็นไอติม รับรองถึงชาวบ้านเกินครึ่งแท่งแน่นอน และโครงการนี้จะเป็นครั้งแรกที่เกินครึ่งแท่งนายสุมิทกล่าว

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ในโครงการชุมชนพอเพียง มีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับราคาตู้น้ำที่จำหน่ายทั่วไปนั้น นายกอบศักดิ์ ศรีประภา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า หากนำตู้น้ำโซลาเซลล์ไปใช้ในพื้นที่ห่างไกลจริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ถือว่ามีประโยชน์ แต่จากการพิจารณารายละเอียดสเปคของสินค้าที่ขายให้ชุมชนพอเพียงที่ระบุว่า แผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ขนาด 130 วัตต์ จำนวน 2 แผง จำหน่ายราคาแผงละ 21,500 บาท รวมทั้งสิ้น 43,000 บาทโดยไม่รวมอุปกรณ์อื่นๆ จำพวกแบตเตอรี่ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ฯลฯ ถือว่าราคาสูง เนื่องจากตามท้องตลาดทั่วไปแผงโซลาร์เซลล์อยู่ที่ราคาไม่เกิน 200 บาทต่อวัตต์ และหากรวมอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งค่าอุปกรณ์อื่นๆ แล้วมีราคาไม่เกินแผงละ 40,000 บาทต่อ 130 วัตต์อยู่ดี

เรื่องนี้ต้องพิจารณาสเปคสินค้าให้ดีๆ เพราะจริงๆ แล้วแม้แผงโซลาร์เซลล์จะมีราคาสูง แต่ก็ไม่สูงมากเกินไป หากภาครัฐต้องการทราบข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางโซลาร์เทคพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะการใช้พลังงานทดแทน ถือเป็นเรื่องดี แต่ควรมีข้อมูลที่ชัดเจนด้วย ผู้อำนวยการโซลาร์เทค กล่าว

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า หากพิจารณาดีๆ เกรงว่าตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์จะซ้ำรอยโครงการเดิมที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เคยดำเนินการ คือเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามชนบทต่างๆ เท่าที่ทราบถูกทิ้งร้าง ขาดคนดูแล โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ เรื่องพวกนี้ต้องศึกษาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งความคุ้มทุน เพราะเท่าที่พิจารณาสินค้าที่จะขายให้ชุมชนพอเพียงยังไม่เห็นรายละเอียดของสเปคอย่างชัดเจน แต่เบื้องต้นราคาสูงจริงๆ หากรัฐบาลต้องการข้อมูลทางวิชาการ วท.พร้อมส่งทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญไปศึกษาเรื่องนี้ทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook