กรรมในพระพุทธศาสนา

กรรมในพระพุทธศาสนา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กรรม หมายถึงการกระทำ, การงาน, กิจ, ที่เป็นการ ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม แต่ความเข้าใจของคนส่วนหนึ่ง ถ่ายทอดกันมาว่าเป็นการกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต รวมถึงบาป, เคราะห์ ทั้งยังหมายถึงความตาย ทำให้คนที่ตกอยู่ในความทุกข์ที่เชื่อว่าเป็นเพราะผลกรรมพยายามหาเหตุ หรือยอมจัดการตามที่เจ้าพิธีแนะนำ ให้ตัดกรรม แก้กรรม ด้วยการบริกรรม หรือใช้เครื่องมือบางอย่างเช่นของมีคมแสดงถึงการบั่นทอนกรรมนั้นให้ขาดกับตา ซึ่งอาจทำให้ผู้ตกอยู่ในความทุกข์รู้สึกผ่อนคลายลงบ้าง

การจัดพิธีกรรมตามความเชื่อดังกล่าวมักอ้างความ เกี่ยวโยงกับพุทธศาสนา แต่เมื่อนำหลักธรรมที่พระผู้ปฏิบัติชอบสอนสั่งไว้ก็ไม่ปรากฏว่าสอดคล้องกับแนวทางพุทธธรรมแต่อย่างใด อาทิ พระธรรมโกษาจารย์ หรือ พุทธทาสภิกขุ เคยแสดงธรรมไว้ว่า พุทธศาสนาเรามีเรื่องกรรม สอนเป็นพิเศษ ให้เชื่อเรื่องกรรม ซึ่งมันค่อนข้างจะเป็นวิทยาศาสตร์ คือให้มองที่นี่และเดี๋ยวนี้ มองเห็นการกระทำและเหตุของการกระทำ และ ผลของการกระทำ แล้วก็ปฏิบัติให้ถูก หรือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เขียนบทความ ตัดกรรมตามแนวพุทธ ตอนหนึ่งว่า การตัด กรรมอย่างนี้จะช่วยอะไรได้ ....เป็นการสร้างกรรมมากกว่าการตัดกรรม ส่วนผู้รับทำพิธีทั้งหลายก็ได้ชื่อว่า ทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ในพระไตรปิฎก มีพระพุทธพจน์ยืนยันเรื่องคนที่พยายามหนีกรรม แต่สุดท้ายก็ไม่อาจหนีพ้น จำต้องยอมจำนนต่ออำนาจของกฎแห่งกรรมอยู่หลายแห่ง

การตัดกรรมในพิธีที่มีผู้จัด จึงน่าจะให้ประโยชน์เพียงชั่วครู่ต่อความรู้สึกในจิตใจของคนที่อยู่ในกองทุกข์ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญญาใดๆ ทั้งไม่ใช่แนวทางแห่งพุทธศาสนาจึงน่าสงสัยว่าการจัดในวัดจะสมควรหรือไม่ จะพบว่าระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการจัดงานวัด วาง หลักว่า งานชุมนุมซึ่งจัดขึ้นในบริเวณวัดได้ ต้องเป็นงานเกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลทางพระพุทธศาสนา การส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชน การส่งเสริมการศึกษา การส่งเสริมศีลธรรม การส่งเสริมกิจการทางราชการ และการบำเพ็ญศาสนกิจของบรรพชิตและคฤหัสถ์เท่านั้น

ผู้ห่วงใยในพุทธศาสนาเรียกร้องผ่านสื่ออยู่เสมอด้วยกังวลต่อการกระทำบางอย่าง ที่สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักการศาสนา ทั้งที่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไว้ปฏิบัติภารกิจเพื่อสนองงานคณะสงฆ์และรัฐโดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา อุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแล รักษา จัดการศาสนสมบัติ แต่การปฏิบัติที่ผิดแปลกหลักการสำคัญก็ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี ในยามที่คนกำลังสนใจให้ความสำคัญกับพิธีกรรมที่ผิดจากแนวพระพุทธศาสนา ก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้ชี้แจงให้เกิดความกระจ่างเพื่อรู้จักเลือกทางที่ถูกเสียบ้าง.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook